วิทยาศาสตร์จานโปรด ตอน บัวลอยสามสหาย
เริ่มต้นจากการที่เราจะต้องสอนเรื่อง การแยกสาร ระดับชั้นม.2 เป็นบทที่ถ้านั่งบรรยายเป็นต้องหลับทุกที เพราะเนื้อหาค่อนข้างมาก แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องการแยกสารเป็นสิ่งที่เราพบในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว อย่างเช่นการทำอาหาร และอาหารที่ต้องใช้ความรู้เรื่องการแยกสารหลากหลายวิธีก็ต้องเป็นบัวลอยยย
บัวลอยเป็นเมนูที่นักเรียนรู้จัก หาทานง่าย และบางคนอาจจะเคยลองทำ กรรมวิธีไม่ซับซ้อน แถมยังต้องใช้มือสัมผัสบีบ ค้น นวด ปั้น พี่มอฉองของเราต้องชอบแน่ ๆ
บัวลอยของเราประกอบด้วย ส่วนของ น้ำกะทิ แป้งบัวลอย และสามสหาย
ว่าแต่สามสหาย มีใครบ้างนะ
สหายคนที่ 1 ฟักทอง การทำขนมด้วยใช้ฟักทอง นิยมเอาไปแช่น้ำปูนใส เพื่อทำให้ไม่เปื่อยยุ่ยเวลาต้ม ซึ่งน้ำปูนใสที่ใช้แช่ จะต้องนำปูนแดงมาผสมน้ำแล้วตั้งทิ้งไว้ในตกตะกอน เอ๊ะ ได้คีย์เวิร์ดแล้ว ตกตะกอน การทำน้ำปูนใสต้องใช้หลักการตกตะกอนนั่นเอง แล้วจะเอาน้ำปูนใสออกมาได้ยังนะ ถูกต้องแล้ว ใช้วิธีการรินออก (การแยกสารป.6)
สหายคนที่ 2 และ 3 อัญชันและใบเตย นักเรียนถึงกับขุดใบเตยที่บ้านมากอใหญ่เลย เราจะต้องแช่น้ำทิ้งไว้จนกว่าจะได้สีที่อยู่ข้างในออกมา วิธีการนี้เรียกว่า การสกัดด้วยตัวทำละลาย แต่อาจจะช้าไป เราจึงต้องบีบคั้นเพื่อร่นระยะเวลา สามารถถามต่อได้ว่าถ้าไม่ใช้น้ำเปล่าจะใช้อย่างอื่นแทนได้ไหม (แอลกอฮอล์จะสกัดสารสีในพืชได้ดีกว่าน้ำ แต่ทานไม่ได้) เมื่อเราได้น้ำอัญชันและใบเตยแล้วจะเหลือกาก เศษกลีบดอกและใบเตยลอยอยู่แบบนี้จะแยกออกยังไงดีนะ... การกรองนั่นเอง
เราได้สหายทั้งสามเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็เหลือส่วนที่เป็นแป้งบัวลอยและน้ำกะทิ
น้ำกะทิของเราต้องใช้มะพร้าวกะทิแท้ ๆ จากตลาด เพื่อความหอมมัน เพราะฉะนั้น คั้นไปค่ะนักเรียน ขั้นตอนคล้ายตอนทำน้ำอัญชันและใบเตยเลย ถูกแล้วค่ะ การคั้นน้ำกะทิต้องอาศัยวิธีการกรอง และ การสกัดด้วยตัวทำละลาย เสร็จแล้วน้ำไปต้มรอได้เลยนะ
แป้งบัวลอย นำสีผสมอาหารจากธรรมชาติมาผสมกับแป้งแล้วปั้นจนเป็นเม็ดกลม ๆ ดูแล้วเหมือนจะไม่ต้องแยกสารใช่ไหมคะ แต่เม็ดบัวลอยตอนคลุกกับแป้งนวล ตัวแป้งเกาะเม็ดบัวลอยมากเกินไป จะทำให้น้ำต้มเหนียว เม็ดขนาดใหญ่เกินไป ไม่อร่อยแน่เลย แต่ขนาดเม็ดบัวลอยใหญ่กว่าผงแป้งมาก จึงหยิบออกได้เลย อ๊ะ ได้แยกสารอีกแล้ว แต่หยิบออกที่ละเม็ดสองเม็ดคงไม่ทันใจ ใกล้จะหมดคาบแล้วด้วย นักเรียนคนเก่งของเราคว้ากระชอนออกมา น้ำเม็ดบัวลอยใส่ลงไป เขย่า ๆ ๆ โอ้โห แป้งหลุดออกหมดเลย นำไปต้มได้ วิธีการนี้เรียกว่า การร่อน นั่นเอง
เมื่อบัวลอยสุกแล้วก็ไปทานกันเลย
..
ตอนนี้เหลือบัวลอยถ้วยสุดท้าย ใครอยากได้ไปต้องเอาชีทมาส่งนะ
กว่าจะได้บัวลอยชามนี้บอกเลยว่าถึงกับหมดแรง แต่อิ่มเอมใจมาก สิ่งที่เราชอบที่สุดในคาบนี้คือแต่ละขั้นตอนเหมือนจะง่ายแต่ก็มีอุปสรรคอยู่ตลอด จึงได้เห็นนักเรียนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และยังใช้วิธีที่ตัวเองกำลังเรียนอยู่ด้วย ปริ้มปริ่มม
ปล. คาบนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานอาจจะต้องเตรียมของบางส่วนไว้ล่วงหน้า ให้ทำแค่พอประมาณ เพราะจุดประสงค์ของเราคือได้รู้จักวิธีการแยกสารและเลือกใช้วิธีการแยกสารให้เหมาะสม
ปล.2 อย่าลืมกำชับเรื่องสุขอนามัยนะคะ
วิทยาศาสตร์จานโปรดตอนต่อไปจะเป็นอะไร จะยังทำต่อมั้ย 0w0 ต้องรอติดตามน้า
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย