icon
giftClose
profile

คุณครูกำลังมองนักเรียนจากมุมมองแบบไหนกันนะ ?

2041
ภาพประกอบไอเดีย คุณครูกำลังมองนักเรียนจากมุมมองแบบไหนกันนะ ?

📏การเรียนในระบบการศึกษาต้องมีการประเมินความสามารถ

และความประพฤติของนักเรียน ผ่าน ”แว่น” แบบต่าง ๆ

ที่โรงเรียนเห็นว่าช่วยให้จำแนกทางวิชาการได้

อย่างสะดวก เเละช่วยให้คุณครูจัดการห้องเรียนง่ายยิ่งขึ้น


ความ “เก่ง” หรือ “ไม่เก่ง”

“ประพฤติดี” หรือ “ไม่ดี”

“ตั้งใจเรียน” หรือ “ไม่ตั้งใจเรียน”

จึงเป็นวิธีสังเกตนักเรียนที่เกิดจากมุมมองนี้นั่นเอง


วันนี้ insKru จะมาฉายภาพให้ทุกคนได้เห็น

อีกมุมมองหนึ่ง เพื่อช่วยให้เข้าใจตัวตน หรือรายละเอียด

ของนักเรียน ที่เราอาจละเลย หรือมองข้ามไปจากมุมมองปกติ

จะเป็นยังไงกัน เมื่อเราสังเกตพวกเขาผ่าน “แว่นวัฒนธรรม”

ที่ช่วยให้เห็นโลกรอบตัวของพวกเขามากขึ้น มุมมองนี้จะช่วย

แก้ปัญหาอะไรได้บ้าง แล้วจะมีผลอะไรที่ตามมา

ไปติดตามกันได้ในบทความนี้กัน


บทความโดย ครูพล - อรรถพล ประภาสโนบล

เนื้อหานี้ต่อยอดมาจากบทความเหล่านี้ หากสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่

thepotential.org/knowledge/rewards-and-sanctions

thepotential.org/social-issues/school-fears

thepotential.org/knowledge/multicultural-education


🧐อย่างที่เกริ่นไปว่ามุมมองที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีข้อดีคือ

ช่วยจำแนกให้เราสามารถจัดการห้องเรียนได้ง่ายขึ้น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มุมมองแบบนี้อาจจะทำให้เรา

หลงลืมบางแง่บางมุมของความเป็นนักเรียนไป


การมี “แว่นวัฒนธรรม” แว่นตาอันใหม่ที่ชวนให้ลองมอง

รอบ ๆ ตัวนักเรียนเป็นทางเลือก อาจทำให้เราได้เห็นนักเรียน

ในมุมมองที่แตกต่างออกไปก็เป็นได้


ตัวอย่างเช่น การมองด้วยมุมมองแบบปกติ ตอนนี้เราอาจ

กำลังมองเห็นนักเรียนคนหนึ่งไม่ทำการบ้านมาส่ง

เป็นคนที่ไม่เก่ง ไม่ขยัน แต่เมื่อเราพยายามมอง

ด้วยเลนส์ใหม่ ทำความเข้าใจเพิ่มเติม ผ่าน ”แว่นวัฒนธรรม”

เราอาจเห็นว่านักเรียนคนนี้ ไม่เข้าใจเวลาเรียนในคาบ

แล้วไม่กล้ามาถามครูก็เป็นได้ พอเราเห็นในมุมใหม่

วิธีการในการแก้ไขปัญหาก็จะเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม


คำว่า “วัฒนธรรม” ที่กล่าวถึงในบทความนี้ จึงไม่ได้กล่าวถึงประเพณี

ศิลปวัฒนธรรม แต่กล่าวถึงวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแต่ละวัน

ที่ทั้งครูและนักเรียนร่วมกันทำหรือแสดงออกมาจนเป็นปกติ

เช่น วัฒนธรรมการโฮมรูม วัฒนธรรมการสอบวัดประเมินผล

ซึ่งหากเราลองถอยมามองให้กว้างขึ้น เราจะเห็นได้ว่า ในโรงเรียน

ในชั้นเรียน เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทั้งใหญ่และย่อยทั้งนั้น


เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น เรามาลองมอง 3 ตัวอย่าง

ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ผ่านมุมมองใหม่นี้กัน !


🪑ตัวอย่างแรกคือ ตำแหน่งการนั่งในห้องเรียน

ในบางห้องเรียนครูอาจเป็นคนจัดที่นั่งให้กับนักเรียน

ว่าใครควรนั่งตรงจุดไหน โดยอ้างอิงงานวิจัยของ Zhang

พบว่าการใช้ตำแหน่งที่นั่งมาเป็นการลงโทษและให้รางวัล

นักเรียนอาจไม่ได้คิดเหมือนที่ครูตั้งใจให้รู้สึกก็ได้

ทางด้านครูอาจคิดว่าจะกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจ

ให้คนที่เรียนดีได้นั่งข้างหน้า และให้นักเรียนที่พฤติกรรม

ไม่เหมาะสมนั่งด้านข้าง หรือด้านหลังแทน

แต่กลับรู้สึกว่านี่คือการกดดัน และการแบ่งแยก

แทนที่จะรู้สึกถูกกระตุ้น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ว่า

เราไม่สามารถมองตำแหน่งที่นั่งเป็นเพียงการจัดวาง

ทางกายภาพเท่านั้น แต่นี่คือการกระทำที่ซ่อน

ความหมาย หรือ คุณค่าบางอย่างอยู่


ในบางห้องเรียน นักเรียนก็จะเป็นคนเลือกที่นั่งเอง

หากครูลองสวม ”แว่นวัฒนธรรม” ก็อาจจะช่วยสังเกตได้ว่า

ทำไมนักเรียนแต่ละคนถึงเลือกนั่งในตำแหน่งที่แตกต่างกัน

หรือทำไมเมื่อผ่านไปภาคเรียนหนึ่ง นักเรียนบางคนมีการ

เปลี่ยนแปลงที่นั่งไป คำถามที่มีต่อวัฒนธรรมการเลือกที่นั่ง

อาจเปิดโอกาสให้ครูได้สังเกต สอบถาม พูดคุยถึงความสัมพันธ์

ระหว่างนักเรียนด้วยกัน ในท้ายที่สุดอาจทำให้ครูพบว่า

นักเรียนรู้สึกไม่ดีพอ เขาจึงเลือกนั่งในตำแหน่งข้างๆ

มากกว่าตรงกลาง หรือบางคนอาจรู้สึกกลัวครู

จึงพยายามนั่งในตำแหน่งที่เลี่ยงสายตา

หรือนักเรียนมีการกลั่นแกล้ง บูลลี่กัน

ทำให้บางคนต้องปลีกตัวออกมาก็เป็นได้


🛝ตัวอย่างต่อมาคือเรื่องของเวลาว่าง หลัก ๆ แล้ว

ก็อาจเป็นช่วงเวลาพักกลางวัน ที่นักเรียนจะได้

รับประทานอาหารกลางวัน และทำกิจกรรม

ก่อนเข้าเรียนในช่วงบ่าย วัฒนธรรมการใช้เวลาว่าง

ในโรงเรียน จึงเป็นอีกสิ่งที่ครูไม่ควรมองข้าม


เราอาจเห็นว่า เด็กกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะวิ่งเล่นเตะฟุตบอล

แต่เด็กอีกกลุ่มเลือกที่จะนั่งเล่นเกมมือถือในห้องเรียน

หากสรุปแบบเร็ว ๆ เราอาจเห็นว่าเด็กมีความชอบแตกต่างกัน

แต่หากเราลองทำความเข้าใจลึกลงไป ไม่แน่อาจพบว่า

เด็กวิ่งเล่นเตะฟุตบอลในสนาม จริง ๆ คือเด็กโต

ที่น้อง ๆ ไม่กล้าไปเล่นด้วย จึงทำให้น้องต้องหันไป

ทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน ซึ่งอาจเกิดการค้นพบต่อไปว่า

การเข้าถึงสนามฟุตบอลที่โรงเรียนของเรามีอย่างจำกัด

จึงทำให้การเล่นฟุตบอล เป็นเรื่องของกลุ่มเด็กผู้ชาย

ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กโตเป็นหลัก


การทำความเข้าใจวัฒนธรรมเวลาว่างและการเล่นกัน

ยังสามารถสะท้อนความหมายอื่นได้อีกเช่น ครูอาจมองว่า

เวลาว่างของเด็กควรเป็นช่วงที่ควรใช้กับการเตรียมตัวเรียนรู้

แต่สำหรับเด็ก ๆ อาจเห็นเวลาว่าง เป็นช่วงที่เขาจะได้หยุดพัก

จากความเครียดและความกดดันในชั้นเรียน

เหล่านี้คือความท้าทายที่เราอาจเริ่มจากการลองตั้งคำถามง่ายๆ

ผ่านแว่นตาที่พยายามสังเกตวัฒนธรรมรอบตัวของเด็ก ๆ ดู เช่น

เวลาว่างพักเที่ยง เด็กแต่ละกลุ่มมีรูปแบบการเล่นอย่างไร

การเล่นของเด็กผู้ชาย ผู้หญิง และ กลุ่มเพศหลากหลาย

เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เด็กให้ความหมายเวลาว่างและการเล่นของตัวเองแบบไหนกัน


⌚️ตัวอย่างสุดท้ายคือเรื่องสิ่งของ และสัญลักษณ์

ทำไมนักเรียนบางคนถึงใช้สติ๊กเกอร์รูปการ์ตูนเรื่องหนึ่ง

มาติดกล่องดินสอของตัวเอง ทำไมเขาถึงเลือกใช้ปากกา

ลายสีสันสดใส ขณะเพื่อนอีกคนมักใช้สีเดียวเป็นหลัก

ทำไมนักเรียนกลุ่มหนึ่งมีการห้อยพวงกุญแจ

เป็นรูปดาราศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ นี่คือตัวอย่างเล็ก ๆ

ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมย่อย ๆ ที่เกิดในกลุ่มนักเรียน

หรือปัจเจกบุคคลในแต่ละคน


หากเรามองข้ามไปก็อาจคิดว่าเป็นเพียงรสนิยม แฟชั่น

หรือกระแสที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา แต่หากมอง

ให้ลึกลงไป การที่เขามีสิ่งของ สัญลักษณ์ดังกล่าว

อาจบอกได้ไหมว่า สิ่งเหล่านี้กำลังมีอิทธิพลอย่างมาก

กับนักเรียน หรือเป็นสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่า มีความหมาย

กับเขาแต่ละคนในแง่ไหนบ้าง อาจจะเกี่ยวข้องกับตัวตน

อัตลักษณ์ของเด็ก ที่เขารับรู้จากคนอื่น ถูกมองเห็นจากครู

หรืออยากแสดงออกให้คนอื่นเห็นก็ได้ด้วยเช่นกัน


ลองสมมุติ ครูอาจสังเกตเห็นนักเรียนคนหนึ่ง

ใส่นาฬิกาที่มีสีสันฉูดฉาดเป็นประจำ เมื่อได้ทำความเข้าใจ

มองผ่านแว่นวัฒนธรรมของเรา ครูก็อาจค้นพบว่า

นักเรียนคนนี้รู้สึกไม่มีตัวตนเสมอมา เขาอาจต้องการ

ถูกมองเห็นจากครูและเพื่อนก็เป็นได้


🤩อย่างที่เล่าไปก่อนหน้า การมีแว่นที่ช่วยให้ครู

มองเห็นนักเรียนและความเป็นไปของสิ่งต่างๆ

ในแง่มุมที่กว้างขึ้น จะช่วยพาให้ครูมีความเข้าใจที่มากขึ้น

เพื่อดูแลนักเรียน และ สร้างแนวทางการเรียนการสอน

ได้อย่างเหมาะสม หรือออกแบบนโยบายเพื่อสร้าง

การเปลี่ยนแปลงได้นั่นเอง เพราะเราก็มีผลกับ

โลกรอบตัวของเขาไม่น้อยเลยทีเดียว

ลองดูตัวอย่างที่เราสามารถช่วยนักเรียนของเรา

เมื่อได้มองพวกเขาผ่านมุมมองนี้กันเลย


💫จากตัวอย่างเรื่องวัฒนธรรมที่นั่งก่อนหน้านี้ หากครูได้พบว่า

ที่นั่งของนักเรียนนั้นสะท้อนถึงการแบ่งแยกในห้องเรียน

ครูก็อาจหาวิธีพูดคุยหรือกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์

ระหว่างนักเรียนด้วยกันขึ้นมาใหม่ ที่ไม่ทำให้พวกเขารู้สึก

ถูกกีดกัน แล้วมีความรู้สึกลบในการมาโรงเรียน


อีกตัวอย่างเรื่องวัฒนธรรมเวลาว่างและการเล่น

ครูอาจสังเกตว่าในช่วงพักเที่ยง นักเรียนมักจะกินข้าว

อย่างเร่งรีบ เพื่อมาเล่นกันก่อนเรียนช่วงบ่ายเป็นประจำ

เมื่อครูทำความเข้าใจเรื่องนี้แล้ว ก็อาจพบสาเหตุว่า

นักเรียนถูกออกแบบตารางให้เรียนต่อเนื่อง พวกเขา

จึงรู้สึกว่าเวลาในการพักเพื่อผ่อนคลายมีน้อย

เพียง 40-50 นาทีเท่านั้น หากเราเข้าใจตรงนี้

จากเดิมที่มีเวลาพักกลางวันไม่ถึง 1 ชั่วโมง

เราอาจเสนอให้มีการขยายเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง

หรือมีเวลาพักในช่วงเช้าเพิ่มเข้ามาสัก 10-15 นาที

ให้นักเรียนมีเวลาผ่อนคลายเพิ่มเติมก็เป็นไปได้เหมือนกัน


การสวมแว่นตานี้ไม่ได้มีเพียงแต่การสำรวจ

สิ่งที่เกิดจากนักเรียนเท่านั้น แต่อาจลองใช้เพื่อสำรวจ

วัฒนธรรมการสอนของตัวเองที่มีผลกับโลกของนักเรียนก็ได้

เป็นการมองผ่านมุมมองของนักเรียนที่กำลังมองมาที่เราดู

เราอาจพบว่า บรรยากาศการสอบเก็บคะแนนในห้องนั้น

สร้างความกดดันและความเครียดให้นักเรียนอย่างหนัก

ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูอาจไม่รู้มาก่อน และเมื่อรับรู้แล้ว

ครูก็สามารถหาแนวทางที่ปรับเปลี่ยนการวัดประเมินผล

การเรียนต่อไปเป็นการสอดเเทรกกับกิจกรรมได้


กล่าวโดยสรุป เมื่อเราพยายามทำความเข้าใจ

“วัฒนธรรม” หรือพฤติกรรมรอบตัวนักเรียนในแต่ละรูปแบบ

แต่ละกลุ่ม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้างกับใคร

ทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูลให้เราทำการหรือตัดสินใจบางอย่าง

กับนักเรียนในแต่ละเรื่องได้อย่างรอบคอบ และรอบด้านขึ้น


👓หากเห็นประโยชน์ของแว่นอันใหม่ และอยากทดลอง

มองผ่านมุมมองของ “แว่นวัฒนธรรม” แต่ยังไม่รู้ต้องทำอย่างไร

ลองทำตาม 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ได้ ดังนี้เลย


1.ลองสังเกต ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในชั้นเรียนของเรา เช่น

มีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหมในช่วงเวลาหนึ่ง ในทุก ๆ วัน

หรือในช่วงเวลานี้ เหตุการณ์ใดบ้างที่มักจะเกิดขึ้นอยู่ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ

เหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นกับใคร หรือกลุ่มไหนเป็นพิเศษ


2.จากนั้นมาลองตั้งประเด็นในการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง

เช่น ในทุกๆ ต้นเดือนนักเรียนกลุ่มหนึ่งจะไม่มาเข้าแถวหน้าเสาธง

เพราะไม่อยากโดนตัดผม อย่างไรก็ตามการสวมแว่นตา

“วัฒนธรรม” ที่พยายามเข้าใจวัฒนธรรมรอบ ๆ ตัวเขา

จะไม่ได้สิ้นลงเมื่อพบข้อสรุปเพียงแค่นั้น แต่เป็นการทำความเข้าใจ

ที่ลึกลงไปว่าจริง ๆ แล้ว เด็กรู้สึกและมองเรื่องนี้อย่างไร


3.ครูอาจมีการสังเกตเพิ่มเติมด้วยการจดบันทึกสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน

ร่วมกับการพูดคุยแบบเป็นกันเอง เช่น ช่วงพักกลางวัน หลังเลิกเรียน

พูดคุยเพื่อเพิ่มเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงตัดสินใจเช่นนั้น

รวมถึงอาจมีการพูดคุยกับเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กกลุ่มนี้

ทั้งนี้อาจใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างอื่นร่วมด้วยตามแต่บริบท


ที่สำคัญต้องระลึกเสมอว่า เราต้องไม่รีบด่วนสรุป

(จากคุณค่า หรือ ความเชื่อบางอย่างที่เรายึดถือ) เนื่องจากอาจ

เกิดความคาดเคลื่อนจากสาเหตุจริง ๆ ได้ แต่เราจะทำความเข้าใจ

ให้มากเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายแล้ว เมื่อมีข้อมูลมากพอ

เราถึงลองคิดต่อไปว่า เรื่องราวเหล่านี้กำลังบอกอะไรเรา ?


💖เราเชื่อว่าแนวทางเบื้องต้นในการหยิบแว่นตานี้มาสวมใส่

จะเพิ่มโอกาสให้เราได้เห็น “วัฒนธรรม” ที่อยู่รอบตัวนักเรียน

ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่อย ๆ เข้าใจนักเรียนที่อยู่ตรงหน้าเรามากขึ้น

รวมถึงอาจเป็นเส้นทางแรกที่จะปูไปสู่การสังเกตและทำความเข้าใจ

วัฒนธรรมต่าง ๆ รอบตัวเขา ที่แตกต่างออกไป เช่น

การสอบและแข่งขัน ความรุนแรงในโรงเรียน การเรียนรู้ของแต่ละคน

เพื่อนำไปสู่การช่วยดูแล โอบอุ้ม และแก้ไขเท่าที่เราทำได้ในที่สุด


insKru เป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนลองหยิบแว่นนี้ไปทำดู

พร้อม ๆ กับดูแลใจของตัวเองด้วย อย่ากดดันตัวเองเกินไปน้า

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)