รู้มั้ยว่าตัวอักษร ก - ฮ สามารถสอนให้นักเรียนได้ฝึกคิดได้มากกว่าการสอนท่องจำ?
เราเริ่มต้นคิดกิจกรรม “อักษรมหาสมุทร” ขึ้นโดยใช้ไอเดียแบบง่ายๆ โดยในคาบแรกๆของการเรียน เราอยากจะให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวอักษรในภาษาไทย อย่าง ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก โดยเป็นการทบทวน ผ่าน การจัดทำ “การ์ดตัวอักษร” ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยให้นักเรียนเลือกตัวอักษรตามที่นักเรียนชอบ (มีข้อแม้ว่าทุกตัวอักษรต้องมีคนเลือก)
จากนั้นเราได้แจกกระดาษลัง ซึ่งมาจากกระดาษลังนมโรงเรียนที่ตั้งทิ้งไว้หลังจากแจกจ่ายนมนี่แหละ เรียกได้ว่าเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์กันแบบสองต่อ จากนั้นแนะแนวทางนักเรียน ให้จัดทำการ์ดในรูปแบบที่แตกต่างกัน ประกอบติดกับเจ้ากระดาษลังที่ตัดเหล่านี้ เพื่อให้ได้การ์ดตัวอักษณที่มีความคงทน
หลังจากทำเสร็จแล้ว นักเรียนก็จะมาอวดโฉมผลงานของตนเองกันอย่างสนุกสนาน ครูเองก็ขอมีส่วนร่วมในการจัดทำครั้งนี้ด้วย
จากนั้นเราจะพาพวกเขาฝึกเรียงตัวอักษรตั้งแต่ ก - ฮ เพื่อทบทวนความจำกันอีกครั้ง
ซึ่งในกิจกรรมที่เราให้นักเรียนช่วยกันตั้งชื่อนี้ นักเรียนก็เสนอไอเดียที่สร้างสรรค์มาก เพราะตอนนั้นครูเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันควรจะชื่ออะไร เขาจึงช่วยกันตั้งชื่ออันไพเราะเพราะพริ้งว่า “อักษรมหาสมุทร”
วิธีการทำกิจกรรม
๑) เราเริ่มจากกระจายการ์ดตัวอักษรให้ทั่ว ให้ได้อารมณ์เหมือนเราปล่อยปลาน้อย ปลาใหญ่ลงในมหาสมุทร ตอนนี้เด็กๆตื่นเต้นกันมาก พร้อมกับอวดใหญ่ว่าปลาหนูตัวใหญ่กว่าเพื่อนเลยค่ะ บางคนบอกปลาตัวใหญ่แบบนี้ตกไม่ขึ้นแน่ๆ สร้างเสียงหัวเราะในชั้นเรียนกันต่อไป
๒) เราจะให้นักเรียนทุกคนมาล้อมรอบโต๊ะที่มีปลาใหญ่ปลาน้อยพวกนี้อยู่ โดยให้นักเรียนรับบทบาทสมมติเป็นชาวประมงที่เราจะเวียนกันจับปลาไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากคนที่หนึ่ง คนที่สอง ไล่ไปจนครบทุกคน โดยมีเงื่อนไขว่า ครูจะเป็นคนตั้งโจทย์ในแต่ละรอบเช่น
“รอบนี้ ให้ตกปลาที่มีชื่อเกี่ยวกับอาหาร”
นักเรียนคนที่หนึ่ง หยิบเจ้าปลาตัวอักษร “ก.” พร้อมกับบอกว่า “กล้วย” ครับ กล้วยคืออาหาร แสดงว่านักเรียนคนนั้นจะได้ปลาตัวนั้นไปเก็บสะสมไป จากนั้นก็วนต่อไปเรื่อยๆจนครบทุกคน ถ้าคนไหนนึกไม่ออก หรือตกปลาไม่ทันในเวลาที่กำหนด ก็จะผ่านไปยังคนต่อไป
ความสนุกสนานก็จะอยู่ที่โจทย์ที่คุณครูตั้ง (ในที่นี้อาจให้นักเรียนในวงมีส่วนร่วมในการคิดโจทย์ในแต่ละรอบ ซึ่งขอบอกเลยว่าเด็กๆนั้นสามารถครีเอทโจทย์ได้สร้างสรรค์กว่าครูมาก เช่น อวัยวะของตนเอง ชื่อเพื่อนในห้อง ชื่อผลไม้ หรือแม้กระทั่งข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่ขนมากันแบบไม่ยั้ง)
ทางด้านคำตอบที่ได้นั้นก็เป็นการฝึกไหวพริบของนักเรียนได้ชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใคร
ยกตัวอย่าเช่น โจทย์ อาหารประจำท้องถิ่น
ซ. - “ซอยจุ๊” ครับ
อ. - “อ่อมกบ” ค่ะ
ม. - “แมลงทอด” ครับ
ต. - “ตำบักหุ่ง” แซ่บล้ายหลายค่ะครู
เรียกได้ว่ามีแต่อาหารที่นักเรียนมีประสบการณ์ร่วมทั้งนั้น ซึ่งตรงนี้แหละที่ครูสามารถสอดแทรกความรู้เพิ่มเติม เพิ่มบทสนทนาจูงใจคุยกับนักเรียนได้ โดยคำตอบที่เราได้จากเขาบางครั้งก็เกินจินตนาการเกินกว่าจะคิดได้ ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์นะครับ เพราะเด็กๆเขาสามารถคิดนอกกรอบโดยที่เราเองก็คาดไม่ถึง หรือนอกจากนี้เราอาจจะเอากิจกรรม “อักษรมหาสมุทร” นี้ไปเชื่อมโยงเพื่อเข้าสู่บทเรียนในคาบต่างๆในรายวิชาภาษาไทยต่อไปได้เช่นกันครับ
ซึ่งนอกเหนือจากกิจกรรม “อักษรมหาสมุทร” ที่นักเรียนกับครูพากันช่วยเก็บปลาจนหมดมหาสมุทรแล้ว คุณครูสามารถช่วยกันนับแต้มในตอนที่ปลาเหลือน้อยหรือหมดมหาสมุทรได้ นักเรียนคนใดที่มีแต้มมากว่าก็เป็นผู้ชนะไป หรือเราอาจจะเพิ่มกติกาพิเศษเข้าไป
เช่น ถ้านักเรียนคนใด เก็บปลาที่มี “ตัวอักษรที่เป็นคำตาย” ก็จะต้องตกรอบ ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถสอดแทรกความรู้เรื่อง “คำเป็น-คำตาย” ในภาษาไทย รวมถึงอาจจะมีการสอนเรื่องมาตราตัวสะกด การสะกดคำทั้งแบบตรงมาตราและไม่ตรงมาตราให้นักเรียนได้รับความรู้เพิ่มเติมได้อีกนะครับ
ถ้าหากคุณครูท่านใดนำไอเดียนี้ไปลองใช้แล้ว อย่าลืมแวะกลับมาเล่าให้ฟังนะครับว่านักเรียนของท่านชื่นชอบปลาตัวใดเป็นพิเศษ หรือมีโมเมนท์ดีๆที่เกิดขึ้นในระหว่างที่พวกเราช่วยกันจับปลาในมหาสมุทร ก็สามารถนำมาแบ่งปันกันได้นะครับ
ถึงปลาจะอยู่ในมหาสมุทร... แต่ความสนุกในชั้นเรียนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกคาบโดยไม่ต้อง “งมเข็มในมหาสมุทร” เลยนนะครับ อิอิ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!