icon
giftClose
profile

เรียนคณิต 1 วัน กับเครื่องบินกระดาษ

9820
ภาพประกอบไอเดีย เรียนคณิต 1 วัน กับเครื่องบินกระดาษ

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

การเรียนคณิตศาสตร์ ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

คุณครูสามารถเปลี่ยนบรรยากาศของห้องเรียนให้น่าสนุกเพิ่มขึ้น โดยพานักเรียนทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูล

เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาสร้างฮิสโทแกรม

โดยสิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ คือ ความสนุกสนาน ความคิดสร้างสรรค์ และแนวคิดต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่จำเจเพียงแต่อยู่ในห้องเรียน

ขั้นตอน

ในคาบเรียนก่อนหน้า คุณครูอาจจะสอนเกี่ยวกับฮิสโทแกรม และการสร้างฮิสโทแกรม ซึ่งมีช่วงของข้อมูล หรือ อันตรภาคชั้น เป็นจำนวนเต็มมาก่อนแล้ว


ในคาบนี้ จะเป็นการดำเนินกิจกรรม ที่นักเรียนจะต้องเก็บข้อมูลจากเครื่องบินกระดาษของตนเอง และของเพื่อนในห้อง เพื่อนำมาสร้างเป็นฮิสโทแกรม โดย นักเรียนจะสังเกตว่า ช่วงของข้อมูลในครั้งนี้ จะเป็นจำนวนซึ่งเป็นทศนิยม ต่างจากการสร้างฮิสโทแกรม ในคาบเรียนก่อนหน้า


โดยครูดำเนินกิจกรรมดังนี้

  1. ครูให้นักเรียนพับเครื่องบินกระดาษ คนละ 1 เครื่อง จากกระดาษ A4 1 แผ่น (นักเรียนสามารถสืบค้นข้อมูลวิธีการพับได้, หรือในห้องที่มีนักเรียนชายจำนวนมาก เราจะเห็นพวกเขาเป็นที่พึ่งให้กับเพื่อนผู้หญิง ในการสอนเพื่อนพับรูปแบบต่าง ๆ, ในขั้นตอนนี้ คุณครูอาจจะให้นักเรียนเตรียมเครื่องบินมาจากบ้านก็ได้ นักเรียนจะได้มีเวลาออกแบบเครื่องบินของตนเองได้เต็มที่)
  2. ครูอธิบายกติกาในการร่อนเครื่องบินกระดาษว่า เราจะทำการร่อนเครื่องบิน และจับเวลาที่เครื่องบินบินได้ โดยเราจะทดลองบินคนละ 5 รอบเท่านั้น และให้นักเรียนบันทึกเวลาที่บินได้ และนำกลับมารายงานที่ห้องเรียน (โดยครูจะต้องกำหนดเวลาทดสอบบินให้นักเรียนว่าเราจะบินแค่คนละประมาณ 10 นาทีเท่านั้นนะ เพื่อเป็นการรักษาเวลา)
  3. จากนั้นเราก็จะพานักเรียนของเราไปทดสอบบิน โดยแนะนำให้ใช้เป็นพื้นที่เปิดกว้าง โล่ง ๆ เพื่อที่เครื่องบินกระดาษจะได้ไม่ชนกำแพง หรือเพดานต่าง ๆ
  4. ในระหว่างที่นักเรียนทดสอบบิน คุณครูจะเป็นผู้สังเกตการณ์ และย้ำเรื่องการบันทึกเวลาให้แก่นักเรียน เราจะเห็นว่านักเรียนบางคนมีการปรับสมดุลของเครื่องบินเมื่อพบว่าเวลาที่ทำได้ค่อนข้างจะสั้น นักเรียนบางคนมีการดูทิศทางของลมก่อนที่จะร่อน และบางคนก็ปรับเครื่องบินให้สามารถบินกลับมาหาตนเองได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องวิ่งไปเก็บไกล ซึ่งเรื่องเล่านี้ทำให้เราเห็นความสามารถในด้านต่าง ๆ ของนักเรียนที่บางคนไม่ค่อยแสดงออกมาในคาบให้เราเห็น
  5. เมื่อครบเวลาที่กำหนด คุณครูจะต้องแจ้งนักเรียนให้กลับมาที่ห้องเรียน (โดยอาจจะกำหนดว่า ใครกลับมาห้องคนสุดท้ายจะต้องเป็นพนักงานรักษาความสะอาดของสนามบิน--> เก็บขยะบริเวณพื้นที่ที่เราทำกิจกรรม)
  6. จากนั้นครูจะสอบถามถึงเวลาที่นักเรียนบันทึกได้ โดยให้นักเรียนรายงานผลเวลาที่ร่อนเครื่องบินได้นานที่สุดจากทั้งหมด 5 ครั้งที่ทดสอบ และให้นักเรียนบันทึกผลเวลาของเพื่อนแต่ละคนลงในตารางที่ 1
  7. ครูและนักเรียนร่วมกันหาพิสัยของการทำกิจกรรมในครั้งนี้ พิจารณาหาความกว้างของอันตรภาคชั้น และแบ่งช่วงของข้อมูลตามใบกิจกรรมประกอบ
  8. จากนั้นคุณครูให้นักเรียนสร้างฮิสโทแกรมของระยะเวลาของการร่อนเครื่องบินกระดาษของห้องนักเรียนลงในใบกิจกรรม โดยมีคุณครูคอยแนะนำ
  9. ขั้นสรุป จะเป็นการกล่าวถึงฮิสโทแกรมของข้อมูลที่เป็นทศนิยม การหาขอบบน ขอบล่าง และจุดกึ่งกลางชั้น และให้นักเรียนพิจารณาเปรียบเทียบกับฮิสโทแกรมของข้อมูลที่เป็นจำนวนเต็ม ว่ามีรูปแบบแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

ผลลัพธ์ที่เกิด หรือ คาดว่าจะเกิดขึ้น

นักเรียนได้ฝึกใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นรูปแบบของการพับเครื่องบินเพื่อให้บินได้นาน

นักเรียนได้ฝึกทักษะการใช้นาฬิกาจับเวลา

นักเรียนมีการช่วยเหลือกันในห้อง เช่น ช่วยกันพับกระดาษ ช่วยกันจับเวลา เป็นต้น

นักเรียนฝึกความคิดสร้างสรรค์ ในการปรับรูปแบบของเครื่องบินให้บินได้นาน และบางคนก็มีการตกแต่งเครื่องบินด้วยลวดลายต่างๆ

ฝึกความซื่อสัตย์ ในการรายงานผลการทำกิจกรรม ฝึกความรับผิดชอบ ในการเก็บเครื่องบินของตนเมื่อทดลองเสร็จ ฝึกความตรงต่อเวลาในการทำกิจกรรม

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

คุณครูอาจจะให้นักเรียนคนที่ทำเวลาในการบินเครื่องบินกระดาษได้นานที่สุด อธิบายเหตุผล หรือเคล็ดลับ ในการพับเครื่องบินของตนเอง และอาจเชิญคุณครูวิทยาศาสตร์มาร่วมออกแบบบทเรียนเพิ่มเติม เพื่อบูรณาการความรู้เกี่ยวกับแรงลอยตัว แรงต้านอากาศ เป็นต้น


เพิ่มเติม (8 ธันวาคม 2566)

จากที่ลอง

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: กิจกรรม เครื่องบินกระดาษ.docx

ดาวน์โหลดแล้ว 48 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(1)