inskru
gift-close

5 Steps Educational Board Game Design

5
4
ภาพประกอบไอเดีย 5 Steps Educational Board Game Design

5 Steps Educational Board Game Design; บันได 5 ขั้นของการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา

5 Steps เป็นแนวทางในการออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ ที่เน้นความเชื่อมโยงของการออกแบบบอร์ดเกมและการออกแบบการเรียนรู้เข้าไว้ด้วยกัน โดยแบ่งขั้นตอนในการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ไว้ 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. การออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design) การกำหนดและออกแบบ กระบวนการจัดการเรียนรู้ทั้งกระบวนการ ดังนี้

1.1 โดยมีการตั้งจุดประสงค์ทางการเรียนรู้ ตามแนวคิดทฤษฎีทางการศึกษา สามารถกำหนดได้จากพฤติกรรมการเรียนรู้ หรือจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมของผู้เรียน โดยยึดแนวคิดทางการศึกษาของบลูม ได้แก่ พุทธพิสัย(Cognitive Domain) ทักษะพิสัย(Psychomotor Domain) และจิตพิสัย (Afflictive Domain)

1.2 การออกแบบกระบวนการเรียนรู้เริ่มตั้งแต่การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ การคัดเลือกเนื้อหา ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ และการออกแบบการวัดและประเมินผล การออกแบบขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการใช้บอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ สามารถประยุกต์เข้ากับขั้นตอนการสอนแบบปกติ หรือ อาจใช้เทคนิคการสอนแบบใช้เกมของนักวิชาการและนักการศึกษาได้ทั่วไป จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการจัดการเรียนรู้โดยใช้บอร์ดเกมในชั้นเรียน พบว่า ขั้นตอนการสอนที่เหมาะสมในการใช้เกม ใน 1 คาบเรียน (60 นาที) ควรมี 4 ขั้นตอน ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้บอร์ดเกม ได้แก่

1) ขั้นนำเข้าเกม นำเข้าสู่สถานการณ์ของเกมโดยอาจใช้การอ่านสถานการณ์ การตั้งคำถาม และการใช้สื่ออื่น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกอยากเรียนรู้ (5 นาที)

2) ขั้นทำความเข้าใจกติกา อ่านและทำความเข้าใจกติกาการเล่นของเกม โดยอาจใช้วิดีทัศน์สอนการเล่นบอร์ดเกม การอ่านจากคู่มือเกม ให้เข้าใจในวิธีการเล่นมากขึ้น (5 นาที)

3) ขั้นเล่นบอร์ดเกม เล่นบอร์ดเกมตามกติกาการเล่น โดยทดลองเล่นก่อน 1 รอบแล้วเล่นจริง รูปแบบและลักษณะการเล่นขึ้นอยู่กับกติกาของเกมนั้น ๆ

4) ขั้นสรุปและถอดบทเรียน การสรุปการเรียนรู้สามารถใช้เทคนิคการสรุปบทเรียนได้อย่างหลากหลาย เช่น การถอดบทเรียน การสอบถาม การสนทนา การทำสอบ และวิธีการอื่น ๆ

2. การออกแบบเกม (Game Design) การกำหนดธีมหรือโครงสร้างของเกม และการออกแบบระบบเกม ดังนี้

2.1 การกำหนดธีมของเกมหรือโครงสร้างของเกม โครงสร้างของบอร์ดเกมเกมแบ่งตามรูปแบบของบอร์ดเกม ยึดแนวคิดของ Geoffrey Engelstein และ Isaac Shalev โดยผู้ออกแบบควรเลือกโครงสร้างเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบ ดังนี้

2.1.1 โครงสร้างแบบการแข่งขันที่มีผู้ชนะเพียงคนเดียว (Competitive Game) เกมสำหรับผู้เล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีผู้ชนะเพียงคนเดียว โดยโครงสร้างเกมลักษณะเช่นนี้ เป็นโครงสร้างของเกมโดยทั่วไปที่เน้นกระบวนการแข่งขันเพื่อหาผู้ชนะในเกม ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น acquire, Candyland, Chess

         2.1.2 โครงสร้างเกมแบบช่วยเหลือกัน (Cooperative Game) เกมที่ผู้เล่นมีการประสานกันตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ตามเงื่อนไข ซึ่งจะได้รับผลจากเกม คือ การแพ้หรือชนะร่วมกัน โดยเน้นการเล่นที่ช่วยเหลือกัน เพื่อแข่งขันกับระบบของเกม มีการชนะร่วมกันและแพ้ร่วมกัน ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น Pandamic, orleans

         2.1.3 โครงสร้างเกมแบบเล่นเป็นทีม (Team-Based Game) เป็นเกมที่มีผู้เล่นเป็นทีม ซึ่งทีมของผู้เล่นนั้นจะมีการแข่งขันกับผู้อื่นร่วมกัน เพื่อให้ได้รับชัยชนะ โดยการจับคู่การแข่งขันสามารถมีหลายรูปแบบ รวมทั้งการจับทีมผู้เล่นที่มีสัดส่วนของจำนวนผู้เล่นเท่ากัน เช่น 2 ต่อ 2 และ 3 ต่อ 3 เป็นต้น หรืออาจจะเป็นรูปแบบอื่น ๆ เช่น 2 ต่อ 2 ต่อ 2 และ 1 ต่อ ทั้งหมดก็ได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น Dune, War of the ring

         2.1.4 โครงสร้างเกมแบบเล่นเดี่ยว (Solo Game) เกมสำหรับเล่นคนเดียว เป็นโหมดเกมที่มีไว้สำหรับผู้เล่นเพียงคนเดียว แข่งขันกับระบบของเกม ผู้เล่นต้องทำการเอาชนะเกมด้วยตนเอง ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น Ambush, Flash point

         2.1.5 โครงสร้างเกมแบบกึ่งแข่งขันกัน (Semi-Cooperative Game) เกมที่มีจุดจบของเกมแบบไม่มีผู้ชนะหรือผู้เล่นทุกคนชนะด้วยกันเป็นกลุ่ม แต่ถ้ามีผู้เล่นเพียงคนเดียวก็นับว่ามีผู้ชนะในเกมเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกัน เน้นการการแข่งขันระหว่างผู้เล่นเพื่อการชนะเกม และระหว่างการแข่งขันนั้น กลไกของระบบเกมสามารถมีส่วนในการปรับสถานการณ์ของเกมได้ ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น the omaga virus, kingsburg

         2.1.6 โครงสร้างเกมแบบหาผู้แพ้ (Single Loser Game) เกมที่มีผู้เล่นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยเมื่อจบเกมแล้วจะมีผู้แพ้ในเกมเพียงคนเดียวเท่านั้น เน้นการหาผู้แพ้ในเกม หรือผู้ที่มีคะแนนน้อยที่สุดในเกม ซึ่งอาจเหลือเป็นคนสุดท้ายของการเล่นในเกมนั้น ๆ ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น cockroach, rhino hero

         2.1.7 โครงสร้างเกมแบบหากบฎ (Traitor Game) เป็นเกมที่สามารถอาจมองได้ว่าเป็นเกมประเภททีม หรือเกมที่มีการร่วมมือกันของแต่ละผู้เล่นเพื่อสร้างกลไกการหลอก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ที่รับบทบาทลอกผู้อื่นจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากมีเงื่อนไขที่สามารถชักนำให้ผู้เบ่นคนอื่นแพ้ได้ เนื่องจากเงื่อนไขนี้ทำให้ผู้ที่ได้รับบทบาทหลอกผู้อื่นจะเริ่มเล่นเกมโดยซ่อนบทบาทของตนเองกับผู้เล่นคนอื่น ๆ เป็นโครงสร้างที่มีสถานการณ์ของการเล่นเด่นชัด ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น werewolf, saboteur

         2.1.8 โครงสร้างเกมแบบประยุกต์ใช้แผนที่ (Scenario/Mission/Campaign Game) เกมนี้เป็นเกมที่มีระบบที่สามารถประยุกต์แผนที่ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งมีทรัพยากรในการเริ่มเกมและตำแหน่งที่ต่างกัน ตลอดจนมีเงื่อนไขการแพ้-ชนะที่ต่างกัน ซึ่งเงื่อนไขและตัวแปรเหล่านี้สามารถสร้างเป็นเรื่องราวหรือโจทย์ในการเล่นได้อย่างไม่จำกัด หรืออาจจะแยกจากกันได้โดยสิ้นเชิง ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น the 7th continent, age of steam

         2.1.9 โครงสร้างเกมแบบปรับค่าคะแนน (Score and Reset Game) เกมนี้เป็นเกมที่ผู้เล่นมีการเล่นจนกว่าจะมีเงื่อนไขให้หยุด จากนั้นมีการบันทึกคะแนน รีเซ็ตเกมและมีการเล่นเกมในรอบเพิ่มเติมหนึ่งรอบขึ้นไป ผู้เล่นจะเล่นไปเรื่อย ๆ จนกว่าเกมจบลง จากนั้นคะแนนของผู้เล่นจะถูกนำไปคำนวณเพื่อตัดสินผู้แพ้-ชนะ ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น the 7th amun re, blue lagoon

         2.1.10. โครงสร้างแบบมรดก (Legacy Game) เป็นเกมที่มีการส่งต่อหลายต่อหลายครั้งมาอย่างยาวนานและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งลักษณะของเกมจะมีการส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง ตัวอย่างบอร์ดเกมในปัจจุบัน เช่น risk legacy, seafall


2.2 การออกแบบระบบของเกม(Game system) มักออกแบบตามโครงสร้างหรือธีมของเกม ซึ่งระบบเกมเป็นการนำกลไกของเกม วัตถุของเกม และกติกากาของเกมมาเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกันกเวยแนวคิดชิงระบบ ซึ่งการออกแบบระบบของเกมสามารถออกแบบได้อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบว่าจะออกแบบอย่างไร ตัวอย่างของการออกแบบระบบเกม ดังภาพ

ภาพประกอบ: ตัวอย่างการออกแบบระบบเกม

3. การออกแบบภาพประกอบ(Artwork Design) การออกแบบภาพประกอบและการออกแบบอุปกรณ์ของเกม โดยมีรายละเอียดดังนี้

3.1 การออกแบบภาพประกอบเกม สำหรับครูทั่วไปสามารถใช้เว็บไซต์ที่ช่วยให้ออกแบบภาพประกอบเกมอย่างง่าย มีดังนี้

ภาพประกอบ: รวมเว็บไซต์และโปรแกรมช่วยทำ Artwork


แนะนำเว็บไซต์และโปรแกรมสำหรับการออกแบบประกอบเกม ดังนี้

1) Canva.com จาก canva.com

- มีเทมเพลตการ์ดจำนวนมาก

- มีเทมเพลตบอร์ดเกมบันไดงูและแนวเกมเศรษฐี

2) Inkarnet.com จาก inkarnate.com

- ใช้สำหรับการออกแบบกระดานแผนที่หรือกระดานเกมที่สวยงาม

3) Twinkl จาก twinkl.co.th

- มีเกมสำเร็จรูปให้โหลดฟรีและสามารถใช้เทมเพลตได้

- มีเทมเพลตการ์ดเกม

- มีเทมเพลตบอร์ดเกม

4) Adobe Illustrator/

- ใช้ทำ Artwork ได้ทุกรูปแบบขึ้นอยู่กับการใช้งานแบบ Vector

5) Adobe Photoshop

- ใช้ทำ Artwork ได้ทุกรูปแบบขึ้นอยู่กับการใช้งานแบบ Pixel

6) Dream.ai จาก dream.ai

- ใช้ทำภาพประกอบเกมโดยอาจใช้การเปลี่ยนภาพหรือเปลี่ยนคำเป็นภาพก็ได้ ซึ่งภาพที่ได้ออกมาถือว่าเป็นภาพที่สวยงาม

3.2 การออกแบบอุปกรณ์ของเกม

อุปกรณ์ของเกมสามารถออกแบบได้อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง กลไก ระบบ ภาพประกอบเกม และอื่น ๆ โดยอุปกรณ์ของเกมจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเกมด้วย เช่น ลูกเต๋า อาจเข้าไปเป็นอุปกรณ์ในการเคลื่อนที่ของเกม หมากตัวเดินเกม อาจเกี่ยวข้องกับการจัดการเชิงพื้นที่ในเกม และ Token ของเกมอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ความหมายบางอย่างในเกม เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบและการให้ความหมายของผู้ออกแบบ อุปกรณ์บางชิ้นไม่เป็นต้องให้ความหมายในเกม และบางชิ้นจำเป็นต้องให้ความหมายในเกม โดยอุปกรณ์ของบอร์ดเกมในเบื้องต้น ได้แก่ การ์ดเกม กระดานเกม กระดานผู้เล่น ไทล์เกม หมากตัวเดินเกม เหรียญเกม Token ไทล์เกม ลูกเต๋า กล่องเกม คู่มือเกม และอื่น ๆ

4. การทดสอบระบบเกม (Test & Development) การทดสอบระบบเกมและพัฒนาระบบเกม ในการทดสอบระบบของเกมและพัฒนาระบบของเกมจำเป็นต้องทำไปอย่างควบคู่กัน โดยการทดสอบระบบของเกมควรทดสอบกับกลุ่มทดลองที่ใกล้เคียงกับตัวอย่าง หรืออาจใช้การทดสอบผ่านกระบวนการ PLC เพื่อสะท้อนผลและออกแบบนวัตกรรมร่วมกัน อาจใช้การทดลองเล่นเกมไปจนกว่าจะได้ข้อพัฒนาเกมที่พึงพอใจ ประเด็นในการทดสอบระบบของเกมเพื่อการเรียนรู้นั้น ควรมีประเด็นในการทดสอบระบบของเกม ดังนี้

4.1 เกมบรรลุตามจุดประสงค์การเรียนรู้มากน้อยเพียงใด

4.2 ระบบของเกมมีความสมดุลหรือไม่ ปรับแก้ไขอย่างไร

4.3 อุปกรณ์ของเกมมีความสมดุลกับการเล่นหรือไม่ ปรับแก้ไขอย่างไร

4.4 สามารถลดระบบเกม และอุปกรณ์เกม ที่ไม่จำเป็นได้หรือไม่ ปรับแก้ไขอย่างไร

4.5 รายละเอียดเพิ่มเติมจากการทดสอบระบบเกม ที่ควรเพิ่มเข้าไปในการพัฒนาเกม

5. การนำไปใช้และการวัดและประเมินผล (Learning & Evaluation) การนำไปใช้ คือ การนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยมีการวัดและประเมินผลทางการเรียนรู้ควบคู่ด้วย โดยการนำไปใช้นั้นควรใช้แบบแผนการจัดการเรียนรู้ ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ที่ได้ออกแบบไว้ โดยใช้เครื่องมือในการวัดปละประเมินผล (รายละเอียดของการวัดและประเมินผลในหัวข้อที่ 10 เรื่องการวัดและประเมินผลโดยการใช้บอร์ดเกม) ผ่านเพิ่มเติมได้จาก ลิงก์


------------------------------------------------

เขียนโดย

ธีระวุฒิ ศรีมังคละ

ตำแหน่ง ครู โรงเรียนบ้านหนองคู(หนองคูวิทยาคาร) สพป.มค. เขต 3

เทคนิคการสอน

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

5
ได้แรงบันดาลใจ
4
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
นายแสน Facilitator & Board Game
เราเชื่อว่า "บอร์ดเกมสามารถเปลี่ยนแปลงผู้เรียนได้"

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ