icon
giftClose
profile

RoV Gamification การสอนภาษาไทยโดยใช้เทคนิคเกมมิฟิเคชัน

15780
ภาพประกอบไอเดีย RoV Gamification การสอนภาษาไทยโดยใช้เทคนิคเกมมิฟิเคชัน

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

การใช้เทคนิคเกมมิฟิเคชันในการจัดการเรียนการสอนนี้เริ่มต้นมาจากการที่ครูผู้สอนเป็นคนที่ชื่นชอบเกม (โดยเฉพาะแนวMOBA) ซึ่งผู้เรียนในช่วงวัยที่รับผิดชอบสอนนั้นก็ชื่นชอบเกมอีกเช่นกัน ทำให้มีแนวคิดว่าจะดีกว่าไหม? ถ้าหากเราจะเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นสนามเกม โดยใช้ตัวละครหรือรูปแบบที่เราชื่นชอบป็นแรงจูงใจในการดึงดูด เร้าความสนใจของผู้เรียนให้มีสมาธิและตั้งใจเรียนรู้บทเรียนมากขึ้น ประจวบเหมาะกับก่อนการสร้างสื่อนั้นได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับการใช้เทคนิคเกมมิฟิเคชันของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนจึงได้นำความรู้ที่ได้รับในตอนนั้นมาประยุกต์กับตัวละครในเกมที่ทุกคนชื่นชอบนั่นคือเกม RoV โดยใช้ตัวละครในแต่ละประเภทHero มาวิเคราะห์ลักษณะนิสัยว่าหากตัวละครเหล่านั้นเป็นคนจริงๆจะมีลักษณะนิสัยอย่างไร และนำลักษณะเด่นเหล่านั้นมาใช้ในการจัดกลุ่มผู้เรียนเพื่อคละความสามารถเข้ากลุ่มแต่ละกลุ่มตามประเภทของHero ในระหว่างทำกิจกรรมกลุ่มนั้นนอกจากผู้เรียนจะได้ช่วยทีมแข่งขันกันระหว่างกลุ่มแล้ว ผู้เรียนแต่ละสายHero ยังได้แข่งขันกันตามแต่ละประเภทของHero ซึ่งคะแนนที่ทุกคนได้รับนั้นมีทั้งคะแนนด้านความรู้ ทักษะ และคะแนนการร่วมเรียนรู้ของผู้ร่วมทีม ซึ่งเป็นการให้กำลังใจผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ช้าใให้มีกำลังใจในการแข่งขันกับผู้เรียนที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน ทำให้นักเรียนในห้องมีพลังในการเรียนรู้มากขึ้น

ขั้นตอน

  1. ครูผู้สอนสามารถนำรูปแบบการสอนนี้ไปปรับใช้กับหน่วยการเรียนรู้อื่นๆได้หลากหลายวิชาโดยเริ่มจากการกำหนดหน่วยหรือเรื่องที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนประมาณ 4-6 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นควรวางแผนให้เป็นการทำชิ้นงานกลุ่ม
  2. เมื่อมีการกำหนดเรื่องแล้วควรจัดกลุ่มผู้เรียนในชั้นจากลักษณะของผู้เรียนตามบุคลิกในการ์ดตัวละครกผู้เรียนเลือกสมาชิกในกลุ่มอย่างมีเงื่อนไขว่า แต่ละกลุ่มต้องมีตัวละครครบทุกประเภท
  3. ครูอธิบายกติกาตามการ์ดตัวละครและแจ้งในชั่วโมงแรกว่ามีการแข่งขันทั้งรูปแบบทีมและแต่ละสายHeroรวมถึงอธิบายจำนวนเรื่อง หรือชั่วโมงที่ใช้
  4. สอนตามกิจกรรมที่ได้วางแผนไว้ แต่ต้องมีการให้คะแนนลงในสมุดเก็บคะแนนประจำกลุ่ม และต้องประกาศลำดับคะแนนทั้งประเภทกลุ่มและประเภท Hero ทุกครั้งหลังจบการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการแข่งขัน ครูผู้สอนให้ข้อมูลย้อนกลับในการพัฒนาผู้เรียนและชื่นชม ให้กำลังใจ
  5. เมื่อจบตามหน่วยที่วางแผนไว้ต้องประกาศผลผู้ชนะ

ผลลัพธ์ที่เกิด หรือ คาดว่าจะเกิดขึ้น

  1. ผู้เรียนกลุ่มอ่อนเกิดการพัฒนาตนเองมากขึ้นเพราะมีการแข่งขันกันในกลุ่มที่ผู้เรียนคิดว่าตนพอที่จะสามารถพยายามเพื่อชัยชนะได้
  2. เกิดความร่วมมือในกระบวนการกลุ่มมากขึ้นเพราะผู้เรียนเกิดความสนใจในบทเรียนมากขึ้น
  3. เมื่อผู้เรียนกระตือรือร้นในการเรียนรู้ในบทเรียนครูผู้สอนก็เกิดกำลังใจในการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาตนเอง และพัฒนาวิชาชีพต่อไป

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบทเรียน ไม่ควรเป็นหน่วยที่ยาวจนเกินไป หรือสั้นจนเกินไปจนผู้เรียนหมดกำลังใจในการทำคะแนนเพื่อตีตื้นผู้ที่มีคะแนนนำ ที่สำคัญเทคนิคเกมมิฟิเคชันนั้นจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการวางเงื่อนไขและการแจ้งลำดับคะแนน หากครูหลงลืมอาจทำให้ความกระหายความรู้ของผู้เรียนลดน้อยถอยลง สุดท้ายนี้หวังว่าคุณครูและเพื่อนๆทุกคนจะได้ไอเดียในการสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆนะคะ มาเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นสนามเกมกันเถอะค่ะ

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 23

ชื่อไฟล์​: เมมิฟิเคชันและการให้ข้อมูลย้อนกลับ - 2.jpeg

ดาวน์โหลดแล้ว 29 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)