icon
giftClose
profile

แกะเบื้องหลัง “Wishlist” ที่ผสมผสานความรู้เเละความสนุก

5150
ภาพประกอบไอเดีย แกะเบื้องหลัง “Wishlist” ที่ผสมผสานความรู้เเละความสนุก

🌟“Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน” ที่ทุกคนเห็นในช่วงนี้

คือบอร์ดเกมการเงินใหม่ล่าสุด จาก Sea (ประเทศไทย)

ที่ได้พัฒนาร่วมกับ Wizards of Learning

ที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจการจัดการเงินส่วนบุคคล

เปลี่ยนแนวคิดที่จะมุ่งเน้นที่การเก็บออมเพียงอย่างเดียว

เลิกใช้จ่ายของทุกอย่างให้เปลี่ยนไป

เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ว่าการจัดสรรเงินไม่ใช่เรื่องยาก

เเละระหว่างทางนั้นก็สามารถมีความสุขได้อีกด้วย

ผ่านกลไกเกมที่เป็นเอกลักษณ์ไหนเเบบของตัวเอง


เเต่การสร้างสรรค์ตัวเกม หรือสื่อที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้

ที่บาลานซ์ไปกับความสนุก เพลิดเพลินระหว่างเล่น

ไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้เราได้โอกาสพิเศษ

ในการสัมภาษณ์คุณเอ็กซ์-พีรัช ษรานุรักษ์

ผู้พัฒนาบอร์ดเกมจาก Wizard of Learning

มาดูวิธีกันว่าจัดการเนื้อหา คิดกลไกเกม ทำยังไง

จึงได้เกมที่น่าสนใจ รวมถึงสอดเเทรกเนื้อหาไว้

ยังไงบ้าง มาร่วมถอดรหัสไปด้วยกันในคอนเทนต์นี้ได้เลย


📌สำหรับใครที่สนใจ “Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน”

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร Update ก่อนใคร ลงชื่อได้เลยที่ https://bit.ly/3LyYin2



💡”แรงบันดาลใจในการทำบอร์ดเกม Wishlist ขึ้นมา คือทาง Sea (Thailand) มีความสนใจ และมองเห็นถึงปัญหาทางด้านการเงินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงอยากทำเกมที่เกี่ยวกับความรู้เรื่องทางการเงิน (Financial Literacy) ให้ทุกคนได้เรียนรู้ ซึ่งทาง Wizard of Learning เองก็มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน พอเราเห็นว่าตอนนี้ยังไม่มีหลักสูตรที่เกี่ยวกับเรื่องการเงินในโรงเรียนเลย เราเลยมองหาวิธีที่จะทำให้เด็กได้รับรู้เรื่องราวพวกนี้ในช่วงที่เรียนที่โรงเรียน และเป็นเครื่องมือให้ครูเอาไปใช้


“พอเริ่มโปรเจ็กต์นี้ปุ๊ป พาร์ทเนอร์เเรก ๆ ที่เราคิดถึงคือ insKru เราก็ได้ insight มาว่าครูเองก็ยังมีปัญหาด้านการเงินอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย เราจึงเริ่มคิดว่า เกมนี้ไม่ได้ทำงานเเค่กับเด็กละ เเต่เป็นการให้ความรู้ทางการเงินกับครูด้วย อาจได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการเห็นการเล่นของเด็กด้วย หลังจากนั้นเราก็ไปหาทางสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ และพี่หนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ Money Coach แล้วได้ประเด็นที่สำคัญมากคือเรื่องหนี้ ปัจจุบันคนเข้าถึงการเกิดหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบหรือหนี้นอกระบบก็ตาม เยอะมากและเร็วขึ้นมาก เยอะมากคือในเชิงจำนวนคนเป็นหนี้เยอะ ส่วนเร็วคืออายุที่เข้าถึง เด็กลงเรื่อย ๆ ลองคิดดูว่าที่รีเสิร์ชมา เด็ก ม.2 เขาก็เริ่มซื้อบัตรคอนเสิร์ตเองเเล้ว มันเลยเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าการให้ความรู้ด้านการเงินยังน้อยไปหรือเปล่า ปัญหาการเงินที่แก้ยากและน่าหนักใจคือการเป็นหนี้นี่แหละ”


🌈”ความรู้สึกที่อยากให้เกิดขึ้น คือตั้งแต่เราเป็นเด็กเลยเนี่ย เราจะมองการเงินเป็นคณิตศาสตร์ ต้องบวกลบคูณหาร เห็นตัวเลขเยอะ ๆ แล้วเครียด เราต้องเปลี่ยนมุมมองว่าการเงินเนี่ยเป็นเรื่องของทุกคนนะ มันต้องสนุก เกมนี้จะได้เป็นพื้นที่ทดลอง สามารถลองผิดลองถูกได้ในแบบของเรา โดยความสนุกที่เกมนี้ออกแบบมา จะไม่ใช่กรี๊ดกร๊าด วุ่นวาย ๆ เเต่เป็นความสนุกในเเบบที่เราได้ครุ่นคิดกับตัวเอง ได้วางเเผนมากกว่า ว่าจะจัดการเงินที่เรามี กับภารกิจความฝัน หรือที่เราเรียกกันว่า Wishlist ยังไงให้มันสำเร็จ


“บอร์ดเกมนี้มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ก็มีของให้ซื้อเพื่อทำภารกิจ Wishlist เช่น เสื้อผ้า มอเตอร์ไซค์ คอมพิวเตอร์ เมื่อหยิบของไปราคาก็จะเเพงขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้เราก็มีการเเทรกเรื่องอุปสงค์-อุปทานเข้าไป ซึ่งตัว wishlist เนี่ย เราก็จำลองมาจากสิ่งรอบตัวเด็ก ๆ อย่างเช่น หัวหน้าด้อม ต้องมีมือถือ มีคอมฯ สักเครื่อง มีบัตรดูคอนเสิร์ตถ้าทำสำเร็จก็ได้ไปเลยเต็ม ๆ 7 คะแนน นอกจากนี้ยังผ่อนของได้ด้วย มีทองให้เก็งกำไร แล้วก็มีเฟสต่าง ๆ ประมาณ 4 เฟส จะมีเริ่มจากการจัดการเงินแล้วก็ทอยลูกเต๋าเป็นอีเวนต์ เลือกซื้อของหรือทำงานดีในตานี้ ก่อนจบตาก็จะเป็นทอยลูกเต๋าเป็นค่าครองชีพ


“เกมนี้แพ้-ชนะ ดูกันที่คะแนน โดยเราจะให้ทำเป้าหมายระยะสั้นที่เรียกว่า Wishlist ให้สำเร็จ เเละทำเป้าหมายระยะยาวคือการมีเงินเท่านี้ ๆ จะได้เท่านี้คะเเนน เช่น เก็บเงิน 20 บาทก็จะได้ 2 คะแนน ทั้งหมดเนี่ยนำมาสู่ความคิดหลักของเกมนี้คือ ไม่ต้องเก็บเงินเยอะ ๆ ถ้ามีเงินสำรองเพียงพอเเล้ว เราอยากให้รู้จักการบริหารเงินเพื่อทำตามความฝันมากกว่า การเเพ้-ชนะของเกมนี้จึงเป็นการนับคะแนน ไม่ใช่จำนวนเงินที่มี”


💖”ภาพรวมของเกมนี้ที่ได้รับฟีดแบ็กมา ค่อนข้างดีเลย ถ้าเป็นเด็กจะมองว่าสนุกดี มีการพูดเรื่องการเงิน เด็กบางคนได้สะท้อนกลับมาว่าเกมนี้ได้สอนการเงินในเเบบที่โรงเรียนไม่ได้สอน ในมุมมองของคุณครู นอกจากบอกว่าสนุกเเล้ว มีบอกมาด้วยว่าไม่รู้จะใช้สอนวิชาอะไรดี ซึ่งจริง ๆ เรารู้สึกว่ามันสามารถใช้ได้หลายวิชานะ ถ้าคณิตศาสตร์ก็ลองเกมนี้เพื่อฝึกเรื่องบวกลบคูณหารก็ได้ ถ้าวิชาสังคม ก็ใช้เกริ่นเพื่อทำให้เห็นภาพรวมของเศรษฐกิจ การจัดสรรเงินเบื้องต้น หรือเป็นวิชาแนะแนวก็แนะนำการจัดการชีวิต เขาก็สามารถนำไปใช้ได้ อาจจะต้องเสริมเข้าไปว่าจะใช้ยังไงดี อาจมองเกมนี้เป็นเครื่องมือที่เราเอาไปชวนคุยต่อได้ ไม่จำเป็นต้องล็อกไว้ในคาบเรียนเพียงอย่างเดียว


“ในพาร์ตของคนออกแบบอย่างเรา มันเซอร์ไพร์สมาก ๆ ที่เราตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่ เเล้วผลลัพธ์ที่ได้เกินความคาดหวังของเราไปไกล อย่างคอนเซ็ปต์ของเกมที่เทสต์ตอนเเรก เราคิดว่าต้องมีการปรับเเก้ เเต่ที่ได้ความเห็นจากคุณครูมาคืออยากได้เกมนี้ไปใช้สอนที่โรงเรียนเลย สิ่งนี้สะท้อนว่าตัวเกมค่อนข้างลงตัวตั้งเเต่แรก ๆ เลย ทำให้เราเพิ่มเติมพัฒนากลไกต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายละเอียด เเละความลึกให้กับเกมได้อีกเยอะ


“เรารู้สึกว่าเมื่อเกมมันดีขนาดนี้ ก็อยากให้มันไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของเกมเอง ทาง Sea (ประเทศไทย) ที่เป็นเจ้าของโครงการ และ Wizard of Learning ในฐานะของผู้พัฒนาบอร์ดเกม Wishlist ขึ้นมา เราได้รับความร่วมมือจากหลายพาร์ตเนอร์ด้วยกัน เพื่อส่งต่อบอร์ดเกม Wishlist ให้แก่คุณครู ถ้าอยากฝากอะไร ก็น่าจะเป็นการส่งไม้ต่อครับ อยากชวนให้คุณครูทุกคนลองนำเกมนี้ไปใช้ในห้องเรียน นำไปใช้เป็นเครื่องมือเปิดประเด็น เรื่องที่ไม่ค่อยจะพูดกันอย่างเรื่องการเงิน เรื่องชีวิต เรื่องการตัดสินใจ เหมาะกับครูหลาย ๆ คน ที่อยากให้ห้องเรียนมีกิจกรรม หรือจะใช้นอกเวลาเรียน ในชุมนุม / ชมรม ก็ทำได้เหมือนกัน สามารถเอาไปดัดแปลง ไปประยุกต์กันได้ เเละจะเกิดประโยชน์กับนักเรียนเเน่นอน”

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(0)