icon
giftClose
profile

Friend of Buddy Kru คุยกับครูฟรองซ์ โรงเรียนสารวิทยา

10700
ภาพประกอบไอเดีย  Friend of Buddy Kru คุยกับครูฟรองซ์ โรงเรียนสารวิทยา

❇️เตรียมกิจกรรมมาให้นักเรียนได้สนใจ

เเต่กลับมีบางคนไม่มีส่วนร่วมกันบ้างเลย

จะทำอย่างไรดีนะ…?

มาพบกับ ครูฟรองซ์ - ณัฐธนากร

คุณครูที่ตั้งเป้าหมายอยากจะพัฒนา

“การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน” กับ Buddy Kru

ใช้การกำหนดเกณฑ์ในคาบ เเละเปิดโอกาส

ให้นักเรียนออกความเห็น ให้คะเเนนตัวเอง

ที่ตรงกับศักยภาพตัวเองอย่างเเท้จริง


👨‍🏫“เราเป็นครูภาษาไทยสอนอยู่ชั้น ม.6 แล้วมีวิชาพูดเชิงสร้างสรรค์เป็นวิชาเพิ่มเติมสำหรับชั้น ม.5 ด้วย จริง ๆ เเล้วเราวางแผนให้ทุกคาบที่เราสอน ต้องมีการทำกิจกรรมควบคู่ไปด้วย โดยออกแบบกิจกรรมร่วมกับพี่ที่สอนในรายวิชาเดียวกัน บางครั้งพี่ ๆ ในหมวดก็เพิ่มเติมไอเดียต่อยอดให้เรา บางครั้งในระดับชั้นเดียวกันเราจะมีการคุยกันว่า ปีที่เเล้วมีกิจกรรมอะไรบ้าง ปีนี้เราจะปรับยังไง เพราะไม่อยากจะให้เหมือนกับปีก่อน ๆ เลย เดี๋ยวนักเรียนรู้ทันว่าครูทำกิจกรรมอะไร เราพยายามปรับให้กิจกรรมเปลี่ยนไป เเต่คงเเก่นหลักของกิจกรรมไว้อยู่ครับ อย่างปีที่เเล้ว สอนเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ เราให้เด็กจัดกลุ่ม ทดสอบความสามัคคีกัน ยืนบนกระดาษฟลิปชาร์ต เเล้วพับทีละครึ่ง พับ ๆ แล้วยืนบนกระดาษให้ได้ ห้ามมีใครแตะพื้น ปีนี้เลยคิดว่าจะใช้ปากกาที่โยงเชือกกัน ให้นักเรียนช่วยกันเขียนตัวหนังสือ ทั้งหมดนี้ก็จะได้แก่นเรื่องความสามัคคีอยู่


“ถามเราว่าทำไมโฟกัสกิจกรรมขนาดนั้น เรามองลึก ๆ ว่าเด็กทุกคนมาโรงเรียน อย่างน้อยเขาต้องคาดหวังอะไรอยู่บ้าง ส่วนตัวตอนเรียนมหาวิทยาลัย บางวันไปถึงแล้วอาจารย์ขอยกคลาส เรารู้สึกเสียดายที่ไม่ได้อะไรกลับมา ถ้าอาจารย์บอกล่วงหน้าก่อน อันนี้โอเค ไม่ต้องรีบตื่น ไม่เหนื่อยเดินทาง (หัวเราะ) เรามองกลับมาว่า ทุกวันนี้เด็กมาโรงเรียน เราควรให้สิ่งที่เขาคาดหวังกลับไป กิจกรรมต้องพร้อมกับเเทรกแก่นความรู้ มากบ้างน้อยบ้างเเล้วเเต่โอกาส แต่เด็กก็จะได้อะไรกลับไปจากบรรยากาศที่ดีตรงนั้นด้วย


“เเต่เพราะเวลาที่จำกัด เราเลยต้องออกแบบการสอนให้เป็นการทำกิจกรรมกลุ่ม พอดีก่อนหน้านี้มีอบรมกับทาง insKru เลยได้เทคนิคต่าง ๆ มาปรับใช้ด้วย ถึงอย่างนั้นบางทีการทำกิจกรรมกลุ่มก็เจอกับปัญหาอยู่บ้าง อันนี้น่าจะตรงกลับเพื่อนครูหลาย ๆ คนที่เคยเจอกันเลย คือมีนักเรียนบางคนที่อยู่ในกลุ่ม เเต่ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเเบบนี้ครับ”


💭“ในการสอนบางคาบเราจะมีโอกาสทำกิจกรรมเดี่ยว เราก็ได้เดินดูว่าทุกคนมีส่วนร่วมนะ วาดภาพตามคำประพันธ์ทีละวรรค ๆ ไม่เร่งรีบจนเกินไป เราก็ค่อย ๆ ไปพร้อมกับเด็ก แต่พอเป็นกิจกรรมกลุ่ม ถ้ากลุ่มใหญ่หน่อยจะเริ่มมี 1-2 คนที่ไม่ทำ เราก็พยายามจะกระตุ้นทุกครั้งนะ ทำได้บ้างไม่ได้บ้างสลับกันไป จนล่าสุด เราอธิบาย Rubric Score (เกณฑ์การประเมินผล) ให้นักเรียนรู้ก่อนเลย มันทำให้การทำกิจกรรมง่ายขึ้นจริง ๆ อย่างการมีส่วนร่วมก็ระบุไว้เลยว่าถ้าทุกคนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมจะได้ 2 ถ้า 1-2 คนไม่ให้ความร่วมมือจะได้ 1 ถ้าตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปจะได้ 0 ทำให้ในกลุ่มจะคอยกระตุ้นกันเอง


“มีห้องหนึ่งที่เราสอน เน้นกีฬาเป็นหลักไม่ค่อยเน้นวิชาการ พอนำวิธีนี้ไปใช้ หัวหน้าห้องก็จะบอกเลย ทุกคนฟัง ฟังครู ทำกิจกรรมนะทุกคน เก็บโทรศัพท์ลงไป คือเกิดการช่วยกระตุ้นกันตรงนี้ครับ ไม่หนักใจเราเพียงคนเดียวแล้ว นอกจากนี้การมีเกณฑ์ก็ให้โอกาสพูดคุยร่วมกันด้วย ก่อนหน้านี้เราเคยให้นักเรียน 6 คะเเนน เราก็มาเช็กร่วมกัน ข้อไหนที่เราหักไม่ตรงกันบ้างมั้ย นักเรียนพูดในเวลาที่กำหนดมั้ย นักเรียนอ่านจากบทไหม มันจะไม่มีจุดที่เห็นต่างเลย การมีเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกันช่วยให้นักเรียนไม่มองเเรงใส่เราตอนที่ให้คะเเนน (หัวเราะ) พอตั้งเกณฑ์แบบนี้มา เด็กไม่ได้รู้สึกว่าเรากดคะแนน แต่รู้สึกว่าตัวเขายังทำได้ไม่ดีพอ อยากจะพัฒนาตัวเองต่อไป


“อย่างกิจกรรมกลุ่ม เราก็จะเรียกทุกคนในกลุ่มมาคุยเลย นักเรียนนับคะแนนในใจตามเกณฑ์ของครู แล้วเราจะถามเขาว่าให้ตัวเองกี่คะแนน มาคุยกันเลยตรงไหนที่เห็นต่าง แล้วหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะให้กี่คะแนนกันดี บางที เราก็ต้องตีความเกณฑ์ให้ละเอียดขึ้น ต้องทบทวนกันทั้ง 2 ฝ่าย เช่น “สร้างสรรค์” มองยังไง คือต้องแปลกใหม่ไม่เหมือนเดิม หรือมีแบบเดิมแต่ปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ แล้วที่นักเรียนทำมาเป็นยังไง ถ้านักเรียนยังไม่เห็นด้วย เราก็จะให้เพื่อนคุยในวงที่ใหญ่ขึ้น คือเราจะไม่ยึดตัวเองและไม่ยึดเด็กที่เป็นคู่กรณีกับเราโดยตรง เพื่อนเห็นกันว่ายังไง เราลองมาคุยกันต่อว่าทำไม สุดท้ายจะได้ข้อสรุปออกมาครับ”


💖“ตั้งเเต่คาบแรก ๆ เรารู้สึกว่าบางทีเรากระตุ้นเเล้ว เเต่นักเรียนก็ยังไม่มีส่วนร่วมเลย พอดีว่าเราได้ไปอบรมของ insKru หลายสัปดาห์ทั้งออนไลน์ ออนไซต์ รู้สึกเปิดโลกอยู่นะ ไม่เหมือนกับสัมมนาที่เคยเจอมาก่อน ตั้งโต๊ะให้วิทยากรมาพูด เเล้วทุกคนฟัง insKru มี Facilitator ช่วยคุย ช่วยดูเเล และออกแบบกิจกรรมให้ทดลองทำ เราจึงได้นำทักษะที่ได้สอดเเทรกไปกับการทำกิจกรรมในห้องเรียนด้วย


“นอกจากนี้เรายังได้ใช้ BuddyKru ตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วม มีการเเนะนำไอเดียมาเรื่อย ๆ เราได้ลองสร้างข้อตกลงในห้องร่วมกับนักเรียนในคาบแรกเลย เราเช็กชื่อเเล้วให้นักเรียนยกมือขึ้น พร้อมถามว่า “ห้องเรียนในฝันของนักเรียนเป็นยังไง” แล้วเราก็พยายามจะสรุปประเด็นแล้วเอามาคุยกัน อย่างขอเรียนแบบไม่เคร่งเครียดอะไรอย่างนี้ ครูทำได้แน่นอน ขอไม่มีการบ้านได้ไหม เราก็อาจจะเจรจา เจอกันครึ่งทางละกัน เราจะพยายามทำในห้องเรียนให้เข้าใจ แล้วไปต่อยอดต่อที่บ้านอีกนิดหนึ่ง ตรงนี้นักเรียนก็โอเคเลย BuddyKru มาช่วยเสนอไอเดียที่ช่วยทำให้เป้าหมายเราสำเร็จ บางทีก็ตามเก่งมาก (หัวเราะ) มีติดตามผลว่าคุณครูทำเสร็จแล้วหรือยัง เราก็พยายามทำแล้วก็รายงานผล เหมือนมีเพื่อนที่คอยกระตุ้นเราเหมือนกันนะ


“ทุกวันนี้เราก็ยังทำเป้าหมายนี้อยู่ ตอนนี้ก็คิดว่าเด็กมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนเราเปิดประเด็นให้เด็ก เด็กก็ตอบมา สิ่งที่เราพยายามทำไปทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่กลัว ครูคนนี้ไม่ได้ตัดสินนะว่าจะถูกหรือเปล่าจะผิดหรือเปล่า เดี๋ยวเราดูไปด้วยกัน เรียนไปด้วยกันก็ได้ เด็ก ๆ จึงกล้าจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากขึ้นครับ”

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)