icon
giftClose
profile

การสร้างกติกาในห้องเรียน เพื่อสร้าง Empathy ระดับประถมปลาย

12935
ภาพประกอบไอเดีย การสร้างกติกาในห้องเรียน เพื่อสร้าง Empathy ระดับประถมปลาย

การเตรียมพร้อมนักเรียนชั้นป.5 เข้าสู่วัยรุ่น ครูเปี๊ยกจำเป็นต้องปูพื้นฐานให้นักเรียนทราบเช่นกันว่า นักเรียนที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จะมีลักษณะอย่างไร

ครูเปี๊ยกเริ่มด้วยการเปิดความสนใจนักเรียนด้วยคำถาม นักเรียนคิดว่าปัจจุบันอายุเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่เท่าใด นักเรียนสามารถตอบได้ว่า ราว 80 ปี แล้วถ้าเป็นอายุเฉลี่ยของมนุษย์ในอดีตล่ะ นักเรียนคาดเดาไปต่างๆ ครูเปี๊ยกบอกว่า อายุ 40 ก็เก่งแล้ว จากนั้นให้นักเรียนเดาสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ในอดีต อายุสั้น นักเรียนแลกเปลี่ยนได้ว่า เป็นเพราะ อาหารการกินยังไม่อุดมสมบูรณ์เท่าปัจจุบัน สงคราม โรคระบาด ความรู้ทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า รวมถึงการจัดการด้านสุขอนามัยที่ยังไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น

เมื่ออายุเฉลี่ยของมนุษย์ในอดีต อยู่ที่ 40 ปี เด็กๆ จึงต้องรีบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว ไม่ต่างกับสัตว์โลก อย่างสัตว์มีกีบ ที่เมื่อออกจากท้องแม่แล้ว ต้องยืนทันทีเพื่อให้สามารถหนีจากผู้ล่าได้ เด็กๆ ในอดีต อายุราวประถมปลาย 10-12 ปี ต้องเริ่มทำงานแบบผู้ใหญ่แล้ว รวมถึงการเริ่มสร้างครอบครัว เมื่อเทียบกับปัจจุบัน กว่าเด็กๆ จะได้เริ่มทำงานอย่างจริงจัง ก็ต้องขึ้นมัธยมปลายเป็นอย่างน้อย ไม่ต้องพูดถึงการสร้างครอบครัว ขนาดครูเปี๊ยกอายุใกล้ 40 ยังไม่มีลูกเลย

แต่เกณฑ์สำคัญที่บอกว่าเราเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว เป็นดังคำกล่าวของสไปเดอร์แมนที่ว่า “พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” ครูเปิดข้อห้ามต่างๆ ให้นักเรียนดูว่า ตอนนี้นักเรียนมีข้อห้ามในบ้านกี่ข้อ ซึ่งแต่ละบ้านอาจจะไม่เท่ากัน แต่เมื่อนักเรียนรับผิดชอบตนเองได้มากขึ้น ข้อห้ามเหล่านี้จะน้อยลง นั่นหมายความว่า คุณพ่อคุณแม่เริ่มวางใจว่านักเรียนกำกับตนเองได้ การกำกับตนเองได้มาก แสดงให้เห็นว่านักเรียนเริ่มโตขึ้น พร้อมก้าวเข้าสู่วัยรุ่นนั่นเอง

แต่วัยรุ่นก็เป็นพัฒนาการตามวัยด้วย หมายความว่าต่อให้นักเรียนยังกำกับตัวเองได้ไม่มาก แต่ภาวะวัยรุ่นก็ยังคงเกิดขึ้น หากเกิดภาวะวัยรุ่นแล้ว แต่ยังกำกับตนเองไม่ได้ ก็จะทำให้พ่อแม่ยังคงมีข้อห้ามกับนักเรียนมากมาย ทั้งๆ ที่นักเรียนจะเริ่มรู้สึกว่าอยากเป็นอิสระ เมื่อ 2 อย่างนี้ขัดแย้งกัน นักเรียนจะเป็นวัยรุ่นที่มีความทุกข์ พ่อแม่ก็ทุกข์ด้วย ครูในระดับชั้นที่สูงขึ้นก็จะทุกข์ด้วย ก็จะทุกข์ด้วยกันหมด ครูเปี๊ยกถึงต้องมาเตรียมความพร้อมของนักเรียนเข้าสู่วัยรุ่นตั้งแต่ตอนนี้

ภาวะวัยรุ่นในทางจิตวิทยา มี 4 อย่างที่ต้องทำ ดังนี้ (ให้นักเรียนลองสังเกตตนเองว่ามีข้อไหนแล้วบ้าง)

1)    สร้างอัตลักษณ์ ฉันอยากเป็นแบบไหนให้คนอื่นเห็น เช่น แต่งตัวก่อนออกจากบ้าน อยากเก่ง โดดเด่นเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

2)    สังกัดกลุ่มเพื่อน แก๊งค์เพื่อนกำลังสนใจสิ่งใด วันนี้จะไปไหนกัน

3)    สัมพันธ์คนรัก เขาหรือเธอ ทำไมไม่ตอบคำของเรา ทำไมเขาทำหน้าทำท่าทางเช่นนั้น คิดอะไรอยู่

4)    มองหาอนาคต อยากเรียนที่ไหน เลือกเรียนอะไรดี

ครูเปี๊ยกให้นักเรียนแลกเปลี่ยน ซึ่งนักเรียนบอกว่า แต่งตัวมี แคร์กลุ่มเพื่อนมี แซวเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มี อยากเรียนที่นั่นที่นี่ สรุป มีทุกข้อ แสดงว่าเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว แต่เรื่องกำกับตนเองก็เป็นอีกเรื่องนะ

ครูเปี๊ยกบอกว่า วัยรุ่นจะไม่ชอบให้ผู้ใหญ่บ่น จริงหรือเปล่า เด็กๆ ประสานเสียงว่าจริง งั้นครูเปี๊ยกจะ “ขอ” ตั้งกติกากับนักเรียนแค่ 2 ข้อ (ไม่ต้องเยอะ เพราะวัยรุ่นไม่ชอบ) ครูเปี๊ยกคัดเฉพาะ “แก่น” มาแล้ว สำหรับดูแลนักเรียนในปีการศึกษานี้ ได้แก่

1)    ต้องการให้นักเรียนกำกับตนเองให้ได้

2)    ต้องการให้นักเรียนมีเอ็มพาที หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ครูเปี๊ยกจะดูว่า หากครูเปี๊ยกดูแลนักเรียนชั้นป.5 อย่างที่วัยรุ่นต้องการ นักเรียนจะเป็นวัยรุ่นที่มาพร้อมความรับผิดชอบที่มากขึ้นได้หรือไม่

สุดท้าย ครูเปี๊ยกไม่ลืมที่จะปิดท้ายว่า “ครูเชื่อว่านักเรียนมี 2 ข้อนี้ได้ทุกคน พวกเธอเป็นได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้ ได้อย่างแน่นอน”


ตอนที่ 2 เรามาดูกันว่า การบ่มเพาะ เอ็มพาที ให้นักเรียนทำอย่างไร


หมายเหตุ

ภาวะวัยรุ่นในทางจิตวิทยา 4 อย่าง อ้างอิงจาก หนังสือ "วัยรุ่น 4.0 ทำความเข้าใจ มนุษย์วัยรุ่น" เขียนโดย นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ส่วนการนำเนื้อหามาปรับใช้ในห้องเรียน เป็นครูเปี๊ยกประยุกต์เอง หากเกิดความเข้าใจผิดประการใด เป็นความรับผิดของครูเปี๊ยกผู้เดียว

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(2)