inskru
gift-close

เปลี่ยนนิเทศการสอนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน

0
0
ภาพประกอบไอเดีย เปลี่ยนนิเทศการสอนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน

บ่อยครั้งนิเทศการสอนมักถูกมองเห็นในภาพของการมาตรวจสอบจากผู้มีอำนาจที่สูงกว่า ทำให้ใครหลายคนทั้งในฐานะครูหรือนักศึกษาฝึกสอน มักจะมีความกังวล และกลัวว่าการการสอนของตัวเองจะออกมาดีไม่พอตามมาตรฐานบางอย่างอยู่เสมอๆ การนิเทศจึงมาพร้อมกับความรู้สึกกลัวที่จะผิดพลาด กลัวจะถูกตัดสินไปในทางลบ นั่นทำให้หลายคนเลือกที่จะสร้างบทเรียนฉบับพิเศษขึ้นมาในวันนิเทศ (ให้ต่างไปจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในทุกวัน) บางห้องเรียนก็มีการซักซ้อมนักเรียนมาก่อนหน้าวันจริง ทั้งหมดก็เพื่อให้ผู้มานิเทศที่มาตรวจสอบเห็นว่าห้องเรียนเราดีหรือเป็นไปตามมาตรฐาน     

หากไปดูคำนิยามในเว็บไซต์ด้านการศึกษาต่างๆ พบว่า จริงๆแล้วนิเทศการสอนคือกระบวนการเข้าไปให้คำแนะนำ เพื่อทำให้การสอนได้ปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น โดยผู้นิเทศที่มานิเทศต้องมีคุณสมัติอย่างการมีทักษะการสอนที่ดี และมีความรู้เข้าใจหลักวิชาการเป็นอย่างดี ในมีกระบวนการจะมีตั้งจุดประสงค์ที่จะนิเทศ การตรวจเยี่ยม และพัฒนาแก้ไข แต่ความเป็นจริง หลายคนอาจพบว่า ผู้มานิเทศ ก็เป็นเพียงผู้ได้รับการตั้งแต่หรือมอบหมายให้เข้ามาเช็คหรือเขียนสรุปตามแบบฟอร์มของโรงเรียนที่กำหนดไว้ หรือจัดทำเอกสารส่งรายงานไปยังฝ่ายที่ดูแล นั่นก็ทำให้ บ่อยครั้งการนิเทศการสอน กลับไม่ได้มีความหมาย กลายเป็นเป็นเพียงพิธีการหนึ่งในระบบโรงเรียนที่ต้องทำให้จบไปเป็นครั้งคราว หากมีความสำคัญอยู่บ้าง ก็เป็นเพียงไว้การประเมินผลงาน 

ครูพล-อรรถพล ประภาสโนบลมาชวนคุณครูลองดูไปพร้อมกัน ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราลองเปลี่ยนการนิเทศให้เป็นพื้นที่เปิดของการเรียนรู้ระหว่างกัน ที่ไม่ต้องมีใครมีอำนาจเหนือกว่าใครมาตรวจสอบอีกฝ่าย แล้วจบลงดังเช่นเคย แต่เป็นการเปิดห้องเรียนของกันและกัน ที่แต่ละคนต่างเข้าไปไปเรียนรู้ระหว่างกัน ผ่านการ สังเกต พูดคุย หรือสะท้อนคิดออกมา ด้วยความเชื่อที่ว่า การสอนของเราสามารถได้เติบโตขึ้น พัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม มาจากการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูด้วยกัน

  สังเกตในสิงที่ไม่คุ้นชินคุ้นเคย 

ในบางครั้ง ห้องเรียนของเราอาจคุ้นเคยกับการทำบางสิ่งอยู่เป็นประจำ จนลืมหรือไม่ได้ทันสังเกตเห็นบางอย่าง การมีเพื่อนครูคนหนึ่งเข้ามาสังเกต ก็อาจทำให้สิ่งที่เราเคยมองข้ามไป ได้ถูกให้ความสำคัญ เช่น เรามักจะใช้คำถามลักษณะหนึ่งในการถามนักเรียนเสมอๆ ซึ่งในมุมของเราอาจรู้สึกว่าคำถามไม่ได้ซับซ้อน แต่เพื่อนครูต่างวิชาที่เข้ามา อาจสังเกตเห็นว่า คำถามนั้น ทำให้เด็กบางคนมีท่าทีสับสน หรือบางครั้งเรามักจะเพ่งความสนใจไปที่เด็กกลุ่มใดคนใดเป็นพิเศษ (แต่เราไม่รู้ตัว และคิดไปเองว่า เราให้ความสนใจเท่าๆกัน) การมีเพื่อนครู เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห้องเรียนของเรา ก็อาจสะท้อนบอกกับเราว่า เราอาจกำลังปฏิบัติกับนักเรียนแตกต่างกัน ในทางกลับกันห้องเรียนของเราก็อาจเป็นพื้นที่ ที่พาให้เพื่อนครูที่เข้ามา เห็นสิ่งที่ต่างไปจากความคุ้นเคยได้เช่นกัน เช่น เรามักจะมีการให้กำลังใจนักเรียน เมื่อมีการตอบคำถาม การที่เขาได้มาเห็นอาจทำให้เขามองเห็นว่า ที่ผ่านมา เขามักจะเพียงใช้คะแนนเป็นแรงจูงใจอยู่เป็นประจำ ทั้งที่จริงการพูดให้กำลังใจก็เป็นอีกสิ่งที่ทำได้เช่นกัน 

 ทำความเข้าใจจากมุมมองอื่น 

มีบางครั้งที่นักเรียนบางคนอาจมีปัญหาบางอย่าง ที่เราพยายายามแก้ปัญหาแต่แก้ไขไม่ได้ การมีเพื่อนครูเข้าไปในระหว่างที่เราสอน ในฐานะมุมมองที่สาม อาจช่วยให้แง่มุมหรือข้อสังเกตกับเราได้ เช่น เขาอาจแลกเปลี่ยนกับเราว่า เขาสังเกตเห็นเด็กแสดงพฤติกรรมต่างกัน ในคาบของเรา เด็กคนนี้เป็นคนที่เงียบมาก และไม่กล้าแลกเปลี่ยน แต่ขณะในคาบของเขา(เพื่อนเรา) เขามักจะชอบแสดงความคิดเห็น ตรงนี้เองที่เราอาจได้เข้าใจว่า นักเรียนไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกคาบเรียน พร้อมกับๆการที่เราจะได้เรียนรู้จากเพื่อนครูถึงวิธีการที่ต่างไปจากเดิม เช่นเดียวกันเพื่อนครูที่ไปสังเกต ก็อาจได้สังเกตห้องเรียนตัวเองใหม่เช่นกัน ว่าจริงๆแล้วนักเรียนของเรานั้น เขาเป็นอย่างไรในคาบอื่นๆ พูดแบบสรุปๆ การมีเพื่อนครูเข้ามาในห้องเรียน ก็อาจทำให้เราได้ทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นประสบการณ์ จากมุมมองที่ต่างออกไป ที่เขาคนนนั้นอาจมีข้อมูล มีประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนให้เราได้ทบทวนและหาวิธีการอื่นที่จะมาแก้ไขปัญหานั้น  

ต่อยอดไอเดียการสอน 

แน่นอนว่า จะมีสักวันที่เราไม่รู้จะสอนนักเรียนอย่างไรในบางเรื่องหรือในบางบทเรียน พูดง่ายๆ มันตันในหัว มันคิดไม่ออก การขอเข้าไปห้องเรียนของเพื่อน ก็เป็นอีกทางที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้  ลองนึกดู เรากำลังจะสอนเรื่อง กฎหมาย แต่เรารู้สึกว่า มันยากมากที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจ  แต่เมื่อเราได้เข้าไปสังเกตเพื่อนครูที่กำลังสอนในวิชาเดียวกัน ในเรื่องคล้ายๆกัน ที่เขาอาจใช้บทบาทจำลอง การดีเบต ก็อาจทำให้เรามีไอเดียไปต่อยอดการสอนของเรา มากไปกว่านั้น การข้ามวิชา ก็อาจช่วยให้เรามีแง่มุมการสอนที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ครูเอ เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ ที่สอนเกี่ยวกับกำเนิดโลก แต่เมื่อได้มาห้องเรียนของครู บี ซึ่งเป็นครูสังคม ที่กำลังสอนเรื่องกำเนิดโลกจากมุมมองศาสนาและความเชื่อ ท้ายสุดทั้งครู เอและบี ก็อาจเห็นไอเดียที่จะไปต่อยอดในการสอนเรื่องนี้จากมุมมองที่กว้างขึ้น หรืออาจจัดทำข้ามบรูณาการร่วมกัน ดังนั้นมันจึงไม่ใช่แค่การได้แลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างกัน แต่อาจทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการสอนแบบอื่นขึ้นมาอีกด้วย 

ทั้งสามข้อนี้เป็นความเป็นไปได้ ที่เมื่อเรายกคำว่า นิเทศ ออกไป แล้วใส่คำว่า การเรียนรู้ระหว่างกันเข้ามาแทน ที่เราจะยินยินดีกับการเชิญชวนให้คนอื่นมาเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ และยินดีที่จะเป็นคนที่เข้าไปเรียนรู้ในห้องเรียนของคนอื่นเช่นกัน ผ่านห้องเรียนที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน สิ่งนี้มันจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตามที่แต่ละคนจะยินดี และไม่จำเป็นต้องเป็นครูในกลุ่มสาระเดียวกันเสมอไป และท้ายที่สุดเมื่อจบคาบนั้นๆ เราต่างยินดีที่จะสนทนา บอกเล่า ให้ข้อสังเกต และสะท้อนความคิด ความรู้สึกระหว่างกัน เพื่อทำให้ห้องเรียนดีขึ้นกว่าวันวาน  

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการพูดคุยระหว่างกัน 

บางทีก็เขินๆ บางทีก็เกร็งๆ ไม่รู้จะแลกเปลี่ยนอย่างไรดี เรามีตัวอย่างคำถามคร่าวๆเพื่อเป็นแนวทางในการพูดคุย ซึ่งเราได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก เป็นการทบทวนสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ช่วงที่สอง เป็นการลองคิดต่อ ต่อยอด เพื่อให้เห็นแง่มุมที่ต่างออกไป ช่วงสุดท้าย คือการตกตะกอนร่วมกันว่า การที่ได้แลกเปลี่ยนไปในช่วงแรกและสอง แต่ละคนได้เรียนรู้อะไร มีความหมายกับเราอย่างไรบ้าง 

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น 

  • เราสังเกตเห็น….......... 
  • เรารู้สึก………………. 
  • เราประทับใจ…………. 
  • เรามีข้อสังเกต…………
  • คาบนี้ทำให้เรานึกถึง….

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการต่อเติม ต่อยอด  

  • เราอยากเข้าใจว่า…………………………….. 
  • เราอยากจะเพิ่มเติมว่า……………………....... 
  • เราคิดว่า……………….อาจมองจากแง่มุม……………..ได้ 
  • ทำไม………………………….ถึงเป็นเช่นนั้น / นี่อาจเป็นเพราะ……….. 
  • จะเป็นไปได้ไหม ถ้า…………………………... 
  • เราเคยเห็นไอเดียจากครูใน inskru ครูปล่อยของ เขาคิด/ทำ เรื่อง……………ด้วยการ………………   

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการตกตะกอน 

  • สิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน เราทั้งคู่ได้เรียนรู้…………………… 
  • จากการที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ทำให้เรารู้สึก………………
  • การเปลี่ยนระหว่างกัน ทำให้ฉันได้เรียนรู้……………......... 
  • เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า………………………........……....... 
  • หลังจากเรามาดูห้องเรียนนี้  เราอยากจะ……………......... 
  • ครั้งถัดไป เราอยากจะ……………………………............. 

 

การวัดและการประเมินผลเทคนิคการสอนGrowthMindset

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

0
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ