icon
giftClose
profile

Friend of Buddy Kru: ครูมูซา - สรายุทธ เสือเย๊ะ

2680
ภาพประกอบไอเดีย Friend of Buddy Kru: ครูมูซา - สรายุทธ เสือเย๊ะ

🌱 ในโรงเรียนทุกที่ อาจจะมีนักเรียนที่เรารู้สึกว่า

สามารถเรียนได้ดี หรือยังเรียนอ่อนอยู่ทั้งนั้น

ความสามารถที่ต่างกันอาจทำให้การสอน

ของคุณครูนั้น ต้องมีการออกแบบให้ตอบรับ

กับนักเรียนในแต่ละห้องให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


เรามาพบกับ ครูมูซา-สรายุทธ เสือเย๊ะ

ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนศรีพฤฒา

ผู้ตั้งเป้าหมายพัฒนาห้องเรียน และรวบรวม

Student Feedback ใน Buddy Kru

เพื่อให้นักเรียนที่มีทักษะการเรียนที่ต่างกัน

เปิดใจ และมีส่วนร่วมกับการเรียนอย่างเต็มที่


“ก่อนเข้ามาบรรจุเป็นครูในโรงเรียนในปัจจุบัน เราเคยมีโอกาสเป็นครูมาก่อน 2 ที่ด้วยกัน มีเอกชน และสาธิตแห่งหนึ่ง ตอนอยู่ที่โรงเรียนสาธิต เราได้เข้าไป sit-in คาบที่ครูรุ่นน้องในหมวดคนหนึ่งสอน จากแต่ก่อนที่คิดว่าการสอน เราจะเน้นเลกเชอร์ เราคิดว่าคนเป็นครู พูดเยอะ ๆ คือเก่ง เคยคิดอย่างนี้นะ (หัวเราะ) ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดว่าไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่อย่างที่คิดเลย เราได้เรียนรู้การสร้างการเรียนการสอนเเบบ Active Learning ออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ได้จบเเค่การทำเเล้วสนุก จบไป เเต่เน้นไปที่การทำให้นักเรียนของเราได้คิด”


“ตอนนี้เราได้สอนห้องเรียนที่มีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน 2 ห้อง มีห้องที่เรียนได้อยู่แล้ว และอีกห้องที่คนอื่นมองว่ายังเรียนอ่อน เป็นสายพละ เราก็เริ่มจากกิจกรรมที่มีชื่อว่า “เผ่าพันธุ์ผู้อยู่รอด” เพราะต้องสอนเรื่องมนุษย์กับสังคมพอดี เราก็ถอดตัวชี้วัดออกมา ออกแบบเป็นกิจกรรม ให้นักเรียนมีตัวละคร 7-8 ตัวละครที่ลักษณะต่างกัน ต้องรวมกลุ่มกัน โดยกำหนดสถานการณ์ต่างๆไว้ เช่น มีโควิด อุณหภูมิเปลี่ยน ให้นักเรียนคิดว่าใช้ตัวละครตัวไหนในเพื่อช่วยให้รอดจากสถานการณ์นั้น ๆ สรุปเนื้อหาเข้ามาในตอนท้ายได้ว่ามนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เราต้องอยู่ด้วยกัน


นักเรียนบางคนก็มองว่าทำไมครูให้ทำอะไรเต็มไปหมด หรือสงสัยว่าครูไม่อธิบายอะไรเลย จะเรียนรู้เรื่องหรือเปล่า แต่เขาก็เข้าใจในที่สุดว่าเรียนเเบบนี้ เกิดไอเดียมากกว่านั่งฟังเลกเชอร์ อ่านสไลด์ เพราะได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของเรา จึงค่อยๆเปลี่ยนมุมมองเป็นการเปิดใจแทน


“ถึงเเม้ว่าใน 2 ห้องเรียน ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน เราจะใช้กิจกรรมเดียวกัน แต่ได้ออกแบบรายละเอียดกิจกรรมให้ต่างกัน อย่างห้องที่เรียนรู้ได้อยู่เเล้ว เราจะมีคำถามที่มันแอดวานซ์มากกว่า ให้ลองคิดวิเคราะห์ลงรายละเอียดกับกิจกรรมมาก ๆ ส่วนในห้องที่คนอื่นมองว่าเรียนอ่อนอยู่ เราจะปรับรูปแบบการทำกิจกรรม โดยที่เป้าหมายในเนื้อหายังเหมือนกัน แต่บางคำถาม เราจะถามให้ง่ายขึ้น หรือถามคำถามที่ใกล้ตัว สอดคล้องกับเขามากขึ้น เนื่องจากเขาไม่ชอบเนื้อหาสาระที่ดูวิชาการเท่ากับชอบกิจกรรม นักเรียนที่สนใจน้อย เราก็จะเลือกใช้คำถามที่ถามว่าเด็กรู้สึกยังไงบ้างที่ครูทำไป เขาก็จะเริ่มคิดแล้วว่ารู้สึกยังไง เจออะไรบ้างในกิจกรรมที่ทำ เราใช้คำถามในการให้เขามีส่วนร่วม มีตัวตนอยู่ในห้อง พยายามไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”


“ถ้าถามข้างในลึก ๆ ตัวเราเองเชื่อว่า ห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่เด็กมีความสุข เรียนแล้วต้องรู้ ไม่ใช่อัดเนื้อหาอย่างเดียว แต่ก่อนก็รู้สึกว่าต้องให้เด็กได้สิ่งนี้ ๆ เลยอัดเข้าไป พอเราปรับเปลี่ยนความคิด ก็รู้สึกว่าเด็กต้องไม่ใช่ถูกบังคับมาเรียน เขาจะได้เต็มใจเรียน ถ้าเด็กไม่อยากเรียน เขาก็ไม่เปิดรับอะไรอยู่แล้ว อย่างตอนเด็ก ๆ เราไม่ชอบวิชาคณิตเลย เพราะไม่ชอบครูเลยไม่ชอบคณิตไปด้วย เราคิดว่าเด็ก ๆ ต้องชอบครูและมีความสุขในบรรยากาศการเรียนก่อน ถึงจะเปิดรับ ห้องเรียนต้องเป็นอย่างนี้”


“ถ้าถามว่าปัจจุบัน ห้องเรียนเราเป็นห้องเรียนเเห่งความสุขหรือยัง เราคิดว่าตอนนี้เป็นแล้ว มันมีความสุขอ่ะ เราวิเคราะห์จากคำถามที่นักเรียนถาม เช่น อาทิตย์หน้าให้ทำอะไรครับ เมื่อไหร่จะถึงคาบเรียนครู เราได้ยินแต่สิ่งที่เป็นเชิงบวก เราเลยมองว่าเราก็น่าจะพัฒนาตัวเองเป็นครูที่ในแบบที่คาดหวัง จะเหลือปรับแค่เด็กที่อยากให้โฟกัสการเรียนมากกว่าเดิม เราก็ใช้ BuddyKru คอยช่วยเหลือให้ตั้งเป้าหมาย อยากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน บางคนยังมีความเป็นส่วนร่วมกับเราน้อย ซึ่งไม่รู้ว่าทำได้เเค่ไหนแต่ต้องลองดู”


“นอกจากนี้ BuddyKru ก็มีไอเดียการสอนส่งมาให้เรื่อย ๆ ก่อนหน้านี้ต้องไปตามเสิร์ชไอเดียการสอนในเว็บ แต่เหมือนตอนนี้เรามีช่องทางเพิ่มมากขึ้น มีเสนอไอเดียใหม่ๆที่ตอบโจทย์เป้าหมายของเรา เหมือนมันเป็นเพื่อนเรา เพื่อนที่ปรึกษาได้ตลอดเวลาเลย นอกจากนี้ยังมี Student Feedback ช่วยเก็บความเห็นของนักเรียนด้วย อย่างห้องเรียนที่คนอื่นมองว่ายังเรียนอ่อน แรกๆ เขาไม่มีส่วนร่วมกับเรา เราไม่กล้าให้เขาประเมินด้วย กลัวเขาเขียนอะไรมาที่ไม่ดี เบื่อเรา เกลียดเรา แต่พอลองให้เขาทำ เขาไม่ได้คิดกับเราอย่างนั้นเลย เขามองเราเป็นแบบครูที่ดี ครูที่เปิดใจคนนึงเลย พอได้เห็น Feedback ผมเริ่มรู้สึกว่าเข้าใจ เด็ก ๆ ก็เริ่มเปิดใจแล้วก็เรียนกับเรา อย่างงานของห้องนี้คุณครูคนอื่นไม่สามารถตามได้ครบเลย แต่ว่าเราได้งานครบอ่ะ เด็กเขาสนใจวิชาที่เป็นเนื้อหาสาระ ไม่ใช่ในเชิงปฏิบัติแบบวิชาพละอย่างเดียว ตรงนี้เรามองว่าทำให้นักเรียนสนใจได้สำเร็จเเล้ว”

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)