เราเป็นครูภาษาไทยสอนอยู่ชั้น ม.3 ในรายวิชาภาษาไทยพื้นฐาน ช่วงแรก ๆ ที่สอน เรามักมีปัญหาเรื่องการจัดการเรียนรู้ นักเรียนมีพฤติกรรมไม่สนใจเนื้อหาการเรียนรายวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับวรรณคดี ไม่ทบทวนบทเรียน บางครั้งไม่นำหนังสือมาเรียน แอบหลับบ้าง ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน นำงานวิชาอื่น ๆ ขึ้นมาทำบ้าง เราจึงออกแบบวิธีการสอนโดยใช้บอร์ดเกมมาเป็นเครื่องมือการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม ลงมือปฏิบัติจริง การสะท้อนความคิดเห็น และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งบอร์ดเกมที่นำมาเล่นและนักเรียนให้ความสนใจมากที่สุด คือ บอร์ดเกมอ๊บ อ๊บ โดดถูกรอด โดดบอดตาย บูรณาการสอนร่วมกับแอปพลิเคชัน Koomkla App ภาพพจน์ที่ปรากฏในวรรณกรรม
.
บอร์ดเกม อ๊บ อ๊บ โดดถูกรอด โดดบอดตาย ได้รับแนวคิดและวิธีการเล่นจากบอร์ดเกม Croak อ๊บอ๊บ เราเพิ่มการ์ด Effect กระดานบอร์ดเกม และปรับวิธีการเล่นให้เหมาะสมกับนักเรียน ***หมายเหตุ เราจะเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบวิธีการเล่นด้วยนะ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะตกลงร่วมกัน มีเพิ่มและลดวิธีการเล่นไม่เหมือนกัน ซึ่งเปรียบเสมือนการวางแผนชีวิตในอนาคต "ทำอย่างไร ฉันจะเป็นผู้รอดชีวิตในน่านน้ำแห่งนี้"
.
เมื่อเรียนวรรณคดี เราจะนำบอร์ดเกม อ๊บ อ๊บ โดดถูกรอด โดดบอดตาย และบูรณาการสอนร่วมกับแอปพลิเคชัน Koomkla App มาเป็นส่วนหนึ่งในการทบทวน สรุปบทเรียน ด้านเนื้อหาสาระ ด้านวรรณศิลป์ และสะท้อนความคิดผู้เรียน เริ่มต้นจากการแบ่งกลุ่มนั่งล้อมเป็นวงกลม กลุ่มและ 4-8 คน (วิธีการเล่นและบอร์ดเกมเราจะแนบไฟล์ให้น๊าาา) การ์ด Effect ที่สำคัญคือ การ์ดดาว "การด์ดาว" คือ การ์ดสุ่มคำถามจากเรื่องที่นักเรียน เรียน (มีตั้งแต่ความรู้ความจำจนถึงการนำไปใช้) เช่น ข้อความ "ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสาร" ปรากฏภาพพจน์ใด หากนักเรียนเป็นนายล้ำจะบอกความจริงกับแม่ลออหรือไม่เพราะเหตุใด, สำนวนที่กล่าวว่า "หว่านพืชเช่นไร ได้ผลเช่นนั้น" ตรงกับพฤติกรรมของตัวละครใด ในบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก และการ์ดคำสั่งเสริม เช่น เกมนี้คุณคือเจ้า คุณบังคับให้เพื่อน ทั้ง 3 สีเดินตามความต้องการของคุณได้ 1 ช่อง ผู้เล่นที่ตอบคำถามถูกต้องจะได้รับ 1 คะแนน และผู้เล่นที่ตอบคำถามผิดอธิบายเหตุผลของคำตอบไม่ได้จะต้องตายออกจากน่านน้ำแห่งนี้ไป
.
ความสนุก และความท้ายทายของผู้เรียน อยู่ที่การวางแผนการเล่นเกม การเดินเกมแต่ละช่อง เพราะทุกช่องจะมี Effect ซึ่งมีผลต่อหมากเดินตัวกบ และการสุ่มการ์ดคำถาม การตอบคำถาม การตอบคำถามของนักเรียนสามารถเปิดหนังสือได้ เมื่อนักเรียนส่งสัยในคำตอบของกันและกัน นักเรียนจะอภิปรายคำตอบ ถกเกียงหาข้อสรุปร่วมกัน รวมถึงหาข้อยุติโดยถามครูผู้สอนเพื่อเป็นผู้ตัดสินคำตอบ บอร์ดเกมนี้จึงต้องใช้ความรู้และทักษะกระบวนการคิดวางแผน การสังเกต การจำ การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จึงจะเป็นหนึ่งในน่านน้ำแห่งนี้ได้ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิต
เมื่อเรานำบอร์ดเกมเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนให้ความสนใจ และให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เพราะเขาได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้คิด ได้วางแผน ได้พูดคุยอภิปรายกับเพื่อนและครู เอาชนะคำตอบด้วยการอธิบายเหตุผล ทำให้ผู้เรียน ครู มีปฏิสัมพันธ์ กล้าที่จะพูด กล้าที่จะถาม และแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากผู้เรียนหลาย ๆ กลุ่ม และทำให้ผู้เรียนสนใจ ชื่นชอบการเรียนในรายวิชาภาษาไทยมากขึ้น เพราะการเล่นบอร์ดเกมไม่ใช่แค่ความสนุกสนาน แต่ยังสอดแทรกทักษะที่สำคัญ ที่นักเรียนสามารถประยุต์ใช้ในการดำเนินชีวิต
สื่อนวัตกรรมสำหรับบูรณาการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน แอปพลิเคชัน Koomkla ลิงก์ดาวน์โหลด https://koomkla-app-5fzw.glide.page
ข้อสังเกต และคำแนะนำเพิ่มเติม
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!