ห้องสมุดยุคใหม่ ไม่ใช่แค่สำหรับเด็กเรียนที่เข้ามาคร่ำเคร่งอ่านหนังสือ แต่ห้องสมุดในปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ของทุกคน ไม่ว่าจะชอบอ่านหนังสือหรือไม่ คุยเสียงดังแค่ไหน ห้องสมุดก็สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเต็มที่ สำหรับคุณครูในประเทศไทยหลายคนที่ไม่ได้จบด้านบรรณารักษศาสตร์มาโดยตรง เมื่อต้องมาทำหน้าที่ดูแลห้องสมุดในโรงเรียน อาจจะมีความกังวลในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการห้องสมุด การจัดการระบบยืมคืน ระบบเลขเรียกหนังสือในห้องสมุด ไปจนถึงการออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เราจึงอยากมาชวนอ่านไอเดียสนุกๆ จากห้องสมุดในต่างประเทศที่ไม่ได้มองว่าเป็นแค่ที่อ่านหนังสือ แต่เป็นอะไรได้มากกว่านั้น
ห้องสมุดมีไว้สร้างการเรียนรู้
ห้องสมุดในโรงเรียนแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก เป็นห้องสมุดที่ไม่เคยเงียบเหงา เพราะเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด ด้วยหลัก 4C ได้แก่ communication-การสื่อสาร, collaboration-ความร่วมมือ, creativity-ความคิดสร้างสรรค์, critical thinking-การคิดเชิงวิพากษ์ “ห้องสมุดนี้ไม่ใช่พื้นที่ห้ามใช้เสียง แต่เป็นพื้นที่สำหรับการพบปะทำอะไรบางอย่างร่วมกัน" Michael Imondi ผู้อำนวยการของ ELA, Reading, and Library Services กล่าวไว้กับ Edutopia เพิ่มเติมว่า การเลือกใช้คำเป็นเรื่องสำคัญ เขาจึงเปลี่ยนเป้าหมายของห้องสมุดจากพื้นที่การอ่าน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ "ไม่ว่าจะเข้ามาในห้องสมุดเพื่ออ่านนิยาย หรือใช้งาน 3D Printer เพื่อโครงงานวิทยาศาสตร์ก็ทำได้ เพราะห้องสมุดคือพื้นที่การเรียนรู้"
ห้องสมุดในฐานะพื้นที่ปลอดภัย
นักเรียนต้องการพื้นที่ที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยที่จะจัดการกับอารมณ์ตัวเอง หลีกหนีจากความเครียด ความกดดันต่าง ๆ ใช้เวลากับตัวเอง ซึ่งห้องสมุดเป็นตัวเลือกหนึ่งที่มอบความรู้สึกนั้นให้นักเรียนได้ แทนที่คุณครูผู้ดูแลห้องสมุดจะคอยแต่จับผิดนักเรียนที่ทำเสียงดัง ลองใช้วิธีจัดพื้นที่ใช้เสียง และพื้นที่ใช้สมาธิ เพื่อให้นักเรียนที่มีการเรียนรู้แตกต่างกันสามารถเลือกมุมที่เหมาะกับตัวเองได้ เมื่อห้องสมุดเป็นพื้นที่ปลอดจากการตัดสิน (judgment-free zone) คุณครูอาจจะกลัวว่าจะพื้นที่นี่จะเละเทะไร้การควบคุม เพราะพื้นที่ที่ปราศจากการตัดสิน ไม่ได้หมายถึงปราศจากกฎ ห้องสมุดสามารถให้นักเรียนร่วมกันออกแบบข้อตกลงในการใช้งานร่วมกันได้ เพราะการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและการเคารพในสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงมั่นคงสำหรับการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
เราลองรวบรวมไอเดียกิจกรรมสนุกๆ จากห้องสมุดในต่างประเทศมาเล่าต่อเป็นแรงบันดาลใจ เชื่อว่าคุณครูหลายคนก็น่าจะมีไอเดียเจ๋งๆ อีกเพียบ มาแชร์กันไว้ได้น้า
ฉากกั้นหนังสือ
ชวนนักเรียนออกแบบฉากกั้นเหล็กในห้องสมุด จะใส่ความเป็นตัวตนของนักเรียนเข้าไปเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวนักเรียนกับห้องสมุด หรือจะให้นักเรียนเลือกแรงบันดาลใจจากปกหนังสือ ตัวละครในหนังสือที่นักเรียนชื่นชอบก็ได้นะ
เปลี่ยนทางเดินเป็นภารกิจหลบเลเซอร์
สร้างบรรยากาศสนุกๆ ให้ห้องสมุดมีชีวิตชีวา เพียงขึงแถบกระดาษไขว้ไปมาระหว่างชั้น ก็ทำให้การเข้าไปหยิบหนังสือสนุกกว่าที่เคย อาจจะนำไปใช้ร่วมกับการสร้างบรรยากาศในช่วงเทศกาลฮาโลวีน หรือบรรยากาศการจัดกิจกรรมสืบสวนสอบสวนก็ได้นะ
นิทรรศการนักอ่าน
เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แนะนำหนังสือในแบบของตัวเอง ชอบตัวละครไหน สนใจประโยคใดในเรื่องนี้ สถานการณ์อะไรที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ คุณครูอาจจะจัด 1 มุมในห้องสมุด เพื่อให้นักเรียนผลัดเปลี่ยนกันมาจัดนิทรรศการนี้ จะเป็นงานเดี่ยว งานกลุ่ม หรืองานที่ทำร่วมกันทั้งห้องเรียนก็ได้
กิจกรรม 1 เล่ม ทั้งโรงเรียน
หนังสือแต่ละเล่มทำงานกับเราแต่ละคนแตกต่างกัน การได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ร่วมชั้นถึงมุมมองของแต่ละคน ช่วยทำให้นักเรียนเกิดความเชื่อมโยง และพัฒนาความคิดไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือให้นักเรียนได้มีเวลาฝึกอ่านร่วมกับสมาชิกในครอบครัวด้วย
บทกวีหยอดเหรียญ
บทกวีคือการกลั่นอารณ์ความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษร ช่วยในเรื่องการตีความ และการซึมซับบรรยากาศผ่านถ้อยคำที่คัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน แต่หากแนะนำหนังสือบทกวีเฉยๆ อาจจะธรรมดาไป คุณครูสามารถปรับรูปแบบของบทกวีให้สนุกขึ้นได้ด้วยเครื่องหยอดเหรียญทำมือ โดยคัดเลือกบทกวีจากในหนังสือมาใส่ไว้ หากนักเรียนสนใจก็เดินไปยืมหนังสือในห้องสมุดเพื่ออ่านต่อได้
สแกนเพื่อดูตัวอย่างหนัง(สือ)
อยากลองอ่านเล่มนี้แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะชอบไหม ลองสแกน QR CODE ที่เพื่อนๆ นักเรียนอัดวิดีโอแนะนำไว้ดูก่อน นอกจากจะเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการส่งเสริมการอ่านแล้ว นักเรียนยังได้มีส่วนร่วมในการบอกต่อหนังสือที่ตัวเองชอบอีกด้วย
ใครมีไอเดียสร้างปฏิสัมพันธ์สนุกๆ ในห้องสมุดอีกมาคอมเมนต์ไว้ได้นะ
ข้อมูลอ้างอิง
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!