inskru
gift-close

โมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL โดยครูคณิศร เสมพืช

1
0
ภาพประกอบไอเดีย โมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL โดยครูคณิศร เสมพืช

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

ปัญหาการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันจะพบว่าครูมักจะเน้นการบรรยายเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมในการเรียนรู้ไม่มีความหลากหลาย ทำให้บรรยากาศในการเรียนน่าเบื่อหน่าย รวมถึงนักเรียนส่วนใหญ่ขาดความกระตือรือร้น ขาดความชำนาญในการแสวงหาความรู้จากภายนอกห้องเรียน ทำให้นักเรียนไม่มีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ นอกจากนี้การสอนในปัจจุบันยังไม่ได้ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา รวมถึงทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

ทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

         จากปัญหาที่กล่าวมาในฐานะที่เป็นครูผู้สอนจึงได้ตระหนักในความสำคัญของการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ตามโมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL เพื่อที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เน้นการลงมือทำ เสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทำให้ผู้เรียนเติบโตไปเป็นกำลังของประเทศชาติที่มีคุณภาพและสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป


ขั้นตอน

           ขั้นตอนที่ 1 Define (ขั้นกำหนดปัญหา) คือ การระบุประเด็นปัญหาที่สนใจ ซึ่งก่อนจะระบุได้นั้น นักเรียนจะได้รับการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเร้าความสนใจในการเรียนรู้ ดังนั้น การสร้างแรงบันดาลใจและการสร้างความรู้พื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักเรียน เพื่อที่จะสามารถนำไปปรับให้เข้ากับองค์ความรู้เดิมและเปลี่ยนแปลงความคิดให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ตามทฤษฎี Constructivism ก่อนการศึกษาหรือสถานการณ์ที่ท้าทายเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ครูสามารถใช้เทคนิคการตั้งคำถามด้วยหลัก 5W1H เมื่อเกิดปัญหาหรือความต้องการ และเทคนิคผังก้างปลา (Fish Bone diagram) ในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา

                 ขั้นตอนที่ 2 Plan & Design (ขั้นวางแผนและออกแบบ) คือ การวางแผนการทำงานการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (PBL) เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรมตามทฤษฎี Constructionism จากประเด็นสถานการณ์ที่กำหนดขึ้นด้วยตนเอง สามารถระบุประเด็นปัญหา ตั้งชื่อเรื่อง กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตของโครงงาน ทฤษฎี เทคนิคที่เกี่ยวข้อง แผนปฏิบัติงาน รวมทั้ง เตรียมเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำโครงงานของตนเอง สมาชิกในกลุ่มต้องวางแผนงาน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ประชุมภายในกลุ่ม ระดมความคิด แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนคำถาม และในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการออกแบบชิ้นงานหรือวิธีการ ซึ่งขั้นตอนนี้จะช่วยสื่อสารแนวคิดของการแก้ปัญหาให้ผู้อื่นเข้าใจผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การสร้างแบบร่าง การสร้างสตอรี่บอร์ด การเขียนผังงาน การออกแบบหน้าจอสำหรับผู้ใช้งาน (User-interface) การออกแบบชิ้นงานโมเดล ๓ มิติด้วยโปรแกรม Sketchup เป็นต้น

                 ขั้นตอนที่ 3 Do (ขั้นลงมือทำ) คือ การลงมือปฏิบัติจริง จะพบปัญหาที่ไม่คาดคิดเสมอ นักเรียนจึงจะได้เรียนรู้ทักษะในการแก้ปัญหา การประสานงาน การทำงานร่วมกันเป็นทีม การจัดการความขัดแย้ง ทักษะในการทำงานภายใต้ทรัพยากรจำกัด ทักษะในการค้นหาความรู้เพิ่มเติม ทักษะในการทำงานในสภาพที่ทีมงานมีความแตกต่างหลากหลาย ทักษะการทำงานในสภาพกดดัน ทักษะในการบันทึกผลงาน ทักษะในการวิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อวิเคราะห์กับเพื่อนร่วมทีม เป็นต้น

                 ขั้นตอนที่ 4 Evaluation (ขั้นประเมิน) คือ การตรวจสอบประเมินผลงานหรือชิ้นงานที่สร้างขึ้นว่าสามารถทำงานหรือใช้ในการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการได้หรือไม่ มีข้อบกพร่องอย่างไร และควรปรับปรุงแก้ไขชิ้นงานหรือแบบจำลองวิธีการในส่วนใด ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร แล้วจึงดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนนั้นจนได้ชิ้นงานวิธีการที่สอดคล้องตามรูปแบบที่ออกแบบไว้

                 ขั้นตอนที่ 5 Present (ขั้นนำเสนอ) คือ การนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชิ้นงานหรือวิธีการที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ ซึ่งการนำเสนอผลงานควรอธิบายให้เข้าใจอย่างชัดเจน กระชับ และตรงประเด็น สามารถนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น การเขียนบรรยายในรูปรายงาน การนำเสนอหน้าชั้นเรียน การแสดงผลงานผ่านเว็บไซต์ หรืออาจมีการใช้สื่อ ชิ้นงาน แผนภาพ โมเดลประกอบ ร่วมกับการบรรยาย หรืออาจสร้างนวัตกรรมในการนำเสนอ เพื่อสื่อความหมายให้ผู้รับฟังได้เข้าใจโครงงานที่นักเรียนจัดทำขึ้น


ผลสะท้อนจากนักเรียน หรือ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

ด้านนักเรียน

             - ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้นำความรู้ทางคอมพิวเตอร์ไปบูรณาการกับสาระการเรียนรู้อื่น ๆ เพื่อประยุกต์ใช้และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

            - ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจ มีความตระหนักในประโยชน์และเห็นคุณค่าของการใช้เทคโนโลยี และรู้ทันต่อการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน

             - ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้ศึกษา ค้นคว้า หรือสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มพูนความรู้ตามความถนัดและความสนใจตามศักยภาพของตน

             - ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความรับผิดชอบในงานที่ตนเองได้รับมอบหมาย มีทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้พัฒนาทักษะทางสังคม ทักษะการดำรงชีวิต และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑

             - ช่วยพัฒนาความสามารถของนักเรียนในการใช้ทักษะและกระบวนการแก้ปัญหา นำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงอย่างมีระบบเป็นขั้นตอน

             - ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงออกโดยใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ

             - ช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ด้านครูผู้สอน

             - ครูได้รับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ กระบวนการปฏิบัติงาน มีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เป็นที่ยอมรับเป็นแบบอย่างในการพัฒนางานให้กับบุคลากรครู

             - ครูสามารถวิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตร ออกแบบการเรียนรู้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learning)

             - ครูมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และมีการวัดและประเมินผลนักเรียนตามสภาพจริง

             - ครูเป็นผู้นำด้านวิชาการและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นที่ยอมรับจากความสำเร็จของการดำเนินงาน


บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะในการนำนวัตกรรมรูปแบบโมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL ไปใช้

  1. ครูผู้สอนในรายวิชาควรมีการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อวางแผนการเชื่อมโยงสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้จะได้เป็นแนวทางให้กับนักเรียนในการนำไปใช้ในการเรียนรู้ต่อไปด้วย
  2. ควรนำนวัตกรรมรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามโมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL ไปใช้ ในการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา IS (Independent Study) หรือวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนักเรียนที่เรียนในรายวิชานี้จะสามารถนำความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้
  3. ครูผู้สอนควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนนำผลงานหรือนวัตกรรมเข้าสู่การแข่งขัน เพื่อจะได้พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมต่อไป

ข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามโมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL

  1. ในการนำนวัตกรรมรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามโมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ นั้นสามารถดำเนินการได้โดยง่าย เพียงแต่เปลี่ยนเนื้อหาในการเรียนการสอน แต่กระบวนการเรียนรู้ยังคงดำเนินตามขั้นตอนของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามโมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL
  2. ควรมีการขยายและเผยแพร่ผลการพัฒนานวัตกรรมสู่ชุมชนและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จให้กว้างขึ้น
  3. ควรมีการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมโดยใช้กระบวนการของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามโมเดลวงล้อแห่งการเรียนรู้แบบ PBL ผ่านการจัดทำโครงงานบูรณาการ ซึ่งเริ่มจากการประชุมครูผู้สอนในระดับชั้นเดียวกันเพื่อวางแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ และการประเมินผลร่วมกัน



ไฟล์ที่แบ่งปัน

    การจัดการชั้นเรียนProject-Based Learning

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    1
    ได้แรงบันดาลใจ
    0
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    Kru Bellz

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ