icon
giftClose
profile

แอบส่องห้องเรียนครู ใช้เกมออนไลน์ทำอะไรกันบ้าง?

3270
ภาพประกอบไอเดีย แอบส่องห้องเรียนครู ใช้เกมออนไลน์ทำอะไรกันบ้าง?

🌟 ได้ยินมาบ้างเรื่องการใช้ “เกมออนไลน์”

เเต่ยังไม่ชัวร์ จะเอามาใช้กันยังไงดี

จะออกแบบ ทำยังไงให้เป็นธรรมชาติ

ไม่ฝืนทั้งเรา และตัวนักเรียนเอง

เเล้วยังตอบเป้าหมายที่เราตั้งใจได้อีก


insKru ขอเสนอ Teacher Story

รวมเรื่องราวการนำเกมออนไลน์มาปรับใช้

ช่วยอะไรคุณครู 3 คนนี้ได้บ้าง ไปดูกัน !


🚨 หลักสูตรห้องเรียนอีสปอร์ต 40 ชั่วโมง

ที่ได้รับการพัฒนาจาก Garena Academy

แหล่งการเรียนรู้จากตัวจริง ในอุตสาหกรรมเกม และอีสปอร์ต

มีสไลด์ประกอบการสอนของแต่ละคาบวิชาให้ด้วย

นำไปปรับใช้สร้างสรรค์การเรียนรู้ในห้องเรียนได้เลย

https://seaacademy.co/program_type/esports-classroom/


👩🏻‍💻 “ช่วงเเรก ๆ ที่เริ่มสอน เรารู้สึกว่าเข้ากับเด็กยังไม่ค่อยได้ ตอนที่ให้เด็กแนะนำตัว เราก็ถามว่าเล่นเกมอะไรกัน อาจเพราะว่าเราเองเคยเป็นเกมเมอร์จริงจังเลยนะ ชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็ก ๆ พอเราคุยเรื่องเกม มันทำให้ผ่อนคลายมากขึ้น จนมีวันหนึ่งที่เขาชวนเล่นเกม เลยแลกคอนแทคกัน เล่นเกมกันทุกวันหลังเลิกเรียน ตอนเล่นก็แฮปปี้ มีความสุข เพราะเด็ก ๆ เองก็ไม่ได้เกร็งว่านี่เป็นครูนะ หรือเราก็ไม่ได้ถือตัวว่าแบบว่าเราเป็นครู เดี๋ยวเขาก็จะ “ ‘จารย์มาตรงนี้หน่อย” อะไรอย่างนี้ คุยกันทุกวันสนุกดี”


“เรื่องที่พีคเรื่องนึงเลยคือ ตอนที่เราเล่นเกมอยู่ ก็มีนักเรียนทักมาว่า “พรุ่งนี้อาจารย์จะสอนอะไรนะครับ” “พรุ่งนี้จะให้เตรียมตัวอะไรหรือเปล่า” เราก็ถามว่า “ตามมาในเกมเลยหรอ สุดยอด กำลังยิงอยู่เลย” (หัวเราะ) เขาก็ขำ เพื่อนเขาก็ขำ เป็นความสัมพันธ์หลังเลิกเรียนที่ไม่ได้รู้สึกว่ากระทบอะไร รู้สึกว่าเบาใจ เวลาเจอกันในโรงเรียนก็ทำให้เรามีเรื่องคุยกันมากขึ้น”


“การเล่นเกมเเล้วสนิทกับนักเรียนมันดีนะ เราได้สอนโดยไม่รู้สึกเกร็ง หรือทำตัวไม่ถูก บรรยากาศเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง เหมือนพี่คนหนึ่ง ที่ยืนอยู่หน้าห้อง บอกสิ่งดี ๆ ทำให้ผ่อนคลาย เด็กจะแฮปปี้โดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องบอกว่าเธอต้องฟังฉันนะ เธอห้ามพูดอย่างนี้นะ จริงๆ แล้วเหมือนเขารู้ใจเราด้วยว่าตอนนี้เราซีเรียสนะ ถ้าเราสอน ๆ เเล้วเงียบ เด็กคนที่เล่นเกมกับเรา จะไปเตือนเพื่อน ๆ คือเหมือนเราสนิทกับเด็กแล้ว เขาได้เรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึกของเราไปด้วย”


เรื่องเล่าจากครูตุ๊มหม่ง-อธิชา ปิยะกมลนิรันดร์ โรงเรียนบางมดวิทยา (สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์)


🎨 “เราสอนศิลปะ ช่วงชั้น ม.2 ถ้าดูตัวชี้วัดของกระทรวง จะมีเรื่องการวางแผนจัดนิทรรศการศิลปะอยู่ เราก็อยากออกแบบกิจกรรมที่เป็นยุคสมัยของเขา จะได้สนใจเเละมีส่วนร่วมกัน พอดีไปเจอหลักสูตรอีสปอร์ตมา เลยเลือกบางหน่วยการเรียนรู้มาใช้ และเปลี่ยนจากการจัดนิทรรศการศิลปะให้เป็นการจัดอีเวนท์การแข่งขันอีสปอร์ต แบ่งฝ่ายนักเรียนเป็น 5 ฝ่ายเหมือนที่ Garena ออกแบบไว้เป็น นักพากย์ โค้ช ทีมถ่ายทอดสด นักข่าว และทีมประสานงาน เอามาออกแบบให้เป็นการสอน 15 สัปดาห์ เป็นโปรเจคต์ยาวทั้งเทอม แล้วให้เขาจัดงานแข่งขันขึ้นมาด้วยตัวเอง ร่วมสะท้อนผลเป็นการเรียนรู้ของเขาเองครับ”


“ในคาบเรียนทุกคนจะได้เรียนเนื้อหาของ 5 ฝ่าย พอถึงวันจริงก็จะให้เลือกฝ่าย และทดลองทำงานจริง ๆ เช่น ประชาสัมพันธ์ ขอสปอนเซอร์ ทำถ่ายทอดสด อะไรอย่างนี้ครับ นอกจากนี้ก็มีการเชิญให้ SunWaltz มาเป็นวิทยากรให้ มันก็เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กว่า ต้องทำอะไรบ้าง เขาจะได้ทักษะการจัดการตัวเอง ทักษะการทำงานร่วมกัน และมีความรับผิดชอบเพื่อให้โปรเจคนี้สำเร็จได้ เขาต้องฝึกสกิลต่าง ๆ อันนี้จะตรงกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่บอกไปตอนเเรก”


“ถ้าถามว่าทำไมต้องลองให้ทำเอง จริงจังขนาดนี้ เพราะเขารู้ได้ครับ มนุษย์เนี่ยมีเซนส์นะว่าเราทำเล่น ๆ แค่พอผ่าน ๆ เลคเชอร์แล้วก็ฟังแห้ง ๆ ไปก็จะได้ความรู้แค่ผิวเผินแค่จำได้ แต่ถ้าเทียบกับ Bloom's Taxonomy คือเราอยากให้ได้คิดวิเคราะห์ หรือสร้างสรรค์ของตัวเองได้ เราเลยต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมเขากับการลงมือทำจริง เขาจะได้มากกว่าแค่จำได้ จะรู้สึกว่ามันมีหลายคนที่ทำกว่างานสำเร็จ สุดท้ายแล้วมันจะเป็นความทรงจำที่เราได้ทำร่วมกันกับเพื่อน เป็นเรื่องราวเรื่องเล่าต่อ ๆ ไป”


เรื่องเล่าจากครูเข้ม-พิสิฐ น้อยวังคลัง โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


🎮 “จุดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรมแข่งขันอีสปอร์ตที่โรงเรียน เริ่มเมื่อประมาณ 5 - 6 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเกิดจากนักเรียนได้สร้างนโยบาย เพื่อหาเสียงไว้ เลยได้จัดขึ้นมาจริงจังครั้งแรก ช่วงแรก ๆ ก็ได้รับความคิดเห็นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ช่วงนั้นยังมีมุมมองต่อการเล่นเกมว่า เป็นสาเหตุของการทำให้เสียการเรียน ทำให้นักเรียนแบ่งเวลาไม่เป็น ผู้ปกครองและคุณครูบางส่วนเห็นข่าวสารต่าง ๆ จากสื่อโซเชียลเกี่ยวกับปัญหาการติดเกม แต่เราก็แบกรับแบกสู้ตรงนั้นเพราะเป็นความต้องการของเด็ก ๆ “


“สิ่งที่คาดหวังจากกิจกรรมนี้อย่างหนึ่ง คืออยากให้นักเรียนเห็นมิติอื่น ๆ ของวงการเกมมากขึ้น ได้รับรู้มุมมองในองค์ประกอบของเกมมากกว่าการถ่ายทอดในมุมผู้เล่นอย่างเดียว กว่าจะมาเป็นเกมหนึ่งเกม ต้องผ่านการออกแบบเนื้อเรื่อง การดีไซน์ภาพ ออกแบบเสียงประกอบ สร้างตัวละคร ในทุกปีที่ผ่านมามองว่ายังไม่ได้รับการนำเสนอมากเท่าไหร่ เพราะนักเรียนจะจัดกิจกรรมที่เน้นถ่ายทอดไปในมุมผู้เล่นอย่างเดียว จึงอยากชวนมองเป็นเรื่องของการเข้าศึกษาต่อ เป็นการประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการเกมต่อไปได้ในอนาคต”


“ถึงบางครั้งกิจกรรมจะไม่ราบรื่น เราก็ยังอยากสนับสนุนให้พวกเขาได้ทำตามความฝันที่นอกเหนือจากการเรียน ให้ได้ผ่อนคลาย จากกิจวัตรที่พวกเขาทำอย่างเดียวในทุก ๆ วัน ได้ปรับอารมณ์ เครียดน้อยลง และมีอย่างอื่นให้พวกเขาทำมากขึ้น อีกสิ่งที่ทำให้เราทำกิจกรรมนี้ต่อไปร่วมกับนักเรียนคือ อยากให้เกิดเป็นแนวทางในการให้พวกเขาเห็นลู่ทางของการเรียนต่อเพิ่มขึ้น เพราะอย่างที่บอกไปว่ามิติของเกมมันมีอะไรมากกว่าการเป็นเพียงแค่ผู้เล่น เลยอยากทำกิจกรรมนี้ต่อไปให้นักเรียนเกิดความคิดต่อยอดต่อไป”


เรื่องเล่าจากครูอุดม-อุดม ทองผาย โรงเรียนสายปัญญารังสิต

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)