icon
giftClose
profile

สื่อดี ครูเปี๊ยกว่าโอ : ดาบพิฆาตอสูร (EP1 ของ Season 1)

8260
ภาพประกอบไอเดีย สื่อดี ครูเปี๊ยกว่าโอ : ดาบพิฆาตอสูร (EP1 ของ Season 1)

สื่อดี ครูเปี๊ยกว่าโอ : ดาบพิฆาตอสูร (EP1 ของ Season 1)

ในปี ค.ศ.2020 Nikkei ระบุว่าแฟรนไชส์ “ดาบพิฆาตอสูร” สามารถทำรายได้ไปกว่า 1 ล้านล้านเยน ขึ้นแท่นมังงะและอนิเมะที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลอย่างไม่ต้องสงสัย การที่ดาบพิฆาตอสูร ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามเช่นนี้เป็นเพราะอะไร ครูเปี๊ยกจะมารีวิวให้ผู้ปกครองได้ทราบพอสังเขป

ในขนบมังงะและอนิเมะยุคของผู้ใหญ่ยุค 90 อย่างเรา (ทศวรรษที่ 1990s) ตัวเอกของการ์ตูนแนวโชเน็น (การ์ตูนที่กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กผู้ชาย อายุไม่เกิน 18 ปี) อย่าง Dragon Ball / Saint Seiya เราจะคุ้นชินกับการต่อสู้ที่ตัวเอกเก่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งอาจเกิดจากความสามารถพิเศษบางอย่างที่ติดตัวมาแต่แรก หรือการที่เนื้อเรื่องกล่าวถึงการฝึกฝนเติบโตอย่างรวดเร็ว รวบรัด ไม่ได้ฉายให้เห็นความยากลำบากระหว่างการฝึก นอกจากนี้ เนื้อหาหลักๆ ยังมุ่งเน้นฉากการต่อสู้ มากกว่ามิติความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งเป็นภาพในอดีตที่ต่างกับมังงะหรืออนิเมะสมัยนี้อย่างสิ้นเชิง

วัฒนธรรมมังงะและอนิเมะเติบโตขึ้น พร้อมกับมีเด็กรุ่นใหม่สับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าวงการมาเรื่อยๆ ทำให้การแต่งเรื่อง มีมิตินำเสนอที่ซับซ้อนขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจากนี้การออกแบบตัวละครที่ตอบสนองแทนความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านก็มีมากขึ้น ทำให้ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิดกับตัวละคร สามารถเอาตัวเองไป Empathize (เห็นอกเห็นใจ) ตัวละครนั้นได้ไม่ยาก ปัจจัยเหล่านี้มักพบในมังงะหรืออนิเมะที่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง

ดาบพิฆาตอสูร ก็เช่นกัน เพียงแค่ EP1 ของ Season 1 ฉากเปิดของเรื่องได้วาง Cliff-hanger (อันหมายถึง เรื่องราวอันน่าตื่นเต้น เสมือนพาเหตุการณ์ไปถึงหน้าผาสูงชัน แล้วจบตอนไปอย่างนั้นทิ้งให้เราอยากดูต่อ) เอาไว้อย่างชาญฉลาด ตอนเปิดเรื่องกล่าวถึงชีวิตของตัวเอกที่ชื่อทันจิโร่ที่อาศัยกับกับแม่และพี่น้องอีก 4 คน ใช้ชีวิตอย่างยากจน แต่มีความสุข วันหนึ่งที่ทันจิโร่ออกไปขายฟืนในเมือง กลับมาถึงบ้านพบว่าครอบครัวถูกอสูรฆ่าตาย มีเพียงน้องสาว เนซึโกะเท่านั้นมี่ยังมีลมหายใจ ทันจิโร่แบกร่างของเนซึโกะเข้าเมือง เพื่อหวังให้หมอรักษา

ระหว่างทางทันจิโร่พบว่าเนซึโกะ กำลังจะกลายร่างเป็นอสูรกินคน ขณะที่เนซึโกะ กำลังเข้าทำร้ายทันจิโร่ กิยูซึ่งเป็นนักดาบพิฆาตอสูร ได้เดินทางผ่านมาเห็นเหตุการณ์ จึงเข้าช่วยเหลือ หวังจัดการอสูรในทันที แต่ทันจิโร่ขอให้กิยูไว้ชีวิตน้องสาวตนเอง และสัญญาว่าจะหาทางรักษาน้องสาวให้จงได้ กิยูที่ช่วยเหลือผู้คนมามาก ทราบในทันทีว่าทันจิโร่กำลังอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง การสูญเสียครอบครัวอย่างฉับพลัน ทำให้ทันจิโร่ไม่สามารถแบกรับการสูญเสียน้องสาวคนนี้ได้อีกแล้ว แต่กิยูกลับตะคอกใส่ทันจิโร่ว่ามีแต่ความอวดดี การวิงวอนร้องขอชีวิตเนซึโกะจากผู้อื่น ไม่ได้ช่วยให้ทันจิโร่ได้เนซึโกะกลับคืนมา หากทันจิโร่วิงวอนเช่นนี้ต่อหน้าอสูรกินคน มีแต่จะตายเปล่าเท่านั้น สิ่งที่ทันจิโร่ควรจะทำตอนนี้ คือลุกขึ้นมาช่วงชิงเนซึโกะไปจากกิยูเท่านั้น หากแค่นี้ยังทำไม่ได้ กิยูจะปลิดชีวิตของเนซึโกะเสียตอนนี้เลย

จากตัวเอกของมังงะและอนิเมะแนวโชเน็นที่ส่วนใหญ่จะเก่งกาจปราดเปรื่อง เป็นไอดอลของเด็กๆ กลับพบว่าทันจิโร่คือตัวเอกที่ไม่มีอะไรเลย เป็นคนธรรมดาที่ชีวิตติดลบอยู่แล้วด้วยซ้ำ ด้วยชะตากรรมของ 2 พี่น้อง ทำให้เรารู้สึกเอาใจช่วยทั้งสองคนอย่างเต็มที่ ในส่วนของกิยูเอง เมื่อตะคอกใส่ไปถึงขนาดนั้น เขากลับคิดอยู่ในใจ ว่าอยากเอาใจช่วยให้ทันจิโร่ลุกขึ้นสู้ในทันที เพราะหากทันจิโร่ทำไม่ได้ ทันจิโร่จะสูญสิ้นความหวังต่อโลกใบนี้อย่างกู่ไม่กลับ ในมิตินี้ก็ทำให้ผู้ใหญ่ที่เอาใจช่วยผู้น้อยได้เรียนรู้เติบโต ดูแล้วคงรู้สึกเอาใจช่วยกิยูให้ทำสำเร็จเช่นเดียวกัน

เพียงซีนเล็กๆ ในตอนปฐมฤกษ์นี้ ก็มิต้องสงสัยเลยว่าเหตุใด “ดาบพิฆาตอสูร” จึงประสบความสำเร็จ สาระที่ได้จากซีนสั้นๆ นี้ เพียงพอที่จะสอนนักเรียนของเราให้เรียนรู้เรื่องของ Growth Mindset (กรอบคิดเติบโต) และ Empathy ได้อย่างมีพลังแล้ว กล่าวคือ ทันจิโร่ มีกรอบคิดเติบโตอย่างมาก แม้จะเกิดมาขาดแคลน แต่รู้จักมองเห็นความสุขที่อยู่รอบกาย และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความหวังได้ กรอบคิดเติบโตทำให้ทันจิโร่ไม่หมดหวังที่จะใช้ชีวิตต่อไปเพื่อช่วยเหลือเนซึโกะ แต่กิยูซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มองเห็นทันทีว่า หากทันจิโร่มีแต่กรอบคิดเติบโต ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทันจิโร่รักษาความหวังเอาไว้ได้ สิ่งที่ทันจิโร่ยังขาดคือ “ทักษะและโลกทัศน์ที่จำเป็น” สำหรับทำกรอบคิดเติบโตให้เป็นจริง

ทักษะและโลกทัศน์ที่จำเป็นในกรณีของทันจิโร่คืออะไร ทักษะก็เช่น ร่างกายที่แข็งแรงมาก ฝีมือดาบ การควบคุมปราณต่างๆ ในร่างกาย เป็นต้น ในขณะที่โลกทัศน์คือการเข้าใจโลกของอสูรตามที่เป็นจริง ทันจิโร่ต้องรู้ว่าอสูรนั้นโหดร้าย ไม่มีเมตตาให้ทันจิโร่เพียงเพราะว่าสงสารในชะตากรรมของเขา หากเคสของอสูรเปลี่ยนแปลงได้เพียงเพราะมีความเมตตา ทันจิโร่ก็คงไม่สูญเสียครอบครัวแต่แรก การมีโลกทัศน์ที่เกี่ยวกับอสูรอย่างถูกต้อง จะทำให้ทันจิโร่ประเมินตนเองได้อย่างตรงไปตรงมาว่า กรอบคิดเติบโตเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยเนซึโกะได้ เขาจึงสามารถออกแบบการเรียนรู้ของตนเองนับจากนี้อย่างถูกต้อง เพื่อทำให้เป้าหมายที่ว่าจะช่วยเนสึโกะให้กลับเป็นมนุษย์ เป็นจริงได้

กิยูคงอ่านอนาคตออกว่า หากทันจิโร่ก้าวข้ามเรื่องทักษะกับโลกทัศน์นี้ไปไม่ได้ การตายจากโลกนี้ไปเสีย อาจเป็นทางเลือกที่เปี่ยมด้วยเมตตาต่อสองพี่น้องคู่นี้มากกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ แต่เพราะกิยูเป็นนักล่าอสูร ซึ่งเคยผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายมาไม่ต่างกัน เขาจึงตระหนักว่า ทันจิโร่มีโอกาสจะลุกขึ้นมาได้ หากผ่านการทดสอบของเขา กิยูกำลังประเมินทันจิโร่ เพื่อตัดสินใจว่า จะปล่อยให้ 2 คนนี้มีชีวิตต่อไป หรือจะปลิดชีพ 2 คนนี้เสียตั้งแต่ตอนนี้ (เพื่อปิดโอกาสไม่ให้เนซึโกะ ฆ่าคนอื่นหรือแม้แต่ฆ่าทันจิโร่เอง)

เรื่องราวในซีนนี้จบลงที่ทันจิโร่ทุ่มสุดตัว หาวิธีการ รีดเร้นความสามารถทั้งหมดที่มี ณ ตอนนั้น เพื่อแย่งชิงเนซึโกะจากกิยู แม้จะไม่สำเร็จ แต่กิยูเห็นโอกาสในการพัฒนาทันจิโร่ให้เป็นคนใหม่ กิยูตัดสินใจไว้ชีวิตทั้ง 2 คน และเสนอทางเดินต่อแก่ทันจิโร่ โดยเชื่อมั่นว่าทันจิโร่จะก้าวเดินต่อไปอย่างแน่นอน กิยูกำลังทำหน้าที่ของผู้ใหญ่ ที่เชื่อมั่นในตัวเด็กว่าเด็กคนหนึ่งมีศักยภาพและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เด็กต้องการโอกาสในการเรียนรู้ ต้องการคำแนะนำ ต้องการกำแพงให้พิงหลังเมื่อออกไปทดลองใช้ชีวิตแล้วเหนื่อยล้า พวกเขาพร้อมที่จะลุกไปสู้ต่อ ขอเพียงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งผู้ใหญ่สามารถดูแลในประเด็นนี้ให้เด็กๆ ของเราได้ 

“ดาบพิฆาตอสูร” ยังมีตัวละครอีกเยอะมาก ที่เป็นตัวแทนของการเรียนรู้เติบโตในแบบต่างๆ อาทิ ตัวละครเสาหลัก ที่แม้จะอยู่บนจุดสูงสุดของเหล่านักดาบแล้ว ก็ยังเปรียบเทียบกับกลุ่มเสาหลักด้วยกันเองตลอดเวลาว่ามีคนที่ทำอย่างไรฉันก็ก้าวข้ามไม่ได้ มีตัวละครเสาหลักที่เป็นอัจฉริยะ แต่ไม่เข้าใจผู้อื่น มีตัวละครที่ไม่สามารถก้าวข้ามอดีตได้ ฯลฯ นักเรียนสามารถเรียนรู้ และมี Empathize ต่อผู้อื่นได้ เปรียบเสมือนการเรียนวรรณกรรม ให้นักเรียนได้ลองเปรียบเทียบตนเองเป็นตัวละครนั้นๆ ผู้ใหญ่สามารถถามต่อได้ว่า นักเรียนรู้สึกอย่างไร เข้าใจความรู้สึกของตัวละคร (คือแบบฝึกการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น) และจะเลือกปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ อันเป็นการฝึกคิด วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้อีกด้วย

“ดาบพิฆาตอสูร” สื่อดีสำหรับสอนเรื่อง Growth Mindset (กรอบคิดเติบโต) และ Empathy ครูเปี๊ยกว่าโอครับ


***


สื่อดี ครูเปี๊ยกว่าโอ : เป็นคอลัมน์ที่จะทำหน้าที่แนะนำสื่อดีให้กับคุณครู เพราะทราบดีว่าคุณครูไม่ได้มีเวลารีวิวสื่อได้ทุกสื่อ ครูเปี๊ยกจะแนะนำให้เห็นถึงรายละเอียดบางส่วน เผื่อครูที่สนใจ จะตามไปดูแล้วนำไปปรับใช้ในการสอน รวมถึงสามารถแนะนำผู้ปกครองต่อได้ว่า สื่อเหล่านี้ "ครูว่าโอ" ปลอดภัย แนะนำบุตรหลานได้เลย


***


ครูเปี๊ยกลองทำเวอร์ชั่น Podcast ด้วยครับ สามารถเข้าไปทดลองฟังกันได้นะครับ

youtu.be/wQLsnn6zg3Y

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)