สวัสดีครับ ครูธันนะครับ วันนี้ผมมาแชร์ไอเดียในการใช้การจัดการเรียนรู้ Game-Based Learning (GBL) ที่ประยุกต์ใช้การดำเนินเรื่องมาจากการ์ตูนเรื่องดังที่นักเรียนชื่นชอบ นั่นคือ ดาบพิฆาตอสูร นั่นเอง โดย“เกมนักล่าอสูรพิชิตความสัมพันธ์ในธรรมชาติ” เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นสื่อ ครูจะต้องเป็นผู้ดำเนินเนื้อเรื่อง และอธิบายถึงจุดประสงค์ทั้งหมดของหน่วยการเรียนรู้ และนักเรียนเป็นผู้ดำเนินเกมหรือเป็นตัวละครในการเรียนรู้ปราณแต่ละกระบวนท่าที่เปรียบเสมือนกับเนื้อหาของหน่วยการเรียนรู้ เพื่อไปกำจัดอสูรเมื่อเรียนครบทุกกระบวนท่า ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เรื่องหลัก คือ การปรับโครงสร้างและลักษณะของสิ่งชีวิต (ปราณเขี้ยวที่ 1 เปิดประสาทสัมผัสการปรับตัว) ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต (ปราณเขี้ยวที่ 2 คมเขี้ยวความสัมพันธ์) และโซ่อาหารและสายใยอาหาร (ปราณเขี้ยวที่ 3 โซ่อาหารบุกทะลวง) โดยระหว่างการเรียนรู้แต่ละปราณนั้น ครูใช้สื่อการสอนนี้ ประกอบกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ตามหน่วยความสัมพันธ์ในธรรมชาติ เพื่อเป็นการให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นผู้คอยชี้แนะและดำเนินเรื่องหรือนำอภิปรายเนื้อหาที่ถูกต้องร่วมกันกับนักเรียน
ถ้าหากต้องการดูสื่อเป็นภาพเคลื่อนไหวด้วย ลิงก์นี้เลยครับ canva.com/design/DAFmExR4TgU/nlKGcvGPUEw0Mf10lS-D9g/view?utm_content=DAFmExR4TgU&utm_campaign=designshare&utm_medium=link&utm_source=publishsharelink
ในคาบเรียนแรกครูจะต้องอธิบายจุดประสงค์การเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้และอธิบายถึงกระบวนการในการเล่นเกมทีละขั้นตอน โดยในสื่อจะมีตัวละครดำเนินเรื่อง
คือ เจ้าหมูป่าอิโนะสึเกะ คุณครูสามารถให้นักเรียนเป็นผู้พากษ์ได้ครับ
ในเรื่องแรกที่เรียนนั่นคือ การปรับโครงสร้างและลักษณะของสิ่งมีชีวิต (ปราณเขี้ยวที่ 1 เปิดประสามสัมผัสการปรับตัว)
ผมได้ใช้เกมซ่อนหาในการให้นักเรียนเป็นผู้หาสิ่งที่ถูกซ่อนไว้นั่นคือ การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตแต่ละประเภท แล้วนำมาอภิปรายร่วมกัน จากนั้นสรุปด้วยการเล่นมอญซ่อนผ้า หากนักเรียนคนใดที่ถูกเพื่อนวางผ้าไว้แล้ว วิ่งไปแปะไม่ทัน จะต้องมาจับฉลากรูปภาพสิ่งมีชีวิต เพื่ออธิบายการปรับตัวของสิ่งชีวิตประเภทนั้น
สำหรับในเรื่องที่ 2 ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต (ปราณเขี้ยวที่ 2 คมเขี้ยวความสัมพันธ์)
ผมใช้สื่อบัตรภาพในการนำเข้าสู่บทเรียนให้เด็กๆ ได้แยกประเภทตามความเข้าใจ แล้วดำเนินการสอนโดยใช้สื่อการสอนนี้ประกอบ จากนั้นสรุปการเรียนรู้ด้วยการเล่นเกมเศรษฐีความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต
สำหรับเนื้อหาสุดท้าย ในเรื่องโซ่อาหารและสายใยอาหาร (ปราณเขี้ยวที่ 3 โซ่อาหารบุกทะลวง)
มุ่งเน้นให้นักเรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโซ่อาหารเป็นกระบวนการกลุ่ม พร้อมสรุปด้วยการนำเสนอ อภิปรายร่วมกัน
จากนั้นอภิปรายร่วมกันถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยกิจกรรมรักษ์ป่าน่านที่ทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมอยู่แล้ว และขั้นตอนสุดท้ายคือการประเมินผลการเรียนรู้ โดยใช้ Plicker
ผมตั้งเกณฑ์ในการกำจัดอสูรไว้ว่า นักเรียนทั้งหมด 15 คน อย่างน้อยร้อยละ 80 (12คนขึ้นไป) จะต้องมีผลการเรียนรู้ผ่านร้อยละ 60 คือได้ 12 คะแนนขึ้นไป
จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นี้ ได้รับ feedback ค่อนข้างดี นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น มีการติดตามเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง หมั่นทบทวนบทเรียน และที่สำคัญได้เห็นความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือเพื่อนที่เรียนรู้ช้าให้สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับทุกคนได้ เป็นภาพที่น่ารักมากครับ สุดท้ายแล้วเด็กๆ ทุกคนสอบผ่านร้อยละ 60 สามารถกำจัดอสูรบึงได้แล้ว เย้! (มีในคลิปนะครับ ^^)
ขอบคุณครับ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!