ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนบ้านกาด(เขมวังส์ฯ) ปีการศึกษา 2563 – 2564 พบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมีคุณภาพต่ำลงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้ต้องมีการหยุดเรียนบ่อยครั้งและหยุดเป็นเวลานาน นักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมในการเรียน On Line และ On Hand ทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ จึงทำให้ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test : RT) ปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 อยู่ในระดับต่ำลง เมื่อเปิดเรียน ปีการศึกษา 2565 นักเรียนมีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)
การจัดกระบวนการสอนแบบบันได 6 ขั้น ได้นำแนวคิด ทฤษฎีต่าง ๆ มาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน โดยได้นำแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน Caine and Caine (1990) ที่ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้สามารถส่งเสริมโดยการจัดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เกิดความท้าทาย สมองจะจดจำได้ดีเมื่อข้อเท็จจริงและทักษะต่าง ๆ เชื่อมโยงกับความจำเหตุการณ์ สถานที่ที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ อารมณ์มีความสำคัญต่อการจัดเก็บข้อมูลและสมอง การจัดกระบวนการสอนแบบบันได 6 ขั้น อ่านออกเขียนได้ สามารถกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นการจัดการเรียนรู้แบบเน้นย้ำซ้ำทวนทำให้นักเรียนมีทักษะอ่านและเขียนมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของ วิมลรัตน์ สุนทรโรจน์ (2551) ที่ได้กล่าวไว้ว่า การให้ผู้เรียนได้ทำซ้ำ ๆ ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่แม่นยำ และยังได้กล่าวไว้อีกว่ากฎแห่งผล คือ การที่นักเรียนได้ทราบผลการทำงานของตนเอง การเฉลยคำตอบให้จะช่วยให้นักเรียนทราบข้อบกพร่อง เพื่อปรับปรุงแกไขและเป็นการสร้างความพอใจให้เกิดแก่นักเรียน ตรงกับขั้นตอนของบันได 6 ขั้น อ่านออกเขียนได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คือเมื่อนักเรียนอ่านและเขียนในแต่ละขั้นตอน ครูจะมีการตรวจสอบคำตอบและให้ผลสะท้อนกลับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง มีการจูงใจ คือ การจัดเนื้อหา เรียงจากง่ายและสั้นไปสู่เรื่องที่ยากและยาวขึ้น
ขั้นที่ 1 ฝึกคิดให้สนุก ทบทวนความรู้เดิมผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เช่น เกม BBL
ขั้นที่ 2 แจกลูกสะกดคำ นักเรียนฝึกอ่านแจกลูกสะกดคำตามครู
ขั้นที่ 3 อ่านย้ำซ้ำอีกที นักเรียนฝึกอ่านแจกลูกสะกดคำและอ่านเป็นคำจนคล่อง
ขั้นที่ 4 คัดลายมือให้ดี นักเรียนฝึกเขียนคำเหล่านั้นด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัด
ขั้นที่ 5 เขียนตามคำบอก นักเรียนฝึกเขียนตามคำบอก นักเรียนร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง และแก้ไขปรับปรุง
ขั้นที่ 6 อ่านและแต่งประโยค ฝึกอ่านประโยคจนคล่องและฝึกแต่งประโยคจากคำและภาพที่กำหนดให้
ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test : RT) ในปีการศึกษา 2565 มีผลการประเมินทั้ง 2 ด้าน สูงขึ้น โดยคะแนนเฉลี่ยร้อยละรวมทั้ง 2 ด้าน ปีการศึกษา 2563 ร้อยละ 80.57 ปีการศึกษา 2564 ร้อยละ 42.61 ปีการศึกษา 2565 ร้อยละ 89.65 จะเห็นได้ว่านักเรียนมีทักษะการอ่านด้านการอ่านออกเสียงและการอ่านรู้เรื่องสูงกว่าปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564
1. การปฏิบัติแบบเน้นย้ำซ้ำทวนทั้งการอ่านและการเขียนอย่างเป็นขั้นตอน ทำให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและเขียนได้ดีขึ้น
2. ในการใช้นวัตกรรมแต่ละขั้นตอนใช้เวลานาน ภายใน 1 คาบไม่ได้ทำครบทุกขั้นตอน จึงได้แยกขั้นตอนออกมากให้เหมาะสมกับเวลา 1 คาบ
3. เมื่อให้นักเรียนเขียนตามคำบอกแล้ว ควรให้ผลสะท้อนกลับแก่นักเรียน และให้นักเรียนได้ปรับปรุงแก้ไข
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!