เคมีเป็นวิชาที่เป็นนามธรรมสูงมาก เด็กๆชอบถามผมเสมอว่า "เรียนไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร" ผมก็จะตอบเด็กๆว่า "รอก่อนครับเดี๋ยวก็รู้ว่าเรียนไปทำไม" วันนี้ขอเสนอการนำข่าวในชีวิตประจำวันมาประยุกต์กับการสอน เพื่อให้เด็กๆเห็นคุณค่า และ เอาตัวรอดในเหตุการณ์นั้นๆได้ ยังไม่พอ.. ยังทำให้เด็กๆมีภูมิความรู้ที่ดีและแสดงเหตุผลต่างๆอย่างผู้มีวิจารณญาณได้อีกด้วย
จำข่าวการหายไปของซีเซียม-137 กันได้ใช่ไหมครับ ทุกคนตื่นตระหนกกันหมด ทั้งวัยผู้ใหญ่ วัยเด็กนักเรียน ผมเลยหยิบนำเอาเหตุการณ์นี้มาสอนด้วยวิธีสอนแบบ "บริบทเป็นฐานโดยใช้ข่าวเป็นสื่อ" หรือ การสอนแบบประสบการณ์ก็เข้าข่ายเช่นกันครับ อยากให้นักเรียนไม่ตระหนกแต่จงตระหนักว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้จะดูแลตัวเองอย่างไร และมีอื่นๆตามมาอีกมาเลย ไปศึกษารายละเอียดกันครับ
1. เริ่มต้นจากผมได้สร้าง Question ใน Classroom เกี่ยวกับ ข่าว ในหัวข้อกัมมันตภาพรังสี เด็กๆเสริชหาข่าวและสรุปสาระสำคัญพร้อมตอบคำถามตามที่ผมตั้งไว้ไม่จำกัดขอบเขตซ้ำกันได้รายบุคคลให้วิเคราะห์ตามประเด็นดังภาพ สิ่งที่น่าตกใจคือ มีเด็กๆบางส่วน ไม่รู้สึกอะไรเลยกับข่าวที่หามา ทั้งๆที่ข่าวนั้นแสดงความเป็นอันตรายมากๆหากเกิดใกล้ตัวเรา หรือบอกว่าถ้าเจอข่าวนี้จะแชร์ส่งต่อเลย คำถามคือ "แล้วถ้ามันเกิดขึ้นในบ้านเราหล่ะ เด็กๆจะดูแลตัวเองยังไง" "ถ้าข่าวนี้เป็นข่าวปลอมหล่ะ หรือ จะแชร์ส่งอย่างเดียวเลยไหม" นี้แหละครับผมเลยคิดว่าต้องหยิบมาสอน เพราะมันไม่ใช้มุ่งเน้นแค่พัฒนาผลสัมฤทธิ์แต่ยังพัฒนาทักษะอื่นๆและกระบวนการอื่นๆที่สำคัญได้อีกด้วย
(สำหรับการเรียนการสอน จะใช้ 2 คาบเรียน และแบ่งกลุ่มเพื่อพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน)
คาบที่ 1 (เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายของคำว่าครึ่งชีวิต และ นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้)
2. จากนั้นผมก็จะพูดคุยกับข่าวที่เด็กๆหามา แล้วผมก็จะนำเข้าสู่เนื้อหาภายในบทเรียนในรายวิชา เคมี เล่ม 1 บทที่ 2 อะตอมและสมบัติของธาตุ เรื่อง ธาตุกัมมันตรังสี โดยนำข่าวการหายไปของซีเซียม-137 เปิดประเด็นในห้องด้วยคลิปวิดิโอที่ผมจัดทำขึ้นมาเอง
ภายในคลิปจะมีนักวิชาการพูดว่า "ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30 ปี" ก็เลยตั้งคำถามกับเด็กๆว่า "คำว่า ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30 ปี หมายความว่าอะไร" ก็มีนักเรียนตอบเข้าข่าย แต่ส่วนใหญ่จะไม่เข้าค่าย อีกทั้งมีผู้คนในโลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความคิดที่บิดเบือน (ตามภาพ) สิ่งนี้ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้มากขึ้น ครูผู้สอนก็ต้องการให้นักเรียนเป็นสะพานความรู้ที่จะส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง
3. เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความหมายของคำว่าซีเซียม-137 ที่ถูกต้อง ครูก็จะให้นักเรียนเข้าสู่กระบวนการกลุ่ม จับกลุ่มกลุ่มละ 4-5 คน โดยใช้สื่อการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Simulation) การศึกษาการสลายตัวของเหรียญ https://javalab.org/en/half_life_period_en/ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจคำว่าครึ่งชีวิตมากขึ้น โดยในขั้นตอนนี้ ครูจะเป็นผู้ดำเนินรายการดำเนิน Simulation ให้ เพราะผู้เรียนบางกลุ่มอินเทอร์เน็ตไม่พร้อม และ ครูจะให้กิจกรรมกลุ่มสนุก และ ส่งเสริม Active Learning โดยการเก็บแต้มรายกลุ่ม
นักเรียนแต่ละกลุ่มจะต้องช่วยกันระบายสีลงในกระดาษของตน และ วาดกราฟให้ถูกต้อง (ทักษะการจัดกระทำข้อมูล) โดยที่กลุ่มไหนระบายสีเสร็จก่อนให้ยกมือขึ้น ! เพื่อรับคะแนน ดังนั้นนักเรียนจะต้องช่วยกันระบายและช่วยกันนับเหรียญที่ปรากฎบนหน้าจอ (ส่งเสริมทักษะกระบวนการกลุ่ม)
4. ครูก็ถามคำถามอีกครั้งว่า "ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30 ปี หมายความว่าอย่างไร" เพื่อเป็นการตรวจสอบความเข้าใจ และรอบนี้นักเรียนส่วนใหญ่ตอบถูกต้อง 100% แล้ว นั่นคือ "ระยะเวลาที่ซีเซียม-137 ใช้ในการสลายตัวลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 30 ปี" เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่านักเรียนมีความเข้าใจในคำว่าครึ่งชีวิตแล้ว ครูจึงเสนอแนะเพิ่มเติมว่า "ถึงแม้ครึ่งชีวิตของกัมมันตภาพรังสีจะยาวนาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่อันตราย ในทุกๆวันมันยังคงปล่อยรังสีออกมาเสมอ เพียงแค่ปล่อยมาในปริมาณน้อย ซึ่งร่างกายอาจทนได้หรือทนไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับความแรงของรังสีที่แผ่ออกมา" และควร "คิดก่อนแชร์ ก่อนแสดงความคิดเห็นใดๆ หากพบเจอข้อมูลที่ผิดพลาดนักเรียนต้องช่วยแก้ไขให้ถูกต้อง"
5. ครูชี้ให้เห็นว่า "จากข่าวที่นักเรียนหามา รวมถึงข่าวที่ครูเปิดให้ดูเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี จะนำเสนอในมุมมองของผลเสียที่เกิดขึ้น แต่หารู้ไม่ว่ามันเองก็มีข้อดีเช่นกัน" ครูใช้กลุ่มเดิมให้นักเรียนสืบค้นจากแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ว่า ข้อดี-ข้อเสีย จากสารกกัมมันตภาพรังสีมีอะไรอีกบ้าง และดำเนินการสอนแบบ Active Learning เช่นเดิม
6. ท้ายคาบที่ 1 ครูสรุปความรู้ และ ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มตกลงข่าวกัมมันตภาพรังสีที่นักเรียนแต่ละคนหามาว่าจะเอาข่าวของใคร เพื่อใช้ในกิจกรรมคาบถัดไป
คาบที่ 2 (เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่เกี่ยวกับรังสีในสถานการณ์ต่างๆได้)
1. เริ่มต้นจากครูเริ่มกิจกรรมกลุ่มเลย ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มระดมสมองเกี่ยวกับข่าวที่นักเรียนตกลงเลือก และให้ร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นดังนี้ 1) ปัญหา 2) สาเหตุ 3) ผลกระทบต่อบุคคล สิ่งแวดล้อม 4) วิธีดูแลตนเองเบื้องต้น
(ตัวอย่างผลการบันทึกกิจกรรม)
2. จากนั้น ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมา Present หน้าห้อง ว่าสาระสำคัญของกลุ่มตนเองเป็นอย่างไร และ จะเอาตัวรอดด้วยการป้องกันตัวเองได้อย่างไร และยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร
จากกิจกรรมที่ให้นักเรียนร่วมกันระดมสมองกันภายในกลุ่ม พบว่า นักเรียนแต่ละกลุ่มสามารถเสนอแนวทางในการดูแลตนเองและป้องกันตนเองได้เหมาะสม เช่น อยู่ให้ห่างจากที่เกิดเหตุ สวมใส่หน้ากากอนามัย และ ดูแลความสะอาดร่างกายตนเอง เป็นต้น ซึ่งจากกิจกรรมครูผู้สอนยังไม่ได้ทำการสอนแต่อย่างใด แต่นักเรียนสามารถพบสาระสำคัญของการป้องกันตนเองจากภัยรังสีในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
3. ครูผู้สอนก็จะสรุปรวบยอดความคิดเกี่ยวกับวิธีดูแลตนเอง
4. ทบทวนความรู้บทเรียนด้วยการถามตอบ และให้นักเรียนประเมินตนเอง
-----------------------------------------------------------
จากเนื้อหาสาระข้างต้นที่ผมได้แบ่งปันไอเดียมีประโยชน์พอสมควร เพราะได้เห็นรอยยิ้มระหว่างทำกิจกรรม และได้ฝึกให้นักเรียนได้วิเคราะห์ข่าวจากภัยรังสีต่างๆ และเสนอแนวทางในการดูแลตนเองเมื่อรังสีรั่วไหลอย่างมีวิจารณญาณได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เช่น ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้สื่อ Simulation ค้นหาข้อมูลข่าวสาร , ทักษะการเรียนรู้ เช่น การได้ทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ตลอดจน เสนอความคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทั้งหมดก็ยังส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ (Digital Literacy) นั่นก็คือ ต้องการให้ผู้เรียนวิเคราะห์ จำแนก แยกแยะ ข่าวจริง ข่าวปลอมได้ ไม่หลงเชื่อและส่งต่อข่าวสารใดๆที่ไม่ถูกต้องผิดหลักการ ตลอดจนสามารถสื่อสารกับผู้อื่นในโลกออนไลน์ได้อย่างมีวิจารณญาณ ไม่ตระหนกแต่ตระหนักที่จะดูแลเอาตัวรอดตัวเอง
(ยังไม่พอ ยังส่งเสริมสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนได้อีกด้วยนะ)
ไอเดียนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ถ้าดี มีประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้เลยนะครับ
เหมาะสำหรับนักเรียนที่เรียนเคมี หรือๆๆๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 วิทยาศาสตร์ เรื่อง ธาตุกัมมันตรังสีได้อีกด้วยครับ
ไว้พบกันใหม่ครับ :)
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!