"ชุมชน" เมื่อพูดถึงคำนี้ หลาย ๆ คนก็จะนึกถึงพื้นที่เล็ก ๆ ของสังคมใหญ่ที่เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง พื้นที่ที่เราใช้ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว มีเพื่อนบ้าน มีความทรงจำ มีเรื่องราวความเป็นมา และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่หลากหลายมิติ มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีอัตลักษณ์ คุณค่าและความงดงาม
โจทย์ใหญ่ของผม คือ การสอนนักเรียนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิดและภาคภูมิใจ รวมทั้งมีจิตวิญญาณความเป็นคนในชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำอะไรหลาย ๆ อย่าง โดยคาดหวังว่าความเป็นชุมชน ความงดงามเหล่านั้นจะไม่จางหายไป
นำไปสู่การออกแบบบทเรียนที่บูรณาการความเป็นชุมชนเข้ามามีส่วนหนุนเสริม ขยับจากบทเรียนเดิม ๆ ที่ยังมีความกลัวและความเชื่อแบบเดิมอยู่ เปลี่ยนมาเป็นพลังงานที่เชื่อสุดใจว่าจะสร้างสรรค์บทเรียนชุมชนออกมาให้ผู้เรียนเกิดความมีจิตวิญญาณของคนในชุมชนด้วยกระบวนการที่ครูมีบทบาทเป็นผู้ร่วมเรียนรู้และพาทำกระบวนการโดยยึดชุมชนเป็นฐาน พร้อมทั้งอาศัยเครื่องมือสำคัญ คือ คำถาม ที่ผู้เรียนต้องไม่ใช่แค่ตอบได้แต่ต้องผ่านกระบวนการคิดและการตั้งคำถามที่ซับซ้อนเป็นที่มาของไอเดีย "ชุมชนห้องเรียนธรรมชาติที่มีชีวิต"
"ชุมชนห้องเรียนธรรมชาติที่มีชีวิต"
รูปแบบขั้นตอนกระบวนการห้องเรียนนี้ถูกออกแบบผ่านตัวผู้เรียน มีการปรับปรุงพัฒนามาต่อเนื่องเพื่อให้เป็นได้เป็นกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับห้องเรียนนี้ โดยอาศัยหัวใจสำคัญของห้องเรียนคือ ผู้เรียน และครูผู้สอนที่จะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้เป็นผู้ร่วมเรียนรู้และพาทำกระบวนการไปพร้อม ๆ กับผู้เรียน โดยแสดงรายละเอียดแต่ละขั้นตอน ดังนี้
เริ่มต้นจาก ความท้าทายแรกเป็นขั้นสำคัญที่จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมั่นใจเปิดประตูใจเข้ามาร่วมกับเรา ผมใช้กระบวนการสั้นๆในช่วงแรกให้ผู้เรียนรู้จักตนเองและเพื่อน ๆ ที่อยู่รอบตัวพวกเขา (กิจกรรมนี้ครูผู้สอนสามารถออกแบบกิจกรรมได้เลย) แต่ครูผู้สอนต้องคอยสังเกตและจับตามองพฤติกรรมของผู้เรียนทุกคนในขั้นนี้ด้วย เมื่อมั่นใจแล้วว่าผู้เรียนของเรารู้สึกถึงความกระตือรือร้น เข้าสู่ขั้นต่อไป
ขั้นต่อมาเป็นขั้นที่ ผู้เรียนสร้างกลุ่ม 4-5 คน ครูผู้สอนต้องมั่นใจว่าผู้เรียนของตนให้ความสนใจในการแบ่งปันความคิดและความรู้สึก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการคิด เมื่อไม่เห็นด้วยผู้เรียนต้องสร้างคำถามเพื่อที่ทำความเข้าใจมุมมองของคนอื่น และคอยสังเกตว่าตัวเองมีอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิด ทำใจให้เย็นลงก่อนให้อารมณ์เหล่านั้นหายไปค่อยพูด เป็นตัวอย่างกฎที่แปลงจากพฤติกรรมที่คาดหวังในห้องเรียนที่ถูกตั้งขึ้นจากสมาชิกภายในห้องเรียนนี้ ในขั้นนี้พวกเขาจะต้องใช้คำถามไล่ระดับ(คำถามระดับล่างจนถึงคำถามขั้นสูง)เกี่ยวกับชุมชนของอาสาสมัครในกลุ่ม ผู้เรียนจะแปลงคำตอบเหล่านั้นออกมาเป็น mind map ชุมชน ที่สะท้อนเรื่องราวของชุมชนให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาของชุมชน คนในชุมชน ภาษาวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนปัญหาในชุมชน พวกเขาต้องสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ในขั้นนี้ ทักษะสำคัญที่พวกเขาจะได้ คือ การตั้งคำถาม การสื่อสาร การสรุปใจความสำคัญ และการสื่อสาร
ขั้นที่ 3 ขั้นนี้จะแสดงรายละเอียดของแต่กลุ่มเป็นเรื่องราวที่ถูกติดไว้ข้างห้องเพื่อให้ทุกคนในห้องได้เดินศึกษารายละเอียดของชุมชนอื่น ๆ ที่พวกเขาสนใจ พวกเขาสามารถตั้งคำถามได้ตลอดเวลา ครูสังเกตการตั้งคำถาม วิธีการตอบคำถามเหล่านั้น เมื่อมั่นใจแล้วว่าทุกกลุ่มเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนอื่นครบแล้ว ให้พวกเข้าสลายกลุ่มและจับกลุ่มใหม่อีกครั้ง 4-5 คน กลุ่มใหม่นี้จะได้รับโจทย์ว่าเลือกชุมชนมา 1 ชุมชนที่เราสนใจ พวกเขาจะต้องแปลงข้อมูลที่เป็นข้อมูลตัวอักษรมาเป็นภาพวาด แล้ววาดออกเป็นเรื่องเล่าของชุมชน โดยในภาพนั้นต้องมีกิจกรรมเกิดขึ้นในภาพอย่างน้อย 10 กิจกรรม เมื่อพวกเขาวาดครูต้องคอยติดตามดูว่าพวกเขาใส่รายละเอียดเรื่องราวของชุมชนได้มากน้อยเพียงใด ขั้นนี้พวกเขาจะได้ ฝึกการสื่อสาร วางแผน และออกแบบร่วมกัน
ขั้นที่ 4 ผมให้พวกเขาฝึกการตั้งถามผ่านรูปภาพชุมชน แต่ในครั้งนี้คำถามที่พวกเขาตั้งจะไม่มีคำตอบ แต่พวกเขาจะต้องคาดเดาให้ได้ว่าคำถามเหล่านั้นเป็นคำถามที่อยู่ระดับไหนของการตั้งคำถาม ตั้งแต่ คำถามระดับล่าง จนถึงคำถามระดับสูง ขั้นนี้พวกเขาจะได้ฝึกการเป็นนักตั้งคำถาม ที่ส่งเสริมการคิดขั้นสูงเพราะเมื่อผู้เรียนกลายเป็นนักตั้งคำถามที่ดีห้องเรียนนั้นจะเปลี่ยนไป
หมายเหตุ ** ในขั้นนี้ผู้เรียนจะเกิดคำถามและเป็นคำถามที่ดี พวกเขาจะได้โจทย์เกี่ยวกับชุมชน นำไปสู่การต่อยอดเป็นโครงงาน นวัตกรรมของพวกเขาต่อไปได้ เป็นอีกมิติหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้นั่น คือ โครงงานฐานชุมชน
ขั้นสุดท้าย พวกเราลงข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับบทเรียนทั้งหมดและชุมชนของพวกเขา ทั้งในมุมมองด้านความรู้ ความรู้สึกของพวกเขาเอง ปัญหา/อุปสรรคและข้อควรพัฒนาปรับปรุงรวมทั้งความคาดหวังในครั้งต่อไป
หมายเหตุ ** ขั้นเป็นนี้เป็นขั้นสำคัญซึ่งจะเกิดขึ้นทุกขั้นตอนหลักหลังจากที่จบหนึ่งขั้น เพื่อให้พวกเขาตกตะกอนความคิด เรื่องราวประสบการณ์ของพวกเขาจากกิจกรรมที่พวกเขาทำ โดยมีครูเป็นผู้ตะล่อมแนวคิดเพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวพวกเขาเอง และสรุปรวมในขั้นสุดท้ายอีกครั้งเป็นการถอดบทเรียนโดยรวมซึ่งเกิดจากพวกเขาเองว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างในกิจกรรมนี้และยังมีสิ่งไหนที่ยังไม่เข้าใจหรือคาดหวังหรืออยากเห็นตัวเองในครั้งถัดไปว่าอย่างไร
ผลลัพธ์สำคัญที่ผมต้องการให้เกิดขึ้นในห้องเรียนนี้ของผม คือ ผู้เรียนของผม เป็นนักตั้งคำถาม เป็นคิด นักวางแผน และผู้ที่รู้จักวิธีการจัดการกับข้อมูล เป็นผลลัพธ์ใหญ่ของกิจกรรมนี้ ส่วนในอีกมิตินึง ผมอยากให้พวกเขาเกิดความซาบซึ้ง ความเป็นคนในชุมชน มีจิตวิญญาณความเป็นคนของชุมชน พวกเขาจะรู้สึกรัก ภาคภูมิใจที่ได้เล่าเรื่องของชุมชนของตนเองทุกครั้งที่มีคนถาม และคำถามทุกคำถามจะถูกนำมาเป็นโจทย์ในการคิดและต่อยอดโครงงานหรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของพวกเขาต่อไป
ไอเดียนี้ถูกคิดและพัฒนามาจากพวกเราทุกคนในห้องเรียนผ่านกระศึกษาบริบทห้องเรียน และคาดการณ์ความเป็นไปได้ ถูกทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้แต่ละขั้นเป็นขั้นตอนที่มีรายละเอียดและบูรณาการศาสตร์วิชาอื่นๆ สอดแทรกเข้าไป และในแต่ละขั้นมีแบบวัดและประเมินผู้เรียนที่มุ่งวัดและประเมินเพื่อการพัฒนา ผ่านการสะท้อนคิดทุกขั้นตอน ดังนั้นกระบวนการนี้อาจต้องใช้เวลา และความหยืดหยุ่น และเทคนิคการจัดการชั้นเรียน รวมทั้งต้องรู้จักผู้เรียนทุกคนเป็นอย่างดี
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!