"ขอให้นักกีฬาเปตอง มาพร้อมกันที่สนามด้วยค่ะ"
เสียงตามสายประกาศให้นักกีฬาเปตองตัวแทนคณะสีไปคัดตัวที่สนาม ดึงความสนใจของนักเรียนชั้น ม.6 แผนการเรียนกีฬา ที่อยากจะไปเชียร์และเป็นกำลังใจให้เพื่อน
"ขอไปเชียร์เพื่อนได้ไหมครู" นักเรียนหญิงคนหนึ่งในห้องส่งเสียงอ้อนวอน พร้อมสายตาที่คาดหวัง
ส่วนในหัวของครูตอนนี้คือ เอาไงดี ห้องนี้เป็นห้องที่เรียนช้ากว่าเพื่อน
อาทิตย์ที่แล้วพึ่งเรียนเรื่องความถี่จบไป ทั้งที่ควรจะได้เนื้อหาของความถี่สะสมด้วย
'แต่ถ้าให้เรียนตอนนี้ จิตใจไม่อยู่กับครูแน่'
"ก็ได้" เมื่อครูเอ่ยปากอนุญาตนักเรียน เสียงตอบรับ เฮทั้งห้อง ก็ดังอย่างไม่ได้นัดหมาย
"แต่... เราจะต้องจดคะแนนของสีเรามาด้วยนะ ทุกครั้ง ทุกตาที่เพื่อนทำคะแนนได้"
ในตอนที่ครูให้นักเรียนจดบันทึกนี้ ยังไม่ได้คิดอะไรนอกจากคิดว่า เก็บไว้ก่อนก็ดี เพื่อเอามาใช้ในคาบต่อ ๆ ไปได้
จากนั้นทั้งครูและนักเรียนก็ไปเชียร์กีฬากันที่สนามเปตอง
ซึ่งการไปเชียร์ในครั้งนี้ เป็นอะไรที่เปิดโลกของครูมาก เพราะ ครูเล่นเปตองไม่เป็น นับคะแนนไม่เป็น
แต่นักเรียนของเรา เก่งมาก ที่สามารถอธิบายให้ครูเข้าใจได้
นักเรียนอธิบายว่า แต่ละฝ่ายจะมีลูกเหล็ก 3 ลูก ซึ่งจะต้องโยนลูกเหล็กให้ใกล้ ลูกแก่น ซึ่งเป็นลูกบอลเล็ก ๆ ที่สุด
และจะนับคะแนนจากลูกเหล็กที่ใกล้แก่นที่สุด
เช่น ผลการโยนเป็นแบบนี้
-แก่น
-ลูกเหล็กฝ่ายสีฟ้า
-ลูกเหล็กฝ่ายสีเหลือง
-ลูกเหล็กฝ่ายสีฟ้า
-ลูกเหล็กฝ่ายสีฟ้า
-ลูกเหล็กฝ่ายสีเหลือง
-ลูกเหล็กฝ่ายสีเหลือง
แบบนี้ สีฟ้าจะได้ 1 คะแนน
หรือ
-แก่น
-ลูกเหล็กฝ่ายสีฟ้า
-ลูกเหล็กฝ่ายสีฟ้า
-ลูกเหล็กฝ่ายสีเหลือง
-ลูกเหล็กฝ่ายสีเหลือง
-ลูกเหล็กฝ่ายสีฟ้า
-ลูกเหล็กฝ่ายสีเหลือง
แบบนี้สีฟ้าจะได้ 2 คะแนน
เล่นไปแบบนี้ทุกรอบจนกว่าฝ่ายใดจะได้ 15 คะแนนก่อน
ซึ่งครูถึงกับ ร้องอ๋อ ขึ้นมาในหัว
เพราะนี่คือ ตัวอย่างชั้นดีของการใช้สอนเรื่องความถี่สะสมสำหรับนักเรียนแผนการเรียนกีฬาเลย
ซึ่งก็เป็นดังคาด
เพราะในคาบต่อมา เราใช้คะแนนที่นักเรียนจดบันทึกมา เชื่อมโยงกับเรื่องความถี่สะสม
ทำให้นักเรียนได้เห็นการใช้งาน เห็นการสะสมของคะแนน
และเห็นว่า คณิตศาสตร์ที่เรียนในห้อง สามารถไปแฝงอยู่ในกีฬาที่เค้าเล่นอยู่ได้
และคาบนั้นก็เป็นอีกคาบ เรารู้สึกว่า วันนี้สนุกจัง ที่ได้สอนนักเรียน
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย