inskru
gift-close

มังงะดี ครูเปี๊ยกว่าโอ: อากิระ ยอดคุณหมอนักวินิจฉัยโรค Vol.1

0
0
ภาพประกอบไอเดีย มังงะดี ครูเปี๊ยกว่าโอ: อากิระ ยอดคุณหมอนักวินิจฉัยโรค Vol.1

มังงะดี ครูเปี๊ยกว่าโอ : อากิระ ยอดคุณหมอนักวินิจฉัยโรค เล่ม 1

อากิระ ยอดคุณหมอนักวินิจฉัยโรค เป็นมังงะลิขสิทธิ์ จากสำนักพิมพ์ Amico ในเครือ นานมีบุ๊คส์ โดยมีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Juukyu Banme No Karute Tokushige Akira No Monshin (19番目のカルテ 徳重晃の問診) ซึ่งออกมาครั้งแรกที่ประเทศญี่ป่นในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) โดยสำนักพิมพ์ Coamix

สื่อมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นสื่อที่ผู้ปกครองหรือครูมักจะมองข้าม ซึ่งครูเปี๊ยกว่าว่าเสียดาย เพราะมังงะถือเป็น Soft Power ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชาวญี่ปุ่นเติบโตขึ้นมากับสื่อมังงะและส่งผลต่อวิธีคิดและพฤติกรรมอันเป็นรากฐานที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลกในทุกวันนี้ นอกจากอิทธิพลที่มีต่อชาวญี่ปุ่นแล้ว มังงะยังกระจายสู่ผู้คนทั่วโลก คำถามที่เราควรถามคือ มีอะไรที่น่าสนใจในมังงะญี่ปุ่น อะไรเป็นข้อดีข้อเสีย และมังงะแบบไหนจึงจะเหมาะกับเด็กๆ ของเรา

ในแผงหนังสือมังงะที่เราพบเห็นได้จากร้านหนังสือ หรือตามงานมหกรรมหนังสือ มักมีปกมังงะจำนวนมากที่มีภาพรุนแรง หรือสื่อเรื่อง “เพศ” อย่างโจ่งครึ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามังงะเป็นสื่อที่ตอบสนองต่อผู้เสพที่มีรสนิยมเฉพาะบางแบบ ถือเป็นสื่อสำหรับผู้ใหญ่ แต่มังงะสำหรับผู้เสพทั่วไปก็มีไม่น้อย มังงะดี ครูเปี๊ยกว่าโอ จะแนะนำสื่อมังงะที่ดี มังงะแบบไหนที่ปลอดภัย และน่าแนะนำให้เด็กๆ ของเราเสพได้อย่างสร้างสรรค์

ครูเปี๊ยกขอแนะนำมังงะที่มีเนื้อหาประเภทหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเชี่ยวชาญอย่างมาก นั่นคือ ปรัชญาที่เรียกว่า โคดาวาริ (Kodawari - こだわり) คือการพยายามทำบางสิ่งบางอย่างด้วยความตั้งใจแน่วแน่ มีรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคม เคารพในงาน มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ เพื่อพัฒนาคนให้มีความเป็นมืออาชีพอย่างถึงที่สุด กล่าวได้ว่า มังงะที่เล่าถึงอาชีพ หรือทักษะบางอย่างเป็นการเฉพาะ (เช่น กีฬา ทำอาหาร ฯลฯ) มักจะสอดแทรกเรื่องของ โคดาวาริ ที่เข้มข้น สนุกสนาน แถมยังสร้างเจตคติที่ดีให้แก่เด็กๆ ของเราได้อีกด้วย

หมออากิระ เป็นตัวละครหนึ่งที่แสดงออกถึงหลัก โคดาวาริ เป็นอย่างดี เนื้อเรื่องเปิดด้วยการปูภาพว่าวงการเเพทย์ของญี่ปุ่นประกอบด้วยสาขาเฉพาะทาง 18 สาขา ซึ่งเดิมที “หมอเวชปฏิบัติทั่วไป” (GP - General Practitioner) อันเปรียบเสมือน “หน้าด่านคัดกรองโรค” มิได้มีฐานะเป็นสาขาเฉพาะทาง ในปัจจุบันวงการแพทย์ญี่ปุ่นได้เห็นถึงความสำคัญของงานเวชปฏิบัติทั่วไป จนถึงขั้นได้มีการผลักดันให้ “เวชปฏิบัติทั่วไป”กลายเป็นสาขาเฉพาะทางที่ 19 ที่แม้แต่แพทย์เอง ก็มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงความสำคัญแพทย์เฉพาะทางสาขาใหม่นี้ (ในบริบทของประเทศไทย หมอที่เรียนจบ 6 ปี จะถือว่าเป็นหมอเวชปฏิบัติทั่วไป และสามารถเรียนต่อเพื่อพัฒนาเป็นแพทย์สาขาเฉพาะทางได้ หมอเวชปฏิบัติทั่วไปจะมีความสำคัญอย่างมาก ในสถานพยาบาลขนาดเล็กของไทยที่มักมีแพทย์ประจำอยู่ไม่มาก)

การ์ตูนเรื่องนี้ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลัก 2 คน ได้แก่ หมอทาคิโนะ ซึ่งเป็นแพทย์จบใหม่เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูก ตอนที่ 1 หมอทาคิโนะกำลังรักษาผู้ป่วยที่ตกบันไดแล้วไหล่ซ้ายหลุดซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระดูก แต่ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยแจ้งว่ามีอาการเจ็บคอ ซึ่งหมอทาคิโนะไม่ยังพบสาเหตุ จึงรักษาตามอาการ แต่ปรากฎว่าเวลาผ่านไปอาการทางกระดูกดีขึ้น แต่อาการเจ็บคอยังไม่หาย หมอทาคิโนะจะส่งต่อผู้ป่วยไปให้แพทย์เฉพาะทางตาหูคอจมูกวินิจฉัยต่อไป

ขณะที่ประชุมทีมแพทย์ ซึ่งตอนนั้นโรงพยาบาลในเรื่องพึ่งเปิดสาขาใหม่คือ หมอเวชปฏิบัติทั่วไป โดยมีตัวละครหลักอีกคนคือ หมออากิระ เป็นแพทย์ประจำสาขานี้เพียงคนเดียว ได้สอบถามถึงสาเหตุที่ผู้ป่วยตกบันได ปรากฎว่าที่ประชุมแพทย์ตอนนั้นไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุดังกล่าว และมีการแก้เก้อกันว่า หากต้องถามรายละเอียดกันถึงขนาดนี้ แพทย์ก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้วเพราะคนไข้ของแพทย์เยอะมากๆ

หมออากิระถือวิสาสะเข้าไปสอบถามผู้ป่วยทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นแพทย์เจ้าของไข้ เพราะหมออากิระมองว่าอาการของคนไข้เริ่มทรุด รอไม่ได้ ก็พบข้อมูลที่สำคัญว่า ผู้ป่วยเป็นเจ้าของร้านอาหาร ต้องดื่มเหล้าทุกวันเพื่อตรวจสอบคุณภาพก่อนที่ลูกค้าจะเข้าร้าน และที่เขาตกบันไดเพราะความเหนื่อยล้า (เพราะร้านอาหารเป็นงานที่หนัก) ท้ายที่สุดข้อมูลตรงนี้ทำให้หมออากิระพบว่า อาการเจ็บคอนั้นบ่งชี้ถึงภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งต้องส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมระบบไหลเวียนเลือดแทน ทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หมอทาคิโนะรู้สึกผิดมากๆ เพราะเธอวินิจฉัยโรคช้าไป ไม่สังเกตเห็นรายละเอียดที่สำคัญ หมออากิระกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่หมอจะตระหนักรู้ทุกเรื่อง หน้าที่สำคัญของหมอเวชปฏิบัติทั่วไปคือการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องแม่นยำ เพื่อส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางต่อไป หมออากิระเองก็ไม่สามารถรักษาเฉพาะทางได้เหมือนกัน การรักษาจึงควรทำเป็นทีม

ไม่ใช่แค่หมอที่รู้สึกผิดได้ แม้แต่คนไข้เองก็รู้สึกผิดเช่นกัน ในตอนที่ 2 กล่าวถึงผู้ป่วยวัยกลางคนที่ต้องดูแลแม่แก่ชราที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมแทนพ่อที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง การที่เขาทุ่มเทเวลาดูแลผู้ป่วยและทำงานไปด้วย ทำให้เขาเป็นโรคเกาต์ซึ่งมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนน้อย แต่ด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่นทำให้เขารู้สึกว่า คนรอบข้างจะมองว่าเขาจัดการเรื่องต่างๆ ได้ไม่ดีทำให้ดูแลพ่อแม่ก็ไม่ดี ตัวเองก็เจ็บป่วยกระทบต่องาน ตอนนี้แสดงให้เห็นว่าการรักษา มิได้ทำแค่เรื่องของการแก้โรคเท่านั้น แต่การดูแลสภาพจิตใจ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคด้วย

ตอนที่ 3 กล่าวถึงผู้ป่วยคนหนึ่งที่กำลังจะได้รับการเลื่อนขั้นตำแหน่งงาน แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาเกิดอาการเจ็บปวดที่ร่างกาย ผู้ป่วยเดินทางไปๆ มาๆ เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้งมาก แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุของโรค ทำให้ผู้ป่วยเหวี่ยงวีนใส่หมอ ตอนนี้แสดงให้เห็นว่าหมออากิระ เข้าอกเข้าใจผู้ป่วยอย่างมาก หมอใจเย็นกับคนไข้ ทำให้ทราบว่า คนรอบข้างผู้ป่วยเริ่มไม่เชื่อว่าเธอป่วยจริงๆ ทำให้ใช้ชีวิตด้วยความอึดอัด ท้ายที่สุด พบว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่หาได้ยากมากโรคหนึ่ง และผู้ป่วยได้สลัดทิ้งความกังวลใจทั้งหมดลง

ตอนที่ 4 กล่าวถึงผู้ป่วยเด็กคนหนึ่ง ซึ่งมีอาการผื่นขึ้นที่ขาเรื้อรัง ประเด็นคือ แม่พามารักษาช้า และหมอพบว่าคุณแม่ไม่ค่อยสนิทกับเด็ก จึงเกิดข้อสันนิษฐานว่ามีการทารุณกรรมเด็กเกิดขึ้นหรือเปล่า จากการวินิจฉัย ทราบว่าเด็กเป็นลูกติดของสามี คุณแม่มีความกังวลว่าทำไมเด็กคนนี้ไม่เปิดใจให้เสียที เด็กเองก็อยู่ในภาวะที่กำลังปรับตัวกับแม่ใหม่ ท้ายที่สุด ทั้งสองก็สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ในที่สุด

จะเห็นว่ามังงะเล่มนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย ทั้งในแง่ของ Empathy ผ่านมุมมองของหมอผู้วินิจฉัยโรค มุมมองของคนไข้ นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม การที่คนๆ หนึ่งเก่งทุกเรื่องไม่ได้ แต่ทุกคนในทีมล้วนมีความสำคัญ การให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง ในฐานะที่เป็นหมอ ควรมีมุมมอง และวิธีคิดอย่างไร ทั้งในแง่ของวิชาชีพ หรือต่อบุคคลอื่นๆ ที่อยู่แวดล้อมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวเรา เป็นต้น

ผู้ปกครองและครูจะใช้มังงะนี้อย่างไร ครูเปี๊ยกแนะนำว่าเราสามารถพูดคุยกับนักเรียนในฐานะของวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง โดยพูดคุยกับนักเรียนในประเด็นเช่น 1) ยกเหตุการณ์บางเหตุการณ์ แล้วถามถึงอารมณ์ความรู้สึก หรือวิธีแก้ปัญหา ในมุมของเด็กๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงไม่เป็นเช่นนี้ ทำไมจึงคิดไม่เหมือนกัน เพื่อเรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายได้ 2) เชื่อมโยงประสบการณ์ในมังงะกับเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้น หากเป็นประสบการณ์ของครอบครัว หรือในโรงเรียนก็จะทำให้เด็กๆ เห็นภาพได้ง่ายขึ้น สามารถเปรียบเทียบแทนตัวเองหรือผู้อื่นในชีวิตประจำวันกับตัวละครในเรื่องได้ เพื่อเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

อากิระ ยอดคุณหมอนักวินิจฉัยโรค มังงะดี ครูเปี๊ยกว่าโอครับ


หมายเหตุ - เนื้อหาแต่ละตอนครูเปี๊ยกเพียงสรุปเหตุการณ์ ในเล่มมีรายละเอียดทางการแพทย์ บอกที่มาที่ไปของโรค ซึ่งไม่สามารถลงรายละเอียดทั้งหมดในบทความได้

ลิ้งค์รูป - facebook.com/photo.php?fbid=219650337243666&set=pb.100075961039602.-2207520000&type=3

EmpathyGrowthMindsetหนังสืออ่านนอกเวลาประจำชั้นกิจกรรมเสริม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

0
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insครูเปี๊ยก
ครูประจำชั้นป.5 ที่ใช้คาบโฮมรูมและวิชาบูรณาการ ทดลองบ่มเพาะ Empathy / Self-Driven และ Mindfulness

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

ไอเดียน่าอ่านต่อ