ลักษณะของเกมการ์ด
เกมการ์ดประกอบด้วยการ์ดคำถาม 20 ใบ แต่ละใบจะมีเนื้อเรื่องบทประพันธ์เรื่องเสภาขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา เรียงลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ (แต่ไม่ครบทุกบท เลือกมาเฉพาะส่วนที่มีผลต่อเนื้อหาโดยรวม) และข้อมูลอื่นๆ ดังนี้
- ข้อคำถามวิเคราะห์เนื้อหา ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจเนื้อหา การตีความน้ำเสียง การวิเคราะห์เหตุ-ผล พร้อมกับเฉลยคำตอบ โดยวางกรอบเฉลยไว้ด้านล่าง
- การวิเคราะห์เนื้อหา 4 ประเด็น คือ 1.ข้อคิดเห็นของตัวละคร 2.น้ำเสียง อารมณ์ 3.การเล่าเรื่องในอดีต และ 4.เกร็ดสังคมวัฒนธรรม (ความเชื่อ ค่านิยม บรรยากาศบ้านเมือง ฯลฯ) --> นักเรียนได้ทำกิจกรรมวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้ในคาบก่อนแล้ว
- ภาพตัวละครที่เป็นเจ้าของบทประพันธ์ (เป็นผู้แสดงบทบาท / ความคิด / คำพูด)
นอกจากนี้ยังมีการ์ดใบเล็ก สำหรับใช้เล่นเกม แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
- การ์ดตัวละคร มี 5 ตัวละคร คือ วันทอง ขุนช้าง ขุนแผน พลายงาม และพระพันวษา
- การ์ดคำตอบ มี 4 คำตอบ คือ ก. ข. ค. ง.
- การ์ดประเด็นวิเคราะห์ มี 4 ประเด็น แทนด้วยตัวเลข 1,2,3,4
- การ์ดคำสั่ง มี 5 คำสั่ง
การ์ดเหล่านี้จะมีจำนวนไม่เท่ากันตามสัดส่วนเนื้อหาในการ์ดเนื้อหา และการคำนวณโอกาสที่ใช้การ์ด เพื่อให้ผู้เล่นจะเกิดความท้าทายขณะเล่น
![]()
วิธีการเล่น
เกมนี้จะเล่นเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 4-5 คน มีกติกาหลักตามภาพ โดยเป็นเกมที่ผู้เล่นต้องแข่งกันลงการ์ด แต่ห้ามลงการ์ดประเภทเดียวกับผู้เล่นคนก่อนหน้า (กติกาปรับจากเกม UNO) ผู้เล่นที่การ์ดหมดจะได้คะแนน ช่วงท้ายคาบครูผู้สอนมอบรางวัลเล็กๆน้อยๆให้แก่ผู้เล่นที่มีคะแนนสูงสุดประจำกลุ่ม
เกมนี้ยังสามารถปรับประยุกต์วิธีการเล่นได้หลากหลาย เพราะมีการ์ดหลายรูปแบบ สามารถใช้กระตุ้นก่อนเรียน ใช้สอนเนื้อหา หรือใช้เพื่อทบทวนก็ได้
![]()
การนำไปใช้ทำกิจกรรม
นักเรียนที่ได้เล่นเกมการ์ดแบ่งเป็นหลายกลุ่ม คือ
- นักเรียนได้อ่านเนื้อหาและทดลองตอบคำถามที่อยู่ในการ์ด 1-11 ก่อนเล่นเกมการ์ด นักเรียนกลุ่มนี้จะรู้เนื้อหาส่วนแรก และเห็นข้อมูลในการ์ดก่อนเล่นเกมตามกติกาหลัก นักเรียนกลุ่มนี้จะมีความกระตือรือร้นอยากทราบเนื้อหาถัดไป เมื่อเล่นเกมการ์ดตามกติกาหลักจะเล่นจบเร็ว มีหลักสังเกตข้อมูลและคำตอบก่อนลงการ์ด กลุ่มนี้จะเน้นเล่นตามเกมมากกว่าการวิเคราะห์ข้อมูลในการ์ด
- นักเรียนที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาในการ์ดคำถามมาก่อน แล้วรวมกลุ่มเล่นเกมการ์ด โดยปิดส่วนเฉลยไว้ นักเรียนกลุ่มนี้จะมีแนวทางการเล่นตามที่กลุ่มตนเองตกลงกันหลากหลายแนว เช่น ร่วมกันคิดคำตอบ รวมถึงกำหนดการ์ดที่สามารถลงได้ก่อนที่จะลงการ์ดจริง หรือ เสี่ยงลงการ์ดที่คิดว่าเป็นคำตอบสอดคล้องกับเนื้อหาก่อน เมื่อเปิดเฉลยแล้ว การ์ดของผู้เล่นคนใดไม่สอดคล้อง จะต้องเก็บคืนไป นักเรียนกลุ่มนี้จะใช้เวลาในการเล่นค่อนข้างมาก เพราะต้องตรวจสอบเฉลยก่อนเล่นการ์ด
- นักเรียนที่ศึกษาและทำกิจกรรมวิเคราะห์ตอบคำถามจากการ์ดทั้ง 20 ใบก่อนเล่น นักเรียนจะเล่นตามเกมโดยไม่ได้ปิดเฉลย แต่นักเรียนจะมีแนวทางการแจกการ์ดและกติกาเพิ่มเติมเพื่อความท้าทายตามที่กลุ่มตนเองกำหนด นักเรียนกลุ่มนี้จะเล่นเกมจบเร็ว 1 คาบ เล่นประมาณ 3-4 รอบ นักเรียนกลุ่มนี้จะจำเนื้อหาและแนววิเคราะห์จากการ์ดคำถามได้ดี
แนวทางการใช้การ์ดเกมสามารถปรับตามสไตล์การเรียนของผู้เรียนและเวลาในคาบ ปรับ-เสริมไปตามการสังเกตของครูผู้สอน
![]()
![]()
หลังจากคาบที่เล่นเกมการ์ดแล้ว นักเรียนทุกกลุ่มจะมีการสรุปประเมินผลการเรียนรู้ในคาบถัดไป โดยการทำแบบทดสอบ ตอบคำถามแนวเลือกสรรนำไปใช้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์จากเนื้อเรื่อง
ผลลัพธ์
- นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างสนุกสนาน ระบบของเกมท้าทาย การใช้โชคเพื่อจั่วการ์ดและลำดับการวางการ์ดทำให้นักเรียนตื่นเต้นมาก เกิดทัศนคติที่ดีในการเรียนวิชาภาษาไทย ตอบสนองนักเรียนที่ชอบเล่นชอบทำกิจกรรมได้
- นักเรียนหลายกลุ่มคิดกติกาเสริมเพื่อความท้าทาย ทำให้เห็นพลังความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน เห็นการสื่อสารระหว่างผู้เล่น
- ผลลัพธ์ทางด้านความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาและทักษะการอ่านวิเคราะห์วรรณคดี ขึ้นอยู่กับลักษณะการนำไปใช้ ว่าใช้ก่อนเรียน หรือใช้เพื่อทบทวนหลังเรียน แต่ควรมีการเสนอเนื้อหาสำคัญก่อนเล่น และสรุปทบทวนหลังเล่น รวมถึงมีการประเมินนักเรียนตามจุดประสงค์การเรียนโดยใช้วิธีการต่างๆ