icon
giftClose
profile

เส้นทางยังอีกไกล…ครูบรรจุใหม่เริ่มหมดไฟ ทำไงดี?

5890
ภาพประกอบไอเดีย เส้นทางยังอีกไกล…ครูบรรจุใหม่เริ่มหมดไฟ ทำไงดี?

บ่อยครั้งที่หลายคนก้าวเข้าสู่ระบบโรงเรียนในฐานะครูบรรจุใหม่ พร้อมกับการมีไฟ อยากลงมือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ในโรงเรียน ทั้งการสอน กิจกรรมนอกชั้นเรียน โครงการต่าง ๆ แต่แล้วไฟที่เคยมีก็ค่อย ๆ มอดดับลง เมื่อในที่ทำงานทำให้ตัวเองรู้สึกแปลกแยกทางความคิด จนค่อยๆรู้สึกว่า อาจไม่มีใครที่กำลังทำสิ่งเดียวกับที่เราทำอยู่เกิดเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นมา รวมถึงระบบราชการที่ลดคุณค่าการสอนลง นานเข้าเราก็ถูกกลืนหายไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ชินชา และทำตามสิ่งที่คนก่อนหน้าทำมา

จะทำอย่างไร เมื่อรู้สึกโดดเดี่ยวในการทำสิ่งต่าง ๆ ในโรงเรียน แต่เราก็ยังอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ ยังไม่อยากถูกกลืนหายไปกับระบบ แนวทางวิธีการที่จะเขียนบอกเล่าต่อไปนี้ อาจไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่เป็นทางออกได้เสียหมด เป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งจากการทำงานที่อยากนำมาแชร์ เป็นเรื่องเล่าความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง


มองหาเพื่อนร่วมทาง

ความโดดเดี่ยวทำให้เราหมดไฟไปแบบไม่รู้ตัว เพราะไม่สามารถพูดแลกเปลี่ยน หรือระบายความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับการสอนในแต่ละวันได้ แต่ถ้าหากมีเพื่อนร่วมงานที่คอยเป็นคู่คิด คอยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จะทำให้ไฟที่มีอยู่ยังไม่มอดดับลงโดยเร็ว อาจลองฝันใหญ่ จินตนาการกันได้ เช่น เรามีไฟตั้งใจอยากสอนวิชาสังคมศึกษาให้ต่างไปจากเดิม ไม่ใช่การมาให้นักเรียนจดตามหรือลอกหนังสือส่งครู เราอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้จากตั้งคำถามและแลกเปลี่ยน จึงสนใจเตรียมการสอนรูปแบบต่าง ๆ ไปสอน บางวันก็ล้มเหลว บางวันก็ดี เมื่อกลับมาห้องพักทำงาน แล้วมีเพื่อนให้เราได้แลกเปลี่ยนถึงการสอนแต่ละครั้ง ก็ช่วยให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมีความหมาย และมีคุณค่าอยู่

การมองหาเพื่อนสักคนที่มีจุดร่วมบางอย่างกับเรา อย่างน้อย ๆ เขาและเราจะเป็นพื้นที่ของความสบายใจที่เราจะพูดคุย แลกเปลี่ยน ให้กำลังใจ และไว้ใจซึ่งกันและกัน แน่นอนว่า บางครั้งการจะหาเพื่อนคู่คิดอาจเป็นเรื่องยากเช่นกัน (หากไม่รู้จักกันมาก่อน) ในโรงเรียนเรามักไม่มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องการสอนเท่าไหร่นัก หากจะมีก็เป็นเพียงชั่วโมงบังคับอย่าง PLC ที่ให้ครูได้มาพูดคุยกัน แต่หลายครั้ง PLC เหล่านั้นก็กลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการมาชี้แจงวิธีทำเอกสารเป็นหลัก มันจึงเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะมองเห็นว่าใครกำลังมีจุดยืนร่วมกันกับเรา

การได้ยินจากนักเรียนจึงอาจเป็นช่องทางสำคัญ ที่ช่วยให้เรามองเห็นคนที่มีจุดยืน หรือมีความฝันเช่นเดียวกับเรา เช่น นักเรียนที่เราสอน อาจบอกเล่าว่า วิธีการสอนของเรา คล้าย ๆ กับครูอีกคนที่เขาเรียนด้วย หรือเคยเรียนมา เมื่อเราได้ยินเช่นนี้ เราอาจหาเวลาว่างเข้าไปทักทาย พูดคุย และบอกเล่าสิ่งที่เรากำลังคิดกำลังทำก็ได้ หรือการมองไปหาเพื่อนเก่า ๆ ที่เคยเรียนด้วยกันมา แม้จะอยู่ต่างโรงเรียนกันในตอนนี้ แต่ได้พูดคุยในทุก ๆ สัปดาห์ ก็อาจเป็นอีกทางที่ทำให้ความโดดเดี่ยวได้คลี่คลายลงบ้าง และเกิดพื้นที่สำหรับบอกเล่าระหว่างกันได้เช่นกัน


สร้างวงเล็กๆพูดคุยกัน ขยายแนวร่วม

เมื่อเรามีเพื่อนร่วมทางไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เรารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุย แต่ถ้าอยากให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน อาจต้องอาศัย “พื้นที่ไม่เป็นทางการ” หรือวงคุยเเบบธรรมชาติๆ ให้เราและเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอยู่สม่ำเสมอ วงเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากคำสั่งตราครุฑ แต่เป็นวงที่เกิดจากการนัดหมายร่วมกันอย่างสมัครใจและยืดหยุ่น

เมื่อแต่ละคนต่างมีจุดยืนร่วมกัน เช่น อยากพัฒนาการสอน อยากสร้างห้องเรียนเชิงบวก เป็นต้น เราอาจมีการกำหนดประเด็นร่วมกันก่อนว่า อยากพูดคุยในหัวข้อไหนร่วมกัน หรือมีประเด็นปัญหาอะไรที่อยากบอกเล่า ระบาย จากนั้นก็นัดหมายเวลาที่แต่ละคนมาร่วมกันได้ เช่น คาบสุดท้ายของวัน หรือหลังเลิกเรียนในวันพฤหัส

หากอยากให้การแลกเปลี่ยนเป็นมากกว่าแค่นั่งพูดคุย อาจลองใช้การ์ดภาพ หรือเครื่องมือต่างๆ (ซึ่งสามารถหาดูได้ใน inskru) เข้ามาร่วมด้วย การแลกเปลี่ยนก็จะดูมีชีวิตชีวามากขึ้น มากไปกว่านั้น ในวงคุยรูปแบบนี้ยังสามารถเป็นพื้นที่ทดลองระหว่างกันได้ เช่น เพื่อนครูคนหนึ่ง กำลังวางแผนจะสอนเรื่องอวกาศ เขาจึงคิดการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม จึงได้ชวนเพื่อนร่วมทางมาเป็นนักเรียนทดลอง และให้ข้อเสนอแนะก่อนไปสอนจริงในห้องเรียน เป็นต้น

เมื่อมีการพูดคุยอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน ความสัมพันธ์นี้ก็จะไปในทิศทางบวก ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่เติมไฟให้แก่กัน ทำให้ความโดดเดี่ยว แปลกแยกก็จะน้อยลง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากการเชิญชวนให้เพื่อนครูที่มีบางอย่างร่วมกัน ได้เข้ามาในวงไม่เป็นทางการแบบนี้มากขึ้น ในตอนแรกเราอาจมีเพียง 2-4 คน แต่เมื่อมีการพูดคุยชักชวน กลุ่มก็อาจขยายใหญ่ขึ้น และนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนไปในวงกว้างขึ้นได้เช่นกัน


สร้างความท้าทาย

เมื่อความรู้สึกโดดเดี่ยวหายไป กลายเป็นพลังงานที่อยากจะเปลี่ยนแปลงร่วมกัน เกิดเป็นความรู้สึกอยากจะท้าทายสิ่งเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ในโรงเรียนเสียใหม่ เช่น การร่วมกันเสนอตัวอย่างแผนการสอนหน้าเดียว แทนที่ต้องทำจำนวนมากเป็นเล่ม ๆ หรือกิจกรรมวันไหว้ครู ที่ปกติอาจมีพิธีกรรมแสดงความเคราพ ก็อาจมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานให้นักเรียนได้เขียนจดหมายบอกเล่าความรู้สึกถึงครู เพื่อให้ครูอ่านและนำไปพัฒนาการสอนของตัวเอง เป็นต้น

การทำโปรเจคอะไรร่วมกันบางอย่าง จึงเป็นสิ่งที่มากกว่าแค่การเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียนที่แต่ละคนสอนแต่ยังช่วยยืนยันว่า พวกเราในฐานะครู สามารถการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับต่าง ๆ ได้จริง ไม่จำเป็นต้องก้มหน้ายอมรับกับระบบวัฒนธรรมที่เป็นอยู่เพียงอย่างเดียว ไม่แน่นะว่า การเปลี่ยนแปลงอาจขยายไปสู่สเกลระหว่างโรงเรียน ร่วมกันเพื่อทำบางอย่าง เช่น แทนที่จะมีการจัดวงเล็ก ๆ พูดคุยแบ่งปันการสอนในเฉพาะโรงเรียน อาจมีการเชิญชวนครูในระแวกใกล้เคียงกันมาพูดคุยกัน


สุดท้ายแล้วการหมดไฟเกิดจากอะไรกันแน่ ?

ภาวะความโดดเดี่ยว การหมดไฟ หรือความรู้สึกแย่ในการทำงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมองลึกไปถึงโครงสร้างที่เป็นอยู่ว่า กำลังกระทำอย่างไรต่อเราแต่ละคน ระบบกำลังทุบตีความฝัน หรือดับไฟในตัวของเราอยู่หรือไม่

การรวมตัวกันเล็ก ๆ ในโรงเรียน จากจุดร่วมบางอย่าง หรือรวมตัวระหว่างโรงเรียนร่วมกัน อาจเป็นหนึ่งในอีกทางที่จะเป็นวิธีการระยะสั้นที่ทำเราให้ยืนหยัด จะเปลี่ยนแปลงระบบ และอาจเป็นในระยะยาว ที่จะเกิดการสร้างขบวนการต่อสู้ เช่น สหภาพครู เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่แท้จริงต่อไป

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)