icon
giftClose
profile

Active Learning ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่มีกิจกรรมในห้องเรียน !?

16670
ภาพประกอบไอเดีย Active Learning ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่มีกิจกรรมในห้องเรียน !?

คุยกับอาจารย์เด้นท์-ศราวุธ จอมนำ รองผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเข้าใจเกี่ยวกับ Active Learning ที่อาจกำลังทำให้หลายคนรู้สึกสับสนว่าที่เรากำลังสอนอยู่นี้มันใช่ Active Learning หรือเปล่านะ

“เวลาพูดถึง Active Learning สิ่งที่เป็นหลักคือ Learning การเรียนรู้ ดูจากภาษาอังกฤษก็ได้ครับ คำว่า Active เป็นส่วนขยาย Learning คือคำหลัก เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ Learning แสดงว่า Learning ต้องเกิด โดยที่เกิดแบบ Actively ก็คือผู้เรียนเข้ามาหาการเรียนรู้นั้น เข้ามาหากระบวนการ เข้ามาออกแรงกับมัน ลุยไปกับมัน จนทำให้ Learning เกิดขึ้นในตัวเขาเอง

“โดยธรรมชาติแล้ว การเรียนรู้ เกิดจากการลงมือทำบางอย่าง เอาตัวเองไปลงแรงกับเรื่องบางเรื่อง ซึ่งทำได้หลายวิธี อย่างเช่น เราอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการทำโต๊ะไม้ ก็อาจจะใช้วิธีการลองทำเลย แบบลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แต่ก็เรียนรู้จากวิธีอื่นได้ อย่างการดู YouTube ก็ได้ อ่านหนังสือก็ได้ ลองซื้อโต๊ะ IKEA มาประกอบก็ได้ ทำได้หลายอย่าง

“ดังนั้นคำว่า Active Learning มันจะไม่ได้ไปล็อคว่า จะต้องเป็นวิธีไหน วิธีการอาจจะไม่เหมือนกันเลยก็ได้สำหรับเด็กแต่ละคน บางคนเราบิลด์นิดหนึ่ง เขาก็จะเริ่มเดินเข้ามา พร้อมที่จะลุยไปกับเราแล้ว แต่บางคนไม่ต้องบิลด์ เขาบิลด์ตัวเองมาตั้งแต่บ้านแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือว่าสถานการณ์ปัจจุบันมาบิลด์เขาอยู่แล้ว ถ้าคุณครูเห็นว่าผู้เรียนเป็นแบบนี้ รู้จักผู้เรียนเป็นอย่างดี ครูก็จะทำให้บทเรียนนั้นมีความหมายสำหรับนักเรียน ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้หวือหวา ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย ไม่ต้องใช้แรงเยอะ ๆ ไม่ต้องใช้ร่างกายเยอะ ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นครับ ใช้แค่หัวอย่างเดียวก็ได้ ขอแค่ว่าผู้เรียนเข้ามา Engage กับการเรียนรู้นั้นแบบ Active ไหม


Active Learning ไม่ได้เท่ากับ Activity หลาย ๆ Activity อาจไม่ได้ทำให้เกิด Learning ก็ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

insKru: อยากรู้ว่าการสอนแบบในคลิปวิดีโอนี้เป็น Active Learning ไหม ในเมื่อนักเรียนลงมือทำบางอย่าง แต่เป็นการแค่พูดต่อคำ หรือจบประโยคของครูที่พูดบรรยาย

ถ้าอยากรู้จริงๆ ว่าคาบนั้นเกิด Active Learning ไหม ต้องเช็กว่า Learning เกิดขึ้นที่ผู้เรียนไหม แล้ว Learning นั้น มันเป็น Learning เรื่องอะไร ตรงกับจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ไหม หากจุดประสงค์การเรียนรู้คือ การฟังอย่างตั้งใจ ต่อประโยคได้ถูกต้อง การสอนแบบนี้ถือว่าเป็น Active Learning นะ ต้องไปดูว่าเป็นเด็กกลุ่มไหน จุดมุ่งหมายการเรียนรู้ของเขาคืออะไร

“Active Learning มี 2 ความหมาย คือเป็นลักษณะของการเรียนรู้ กับอีกแบบคือเป็นวิธีสอน ถ้าดูที่ความหมายแรก อาจไม่ต้องมีคนสอนก็ได้ การเรียนรู้แบบ Active เป็นการเรียนรู้แบบที่ต้องรู้ตัวว่า เรากำลังทำเรื่องนี้ เราอยากจะรู้เรื่องนี้ เราอยากทำสิ่งนี้เป็น ก็เดินเข้าไปหามัน เพื่อทำให้ตัวเองมีประสบการณ์กับเรื่องนั้นได้ Learning Actively จึงสำคัญมาก เพราะว่ามันคือธรรมชาติในการเรียนรู้ของมนุษย์ ถ้าพูดถึงวิธีสอนที่จะสอดคล้องกับ Active Learning คุณครูอาจจะจำเป็นต้องมีเทคนิค ต้องมีวิธีการ มีวิธีที่จะดีลกับเด็กแต่ละคนได้ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลักษณะการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ความช้าความเร็วก็ไม่เหมือนกัน แต่จุดสำคัญก็คือ การเรียนรู้ต้องเกิด


“คำว่า Learning กับ Teaching ต้องแยกจากกันให้ได้ ถ้าถามว่าคาบนี้สอนด้วยกิจกรรมไหม ดูที่ในห้องได้เลย แต่แค่การจัดกิจกรรมในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เราไม่สามารถบอกได้ว่ามันเกิด Active Learning หรือเปล่า ต้องไปดูว่า Learning เกิดขึ้นกับผู้เรียนไหม ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับการประเมิน (Assessment)ที่ครูมีความเข้าใจว่านักเรียนแต่ละคนเป็นยังไง และจะช่วยให้นักเรียนแต่ละคนเกิด Active Learning กับเรื่องนั้น ๆ ได้ยังไง เพราะฉะนั้น Active Learning มันจึงไม่ใช่การต้องทำกิจกรรมเสมอไป ถ้าเราช่วยกันสร้าง Active Learning ในแบบที่ถูกต้อง เด็กจะได้อะไรมากกว่าแค่สอนตามหนังสือ แต่ว่าเขาจะได้ลงมือ ได้ทำ ได้คิด ได้ตกผลึกจริง ได้สร้างองค์ความรู้ที่เป็นภาษาของตัวเองขึ้นมาจริงๆ เมื่อเขาเข้าใจจริงๆ ข้อสอบออกมาไม้ไหนก็พร้อมลุย


“จริง ๆ แล้วแค่อธิบายแบบนี้อาจจะยังไม่เข้าใจ อาจจะต้องให้ครูลองเข้าร่วมในเวิร์กช็อปที่ทำให้เกิด Active Learning จริงๆ แล้วลองเทียบกับกิจกรรมที่ดูเหมือนจะเป็น Active Learning แต่ว่า Learning ไม่เกิด จะได้เข้าใจในฐานะที่เป็นผู้เรียน เข้าใจว่าอันนี้ไม่ Learning เลย แค่สนุกเฉย ๆ หรือว่าแค่นั่งอยู่เฉย ๆ นั่งฟังแล้วคิดตาม แต่เกิด Learning แล้วเรา Engage กับมันจริงจังด้วย ถ้าคุณครูได้ลองมีประสบการณ์แบบนั้น เขาจะรู้สึกถึงมันได้ ไม่สามารถมีใครไปบอกใครได้ จนกระทั่งเขาจะได้มีประสบการณ์นั้นจริง ๆ


“อีกคนสำคัญที่ไม่แพ้กันคือผู้อำนวยการโรงเรียนกับศึกษานิเทศก์ที่ต้องเข้าใจจริงและเห็นภาพเดียวกัน ไม่ใช่ว่าครูเข้าใจ Active Learning ถูกแล้ว แต่คนที่มีอำนาจมากกว่า ดันเข้าใจไปอีกแบบ ก็จะทำให้ครูแบบเขวไปเขวมา หรือต้องฝืนทำในสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่ ดังนั้นต้องทำงานในทั้งระบบเชิงโครงสร้างใหญ่ด้วยครับ”

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(1)