🤬 “คำหยาบ” ปัญหาที่ครูต้องเผชิญมาทุกยุคทุกสมัย บางครั้งเด็ก ๆ ก็พูดด้วยกันเอง บางครั้งก็ตะโกนมันออกมา คนเป็นครูย่อมไม่อยากให้นักเรียนพูดเป็นธรรมดา
แล้วเราต้องทำยังไงกันนะ ?
ลองมาขุดคุ้ยความหมายของคำหยาบ พร้อมหาวิธีรับมือ จากโพสต์คำถามในกลุ่ม “ครูปล่อยของ” ไปด้วยกัน
บทความนี้ต่อยอดมาจากบทสนทนากับ ครูพล - อรรถพล ประภาสโนบล และบทความจาก the101.world/prasert-ed-18
thematter.co/thinkers/about-using-profanity/37194
🫢 ทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์กับคำหยาบหรือการสบถกันมาบ้าง บางทีเราอาจจะเคยพูดคำหยาบ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะหยาบ เช่น เตะโดนโต๊ะเเล้วเผลออุทานออกมา
หรือบางครั้งก็พูดคำที่ดูไม่หยาบ แต่มีความหมายแฝงอยู่ เช่น “กี” หรือ “ดีออก” ที่ไม่เคยมีความหมายลบมาก่อนเเต่ในปัจจุบันกลับมีความหมายเเฝงซ่อนตัวไว้ จะเห็นได้ว่า คำและการสื่อสารนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ตายตัวเลย
ทีนี้เราลองมองกลับมาที่ห้องเรียนของเราดูบ้าง หากนักเรียนใช้คำว่า “กู / มึง” กับเพื่อนเป็นปกติ ด้วยความสนิทสนมกัน เเต่มีเพื่อนคนหนึ่งที่ใช้คำว่า “ฉัน / เธอ” ในมุมมองของครูจะรู้สึกว่าต้องทำยังไง?
ต้องบังคับให้ทุกคนพูด “ฉัน / เธอ” เพื่อกำจัดคำหยาบนั้นมั้ย? หรือจะให้นักเรียนได้มีโอกาสในการปรับตัว เพื่อพูดคุยกันเอง รู้ว่าคำไหนควรพูดกับใคร ถ้าเป็นคนนี้ชอบการพูดจาเเบบไหน
การจะจับให้มั่น คั้นให้ตาย กับคำ และการสื่อสารที่ไม่ตายตัว พร้อมจะพลิกเเพลงต่อไปในอนาคต อาจทำได้ยากกว่าการสอนให้เด็ก ๆ รู้เท่าทันความหมายในการใช้คำเหล่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเเน่นอน
เรามาลองหาวิธีรับมือ เเละสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจ ด้วยมุมมองใหม่ ผ่านหลากหลายความคิดเห็นจากคุณครูในกลุ่ม insKru ครูปล่อยของกัน !
มีคุณครูบอกว่า อันดับเเรกเนี่ยเราต้องเข้าใจว่าพื้นฐานของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว สิ่งเเวดล้อมรอบ ๆ ตัวนักเรียน และความเชื่อใจระหว่างเรากับนักเรียน มีผลกับการพูดคำหยาบ ทั้งหมดเลย หากเราเจอนักเรียนที่พูดคำหยาบในช่วงเเรก ๆ
ถือว่าปกตินะ เพราะเราไม่รู้หรอกว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง เมื่อได้เข้าใจประเด็นตรงนี้เเล้ว เราจะใจเย็นยิ่งขึ้นและสามารถวางตัวให้สุภาพได้ ซึ่งเด็ก ๆ จะเรียนรู้เเบบอย่างของเรา ไปพร้อม ๆ กับเชื่อใจ ทำให้ไม่พูดคำหยาบในห้องนั้นเอง
อีกความเห็นหนึ่งของคุณครูได้บอกว่า คุณครูเป็นครูระดับชั้น ป.4 ใช้วิธีรับมือโดยการพูดคุยในช่วงโฮมรูม ผ่านคำถามปลายเปิด ค่อย ๆ ให้นักเรียนได้คิดตามว่า ...
ที่บ้านมีใครพูดคำหยาบมั้ย?
ถ้าพูดคำหยาบคือนักเรียนชอบหรือไม่?
เเล้วถ้าคุณครูพูดบ้างล่ะ? นักเรียนจะโอเคมั้ย?
เป็นการสร้างเเบบฝึกหัดให้นักเรียน ค่อย ๆ ได้ซึมซับ เเละ เรียนรู้ถึงเรื่องกาลเทศะไปในตัว
นอกจากนี้ยังมีความเห็นของคุณครูที่ได้บอกกับนักเรียนด้วยว่า การพูดคำหยาบ บางทีก็เป็นการสื่อสารทั่วไปที่คนอื่นก็พูดกัน เเต่ต้องรู้จักกาลเทศะด้วย เวลาไหน ใครที่พูดด้วยได้ เเละเวลาไหน ใครที่ไม่ควรพูด เมื่อได้คุยกันอย่างตรงไปตรงมาเเล้วทำให้คุณครูสบายใจขึ้นเพราะไม่ค่อยได้ยินคำหยาบต่อหน้าเเล้ว
มากไปกว่านั้นคือนักเรียนเอามาฟ้องกันน้อยลงอีกด้วย นักเรียนก็สบายใจเพราะรู้เเล้วว่าจะไม่พูดกับเรา เเละรู้ว่า เวลาไหน ที่ไหน ที่สามารถพูดได้นั่นเอง
💬 ครูพลได้ให้คำเเนะนำเพิ่มเติมมาด้วยว่า “หากมุมมองของคุณครู อยู่กับการโฟกัสคำหยาบที่เป็นคำ ๆ ตั้งใจจัดการให้หายไปเพียงอย่างเดียว วิธีการที่ใช้อาจจะเป็นการลงโทษ การขู่ การปรับเงิน ซึ่งอาจได้ผลในเวลาสั้น ๆ แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เเต่นักเรียนอาจจะเกิดความรู้สึกต้านมากกว่าเข้าใจ เเต่หากคุณครูลองอธิบายเเละเลือกวิธีสื่อสารให้นักเรียน เข้าใจ รู้เท่าทัน ถึงความหมาย และรู้กาลเทศะที่จะเลือกใช้ อาจทำให้นักเรียนเปิดใจรับความหวังดีได้มากกว่าก็เป็นได้”
🌟 insKru ขอเป็นกำลังใจให้มนุษย์ครูทุกคนที่กำลังรับมือกับเรื่องคำหยาบในห้องเรียนอยู่ ถึงจะดูยากเเละท้าทาย เเต่เราสามารถทำได้อย่างเเน่นอน เเละอย่าลืมดูเเลใจของเราไปพร้อม ๆ กันด้วย ถ้ารู้สึกเหนื่อยลองถอยออกมาพักเติมพลัง ก่อนลงมือจัดการต่อไปดูน้า
ชวนคุณครูทุกคนมาเเบ่งปันวิธีรับมือเมื่อมีการพูดคำหยาบขึ้นในห้องเรียนเรา เวิร์กหรือไม่ก็สามารถเเบ่งปันกันได้ที่ช่องคอมเมนต์เลยน้า
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!