เชื่อว่าคุณครูประถมหลายๆท่านย่อมเคยพบเจอกับปัญหานักเรียนทะเลาะกันอันมีสาเหตุมาจาก “การด่าพ่อ ล้อเลียนเพื่อน” เฉกเช่นเดียวกับผมที่ได้รับผิดชอบสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ห้องห้องหนึ่ง
เท้าความก่อนว่าเดิมทีแล้วผมเป็นครูอังกฤษ แต่ในขณะที่สอนนักเรียน ก็มักจะได้ยินเสียงนักเรียนมาฟ้องว่า “เพื่อนด่าพ่อ-แม่ ผม” “เพื่อนล้อกัน” จนทำให้การเรียนมีการชะงัก นักเรียนที่ตั้งใจถูกรบกวน ในหลายๆครั้งผมพยายามจัดการชั้นเรียนด้วยวิธีต่างๆเพื่อให้นักเรียนหยุดพฤติกรรมนั้นๆ มีการเรียกคุยบ้าง เดินเข้าไปห้ามบ้าง แต่ดูเหมือนพฤติกรรมดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะเกิดซ้ำเรื่อยๆ นักเรียนยังคงไม่เข้าใจถึงความรุนแรงของการ “ล้อ” จึงทำให้ผมต้องเก็บไปคิดเป็นการบ้านว่า “ต้องทำอย่างไร” นักเรียนถึงจะเข้าใจว่าการล้อเลียนหรือ bully โดยใช้คำพูดเป็นสิ่งอันตราย จนกระทั่งได้ไอเดีย “Color the Paperman with Bully”
แนวคิดไอเดีย
ไอเดียของกิจกรรม “Color the Paperman with Bullying” คือการให้นักเรียนวาดภาพตัวเองลงบนกระดาษจากนั้น ฉีดสเปรย์สีที่แทนคำพูดแย่ๆลงบนกระดาษ ยิ่งกระดาษดูดซับน้ำมากเท่าไหร่ กระดาษก็จะขาดยุ่ยและพัง เหมือนกับสภาพจิตใจของนักเรียนหลังจากโดน Bully ผ่านคำพูด
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
1. นักเรียนวาดภาพตัวเองลงบนกระดาษ A5 ที่ครูเตรียมไว้ เมื่อวาดเสร็จให้สลับกระดาษกับเพื่อนตามใจชอบ
2. ครูนำขวดสเปรย์ใส่น้ำสีต่างๆที่มีฉลากคำพูดล้อเลียนติดไว้แต่ละขวดมาวางหน้าห้อง
3. ครูให้นักเรียนเดินออกมาหยิบขวดสเปรย์ไปฉีดลงบนกระดาษของเพื่อน กี่ขวดก็ได้จนกว่าจะพอใจ
4. เมื่อนักเรียนทุกคนฉีดครบเรียบร้อย ครูหยิบกระดาษแผ่นใหม่ขึ้นมาแล้วนำหลอดไปจิ้มกระดาษให้ทะลุ ซึ่งหลอดไม่สามารถแทงกระดาษจนทะลุได้
5. ครูขอกระดาษจากนักเรียนที่ทำการฉีดสเปรย์จนชุ่ม จากนั้นนำหลอดไปจิ้มกระดาษแผ่นนั้น พบว่ากระดาษทะลุขาด
6. ครูถอดบทเรียนจากกระดาษทั้งสองแผ่นว่า คำพูดล้อเลียนต่างๆที่เราพูดกับเพื่อน เหมือนกับที่เราเอาสเปรย์ฉีดบนกระดาษ ยิ่งฉีดมากเท่าไหร่ กระดาษก็จะยิ่งบางและฉีกขาดง่ายมากเท่านั้น เหมือนกับ สภาพจิตใจของเพื่อนที่โดนล้อที่บอบบางและฉีกขาดง่าย
7. ครูขออาสาสมัครนักเรียน 1 คน ออกมาอ่านเรื่องราวหน้าชั้นเรียนเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการโดนล้อ โดยเป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนที่ถูกเพื่อนล้อจากการตัดผมจนจบชีวิตของตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย
8. เมื่อนักเรียนอ่านจบ ครูถอดบทความเพิ่มเติมว่า เด็กในเรื่องก็คือกระดาษแผ่นหนึ่งที่โดนฉีดสเปรย์จนเปียกยุ่ย เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ฉีกขาดจนไม่สามารถกลับมาเป็นกระดาษแผ่นเดิมได้
9. ครูถามคำถามนักเรียนกลับว่า นักเรียนเสียใจกับเรื่องนักเรียนที่ฆ่าตัวตายไหม และเราอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นกับเพื่อนเราไหม โดยให้เด็กคิดและตอบตัวเองในใจ
10. ครูให้นักเรียนเขียนสิ่งที่ได้รับจากคาบนี้หรือสิ่งที่ต้องการพูด อาทิเช่น คำสารภาพผิด คำขอโทษ จากนั้นครูรวบรวมกระดาษจากนักเรียนและจบคาบเรียน
สรุปผล
หลังจากคาบเรียนดังกล่าว นักเรียนบางส่วนก็ยังคงมีพฤติกรรมการ “ด่าพ้อ-ล้อเพื่อน” อยู่ตามปกติ แต่อย่างไรก็ดี มีนักเรียนบางส่วนที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้ทำการห้ามหรือติเพื่อนที่ล้อเลียนผู้อื่น ซึ่งก็ถือว่าในฐานะครู เราได้บ่มเพาะเมล็ดพันธ์ความตระหนักรู้ดังกล่าวได้สำเร็จแล้ว และการสอนเรื่อง Bully คงไม่สามารถสอนได้ภายใน 1 คาบจริงๆ เฉกเช่นเดียวกับการรณรงค์เรื่องการ Bully ในสังคมอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังพบเจอการ Bully ได้อยู่ทั่วไป
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!