icon
giftClose
profile

Friends of Buddy Kru ครูปอ - วัชราภรณ์ บุญฉ่ำ

2350
ภาพประกอบไอเดีย Friends of Buddy Kru  ครูปอ - วัชราภรณ์ บุญฉ่ำ

❇️ พฤติกรรมนักเรียนบางอย่างที่ไม่ดี

ไม่ว่าจะ พูดจาไม่ดี หงุดหงิด ฟึดฟัดใส่

ครูอย่างเราจะต้องรับมืออย่างไร

เเละบรรยากาศในห้องเรียนจะช่วยทำอะไรได้


พบกับ ครูปอ - วัชราภรณ์ บุญฉ่ำ

ครูจากโรงเรียนนครนนท์วิทยา 5 ทานสัมฤทธิ์

ผู้ตั้งเป้าหมายใน Buddy Kru พัฒนาบรรยากาศในห้องเรียน


❤️‍🔥 “ครูปอสอนประถมมา 18 ปีได้ค่ะ จะมี 2 ปีนี้ที่เพิ่งได้มาประจำชั้นเด็กมัธยม รู้สึกว่าหนัก หนักแบบ หนักใจเลย เราเจอเด็กมัธยม ที่ค่อนข้างจะแอนตี้คุณครู รักเพื่อน ตามกระแสกันมาก แล้วก็มีเรื่องปัญหาครอบครัว ทะเลาะวิวาท เยอะเลยค่ะพวกปัญหาวัยรุ่น เราเพิ่งมาสอนก็ช็อคค่ะ คุยกันลำบากเหมือนไม่เข้าใจกัน แรก ๆ คือโทรศัพท์หาคุณแม่เลย บอกว่าถ้าตอนเด็ก ๆ ทำอะไรไม่ดีกับคุณแม่ไว้ ขออภัยนะคะ (หัวเราะ)


“ยกตัวอย่างเป็นเหตุการณ์แล้วกัน เด็กก็จะมีฮึดฮัด พูดจานักเลงใส่ ดึงหน้าหงุดหงิด ฟึดฟัด แค่เอาหนังสือมาวางก็หงุดหงิดแล้ว พอเราเรียกชื่อนิดนึงก็มีพูดว่า “เรียกชื่อทำไมอ่ะ” เอาล่ะไม่เป็นไร เด็กก็คือเด็ก โลกของเด็กเล็กนิดเดียวเองนะ เขาอาจจะมีอะไรในใจอยู่ เขาอาจจะเจออะไรที่บ้านมา แล้วคิดว่าครูจะทำอย่างนั้นบ้าง อะไรแบบนี้ค่ะ เราก็ไปชวนคุยให้นักเรียนค่อย ๆ ได้คิด “เออ เธอเหมือนเพื่อนคนนั้นเลย มีปัญหาเหมือนกันเคยปรึกษากันมั้ย” เขาก็จะ “อ้าว เพื่อนก็มีเหรอ ฉันไม่ได้มีปัญหาคนเดียว” ค่อย ๆ ให้เขามองมากขึ้น ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เธอที่มีปัญหา เพื่อนก็มี ครูก็มีปัญหาเหมือนกัน


“จริง ๆ ใช้เวลาอยู่นานเลย เรามีบอกว่าครูไม่ได้เรียกเธอคนเดียว ไม่ได้เรียกเพื่อประจาน คุณครูเรียกทุกคนเลย ตอบผิดก็ไม่เป็นไร เรามาเรียนไง ทั้งหมดนี้มันดีต่อเธอ เอาไปใช้ได้ในอนาคตนะ สิ่งที่บอกกับนักเรียนไป คุณครูปรารถนาดีกับเธอจริง ๆ นะประมาณนี้ค่ะ หรือตอนที่เจอคำหยาบ เจอทำตัวรุนเเรงใส่ เราก็บอกว่า ครูพูดคำหยาบ ใช้กำลังได้นะแต่ครูเลือกที่จะไม่ใช้ เรานั่งลงแล้วมาคุยกันดีกว่า กว่าจะผ่านแต่ละชั่วโมงในช่วงนั้นคือมันยากมาก”


✨ “การปรับพฤติกรรม เราเห็นละว่ามันทำได้ เราเลยลองทำกิจกรรมเช็คชื่อ เริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ ใกล้ตัวก่อน กินข้าวเช้ากับอะไร เรื่องราวดี ๆ ของวันนี้ บางทีก็เชื่อมโยงกับเรื่องที่สอน เช่น ขอคำที่ขึ้นต้นด้วยเครื่องอะไรอย่างงี้ พอเริ่มนึกไม่ออก เด็ก ๆ ก็อยากเสนอบ้าง ทำให้รู้สึกแฮปปี้กับการได้พูดถึงเรื่องของตัวเองให้เพื่อนฟัง แล้วก็แอบฟังเรื่องของเพื่อน ตรงนี้ทำให้สนิทกันมากขึ้นค่ะ ในห้องน่าจะมีอยู่สัก 30% ที่บอกทุกอย่าง เข้ามาปรึกษาเรื่องส่วนตัวนอกเวลาด้วย ตอนแรกก็อึ้ง ๆ ที่เหลือคือพอเราเห็นผิดสังเกต เราจะรีบเข้าไปหาก่อน เดิน ๆ อยู่เห็นหมอง ๆ ก็ชาร์จเข้าไปเลย ในคาบบางทีเห็นฮึดฮัด ๆ หรือนอนฟุบ เราก็จะทดเอาไว้ก่อน มีเวลาว่างปล่อยทำแบบฝึกหัดก็เข้าไปถามอะไรอย่างนี้ค่ะ


“นอกจากนี้เราพยายามให้เขารู้ว่าใครพลาด เพื่อนพร้อมจะ support เสมอ กว่าจะทำได้ แรก ๆ พอมีคนพลาดปุ๊บ จะมีคนซ้ำตลอดเลย เราต้องแก้ตรงนี้ก่อนว่าคาบครู เราจะไม่ล้อเลียนคนที่กำลังพยายามอยู่ ก็ใช้เวลาเป็นเดือนเลยกว่าจะคุ้นชินกัน เด็ก ๆ ก็เริ่มมีความมั่นใจในตัวเอง เพราะรู้ว่าพลาดไปก็ไม่เป็นไร เราจะช่วยกันเติบโตไปด้วยกัน บรรยากาศก็เลยดี เรียนก็ถามได้ ตอบได้ ใครตอบไม่ได้มีเพื่อนคอยช่วย บอกคำใบ้ ลุ้นกันอยู่เสมอ


“บรรยากาศในห้องเรียนมาก่อนเรื่องเนื้อหาจริง ๆ นะ ถ้าบรรยากาศหดหู่ หมองเศร้า หรือว่าเดือด คือจะทำอะไรต่อไปไม่ได้เลย เราว่ามันคือความไว้ใจกัน ความพร้อมที่จะไปด้วยกัน เพราะเราใช้เวลาสอนจริง ๆ ไม่เยอะมาก เนื้อหาต่อชั่วโมงก็ไม่ได้อัด เราเอาแค่พอรู้พอเข้าใจ เด็กน่าจะจำความรู้สึกได้ดีกว่าเนื้อหานะ ถ้าเราทำให้เขารู้สึกสนุก แฮปปี้ กับโมเมนต์นี้แล้วเอาเนื้อหาไปปักไว้นิด ๆ เสริมไว้นิด ๆ ก็จะช่วยให้เรียนรู้ได้ดีกว่าปกติ เราเลยให้ความสำคัญกับความรู้สึกประมาณหนึ่งเลยค่ะ


“เราเห็นความต่างตลอด 2 ปีที่เราสอนเลย จากตอน ม.1 ใช้เวลาเตรียมความรู้สึกก่อนเรียนเยอะมาก พอขึ้นมา ม.2 ยืนแสดงตัวหน้าห้อง ยิ้มแป๊บเดียว ทุกคนก็พร้อมเรียนละ บางคนอาจจะยังติดเล่นแต่พูดนิดเดียว ไม่ต้องให้เสียน้ำตากัน ไม่ใช่เด็กนะ แต่เป็นน้ำตาครู (หัวเราะเบา ๆ) ระยะเวลาเตรียมห้องเรียนตรงนี้น้อยลง แล้วพฤติกรรมก็ดีขึ้นด้วย”


💗 “เราได้ไปเจอ Buddy Kru ใน Facebook ตอนเจอหนัก ๆ ช่วงเเรกที่สอน ม.1 เลย เราก็สงสัยนะว่ามันคืออะไร ดูน่ารักดี เลยทดลองใช้ ก็ได้เจอวิธีการคุยกับเด็ก วิธีสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน นั่นแหละห้องเรียนของเราตอนนี้ เริ่มมาจากตรงนั้น ก่อนหน้านี้ช่องว่างมันเยอะเกินไป ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี ก็ได้ Buddy Kru ชวนให้ตั้งเป้าหมาย เราเลยเลือกการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนไป


“Buddy Kru ช่วยเสนอไอเดียแล้วเราก็เอาไปใช้ เช่น การ์ด Self Card ที่ให้นักเรียน feedback มาว่าช่วยให้เขาคลี่คลายความรู้สึกออกมาได้ นอกจากนี้เราใช้ DLTV ด้วย บางทีมันไม่พอ ถ้าให้ดูแต่จอ คุณครูต้นทางเรียบร้อยน่ารัก ในขณะที่เด็กเรามันแบบอื้อหือ เราต้อง Pause คุณครูไว้แล้วก็ใช้เนื้อหาจาก DLTV ผสมกับกิจกรรมที่ส่งมารีมิกซ์ใช้รวมกันไปหมด กว่าจะผ่านไปในแต่ละช่วง การที่ Buddy Kru ส่งมาทั้งไอเดีย และช่วยทำเป้าหมายให้สำเร็จ คือช่วยได้เยอะมากเลยนะ เราอยากให้ทุกคนได้เห็นนะเวลาผู้ปกครองเขามีสายตาปิ๊งขึ้นมา เพราะลูกฉันดีขึ้นจริง ๆ


“สุดท้าย อยากบอกคุณครูที่กำลังสู้ชีวิตอยู่เหมือนกันว่า ถ้าคุณครูมีความปรารถนาดีต่อเด็ก ๆ เขาสัมผัสได้ แล้วการหาวิธีสื่อสารที่ถูกต้องมันจะช่วย Connect ช่องว่าง ให้กลายเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กันได้ ก็จะเกิดบรรยากาศที่ดีเป็นความสุข เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทั้งเด็กและครูเองด้วยเหมือนกันค่ะ”

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)