สร้างสรรค์ชุมชนในห้องเรียน คือ การเรียนรู้ผ่านประเด็นเรื่องราวในชุมชน และทำความเข้าใจตนเองในฐานะพลเมืองท้องถิ่นที่ไม่ใช่แค่การพาผู้เรียนลงไปสำรวจปัญหาและสืบหาข้อมูลในชุมชน แต่เป็น “การเรียนรู้” เพื่อ “พลิกกลับ” ให้เข้าใจความคิดและความรู้สึก คือ การออกแบบห้องเรียนให้เป็นเหมือนชุมชนผ่านการเรียนรู้เรื่อง ตามหาต้นทุนเชิงพื้นที่ ซึ่งมีผู้เรียนเป็นคนในชุมชนสวมบทบาทและความคิด เพื่อทำการมองต้นทุนในชุมชน และเห็นความสำคัญของบทบาทของคนในชุมชนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ท้ายสุดคือ การได้เห็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดจากบทบาทที่ตนได้รับ กลายเป็น “ห้องเรียนที่พูดถึงชุมชน ในฐานะคนในชุมชนอย่างแท้จริง”
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. เข้าใจความหมายและองค์ประกอบต้นทุนในพื้นที่
2. สามารถนำทรัพยากรมาใช้เพื่อเป็นผู้ประกอบการในชุมชน
3. บทบาทหน้าที่ของคนในชุมชนต่อการใช้ทรัพยากรในชุมชน
รูปแบบการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตามเส้นทางการเรียนรู้ Learning Curve โดยใช้เทคนิค Simulation Game
ขั้น Intro (เวลา 5 นาที)
เปิดประเด็นด้วยภาพวัฒนธรรม/ประเพณี เมนูอาหาร/ของกินแหล่งท่องเที่ยว และสินค้า/เครื่องใช้ผ่านคำถามว่า สิ่งนี้ผลิตจากสิ่งใด เพื่อเชื่อมโยง Concept องค์ประกอบของต้นทุนนั้นประกอบด้วย ผู้คน ทรัพยากร สถานที่ อย่างไร
ขั้น Stimulate (เวลา 10 นาที)
เปิด VDO วี ไวโอเล็ต ชวนเที่ยวไทยของ Amazing Thailand เพื่อให้ผู้เรียนเห็นบริบทชุมชน แล้วจึงใช้ภาพชุมชน ถามคำถามว่า ชุมชนนี้มีองค์ประกอบของต้นทุนที่กล่าวไปหรือไม่ มีอะไรบ้าง จากนั้นเชื่อมโยงกับอาชีพ โดยชวนผู้เรียนแต่ละคนพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้เรียน และเห็นความเชื่อมโยงอาชีพเกี่ยวกับสถานที่/ที่ตั้งแห่งนี้อย่างไร แล้วจึงนำเข้าสู่กิจกรรมว่า เราจะจำลองสถานการณ์ว่าอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้
ขั้น Learn (เวลา 10 นาที)
1. แบ่งกลุ่ม ตั้งชื่อหมู่บ้าน ทำกิจกรรมตามหาต้นทุนเชิงพื้นที่ โดยผู้เรียนสวมบทบาทและหน้าที่เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยการสุ่มอาชีพ
2. ผู้สอนอธิบายบทบาทหน้าที่อาชีพในชุมชน ตามเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมกติกา
3. ผู้สอนให้โจทย์แต่ละกลุ่มตามหาต้นทุน โดยการจับฉลากเลือก เช่น 1) วัฒนธรรม/ประเพณี 2) เมนูอาหาร/ของกิน 3) แหล่งท่องเที่ยว 4) สินค้า/เครื่องใช้
4. ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะเริ่มต้นเดินไปตามช่องจากอาชีพที่ตนเองได้รับเพื่อเก็บทรัพยากร สลับกันจนครบทุกคนในแต่ละกลุ่ม (ก้าวการเดินสอดคล้องกับบทบาทในชุมชนที่ได้รับ)
5. เมื่อครบแล้ว ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจึงนำทรัพยากรและบทบาทหน้าที่อาชีพมาเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับโจทย์ที่ได้รับ แล้วสร้างสรรค์เป็น Product/Economic Value เช่น เมนูอาหาร/ของกินชื่อว่าอะไร เป็นต้น เขียนลงในกระดาษชาร์ท โดยรายละเอียดผู้สอนกำหนดไว้บนกระดาน
ขั้น Conclusion (เวลา 15 นาที)
แต่ละกลุ่ม/หมู่บ้าน นำเสนอ Product/Economic Value ในฐานะผู้ประกอบการชุมชนในงานมหกรรมชุมชน
ขั้น Apply (เวลา 10 นาที)
1. เพื่อนๆ ร่วมกันตัดสินผล โดยการเลือกยืนอยู่หน้าผลงานนั้น พร้อมบอกของดีที่เลือกหรือนำไปใช้ได้จริงอย่างไร
2. ผู้เรียนสะท้อนคิดจากกิจกรรม
2.1) การวางแผนเก็บทรัพยากรในชุมชนได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันหรือไม่ ถ้ามีทำอย่างไร
2.2) บทบาทที่ได้รับสัมพันธ์กับทรัพยากรนั้นอย่างไร
2.3) ถ้าเป็นไปได้อยากเพิ่มเติมทรัพยากรหรือบทบาทใดให้สิ่งนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ขั้นตอน Intro สะท้อนความรู้และเข้าใจความหมายและองค์ประกอบต้นทุนในพื้นที่ของผู้เรียน
ขั้นตอน Stimulate สะท้อนความรู้และเข้าใจอาชีพและบทบาทหน้าที่ และห็นความเชื่อมโยงอาชีพเกี่ยวกับสถานที่/ที่ตั้งแห่งนี้อย่างไร
ขั้นตอน Learn สะท้อนกระบวนการทำงานกลุ่มและการเข้าใจบทบาทหน้าที่และทรัพยากรก่อให้เกิดต้นทุนเหล่านั้นอย่างไร
ขั้นตอน ConclusionและApply สะท้อนบทบาทของตัวเองและความสำเร็จในการเรียนรู้
1) ช่วงเวลาทำงานกลุ่ม ผู้สอนพยายามชวนผู้เรียนให้มองเห็นอาชีพกับบทบาทหน้าที่สัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกัน และพยายามให้ประเด็นนั้นเชื่อมโยงสู่โลกภายนอก หรือนำประเด็นจากภายในเข้ามาเป็นประเด็นขับเคลื่อนผู้ประกอบการในชุมชน เช่น บทบาทของคนในชุมชนยังขาดอะไร ต้องการเพิ่มอะไร การขยายผลให้ผู้เรียนรับรู้เกี่ยวกับสิ่งนี้ในชุมชน จะทำอย่างไรให้คนอื่นได้รับรู้มากขึ้น สามารถนำโลกออนไลน์หรือเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกได้ด้วยวิธีการใดได้บ้าง และจะทำอย่างไร
2) ผลของการเรียนรู้ คือ ผู้สอนพยายามชวนให้ผู้เรียนคิดเสมอว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากใครบ้าง คนเหล่านี้จะสร้างขึ้นมาโดยอาศัยอะไร ซึ่งการพัฒนาชุมชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับบทบาทของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือ ทุกคนในชุมชนได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ
3) ความสำเร็จของผู้เรียนไม่ให้ดูเพียงแค่ผลงาน แต่คือกระบวนกลุ่มของผู้เรียน ได้มีส่วนร่วมกันในระดับใด และยึดแนวคิดใดในกลุ่มเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานและประเด็นที่เลือก ผู้สอนอาจทำเครื่องมือประเมินได้ด้วยการใช้เกณฑ์รูบิค เขียนลักษณะการไต่ระดับพฤติกรรม
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!