icon
giftClose
profile

Friend of Buddy Kru คุยกับครูโอม - สุมงคล เครือสิงห์

4400
ภาพประกอบไอเดีย Friend of Buddy Kru คุยกับครูโอม - สุมงคล เครือสิงห์

❇️อารมณ์ความรู้สึกในห้องมีผลกับการเปิดใจ

เรียนรู้ของนักเรียนอย่างมาก แต่เราจะรู้ได้ไง

ว่าตอนนี้นักเรียนของเราอารมณ์ไหน ?

มาพบกับ ครูโอม - สุมงคล เครือสิงห์

คุณครูที่มีเป้าหมายอยากให้นักเรียนมีส่วนร่วม

ผ่าน Buddy Kru และใช้ Student Feedback

เก็บความคิดเห็น และข้อมูลของนักเรียน

เพื่อให้เข้าใจ และปรับการสอนให้ได้ผลที่สุด

🌏”ตอนนี้เราเป็นครูสอนวิชาสังคม และประวัติศาสตร์ ระดับชั้นม. 2 ต้องดูแลทั้งหมด 13 ห้อง จริง ๆ เพิ่งเรียนจบครับ ทำงานที่นี่เป็นที่แรกเลย เพิ่งเริ่มปีการศึกษานี้ ปีแรกเลย คาบแรกที่เข้าไป เราพบว่านักเรียนไม่มีความสุขกับการเรียนวิชาสังคม นักเรียนไม่ค่อยสนใจ แล้วก็ไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ เป็นมุมมองที่เขามีมาอยู่เเล้วว่าการเรียนวิชาสังคมน่าเบื่อ ครูอ่านให้ฟัง นักเรียนก็นั่งเรียนเพียงอย่างเดียว


“ตอนแรก ๆ เลยเราเริ่มจากการสังเกตครับ จากการที่เข้าไปในห้องแล้ว เหมือนนักเรียนไม่รู้สึกอะไรสักอย่าง นิ่ง ๆ พอเข้าไปพูดคุยก็เลยรู้ได้ว่า นักเรียนเขามีการตั้งกำแพงว่าสิ่งที่เขาจะได้เจออาจจะเหมือนกับมุมมองที่เขาคิด สิ่งที่เราทำเลยก็คือ เริ่มจากการทำความรู้จักนักเรียน ค่อย ๆ ศึกษาว่าเขาชอบเรียนรูปแบบไหน แล้วเราลองเอากิจกรรม หรือการ Check in เข้ามาให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมกับเรา ที่เราทำแบบนี้แล้วได้ผล คิดว่าเป็นเพราะเราไม่เริ่มการสอนจากการสอนตามบทเรียนไปเลย แต่เริ่มจากการย่อยเนื้อหาออกมาก่อน เช่น หน่วยนี้ต้องเรียนอะไรบ้าง อาจจะตัดท่อนมานิดหนึ่ง แล้วให้นักเรียนมาร่วมกันเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในห้องแทน


“ส่วนใหญ่กิจกรรมที่ทำก็จะมี เกมเปิดป้าย ลองนึกภาพเหมือนเกมแฟนพันธุ์แท้ที่จะให้เห็นทีละนิด แล้วลองเดาดูซิว่าสิ่งนี้มันคืออะไร ก่อนที่จะโยงสู่เนื้อหา เขาจะได้รู้สึกว่าเขาได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม ไม่ใช่แค่รอรับเนื้อหาจากครูแค่นั้น แล้วค่อยพาเขาเข้าสู่เนื้อหา มีคาบหนึ่งที่เราให้เล่นเกมกันสนุกเต็มที่เลย ก่อนเรียนเรามาเต้น มาฟังเพลงกัน หลังจากนั้นเราก็ให้เอาเพลงมาวิเคราะห์ว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไร สอดคล้องกับเนื้อหาไหม ก็จะเป็นลักษณะที่นักเรียนแต่ละคนอาจจะหยิบยกประเด็นขึ้นมา ท่อนนี้สอดคล้องกับเนื้อหาเรื่องนี้ เขาจะได้พูดคุยกันมากขึ้น


👨‍🏫”เทคนิค หรือการจัดการห้องเรียนต่าง ๆ เกิดขึ้นตอนที่เราฝึกสอนฮะ ได้ฝึกโรงเรียนมัธยมเหมือนกัน แต่โรงเรียนนั้นเราสอนม.ปลาย ด้วยความที่นักเรียนอายุไม่ค่อยห่างจากเรามาก เราเลยไม่สามารถจัดการชั้นเรียนได้เลย พอนักเรียนเขาเห็นเราเป็นนักศึกษาก็เลยไม่ค่อยสนใจ เราก็เลยไปขอความคิดเห็นจากครูพี่เลี้ยง ท่านก็ให้คำแนะนำ แต่พอเราเอารูปแบบของครูพี่เลี้ยงไปปรับใช้ มันใช้ไม่ได้ ครูพี่เลี้ยงอาจจะใช้ได้กับนักเรียนขณะนั้น แต่นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งกลุ่มใหม่นี้ไม่สามารถใช้ได้


“เราก็เลยไปค้นวิธีจัดการห้องเรียนในเว็บ insKru แล้วก็เจอกับแบบประเมิน Student Feedback ซึ่งเป็นตัวช่วยในการเก็บความคิดเห็นของนักเรียน ส่งมาได้แบบไม่ระบุตัวตน นักเรียนเลยกล้าตอบ เราก็เลยได้รู้ว่านักเรียนต้องการเรียนแบบไหน เราค่อยออกแบบการสอนให้ตรงกับความต้องการของเขาอีกทีหนึ่ง ขนาดห้องเรียนเดียวกัน ยังต้องปรับกันเรื่อย ๆ เลย


“มีครั้งหนึ่งที่เราเตรียมของ พร็อบ ชุด เรียบร้อย แต่นักเรียนจะสอบคาบต่อไป มาเจรจาว่า “คุณครู คาบนี้ผมขออ่านหนังสือได้ไหม” เราก็ต่อรองขอทำกิจกรรมแป๊บนึงได้ไหม แต่เรารู้ได้ว่าอารมณ์ ความรู้สึกตอนนั้นเขาไม่พร้อมที่จะรับจริง ๆ เขาต้องสอบวิชาที่เคยสอบตกกันทั้งห้อง เราก็รู้สึกนอยด์ แต่เขาก็มีความจำเป็นของเขาเหมือนกัน แล้วกิจกรรมนี้มันย้ายไปทำสัปดาห์อื่นไม่ได้แล้ว เพราะเป็นกิจกรรมทบทวนสอบสัปดาห์หน้า แทนที่จะเป็นใช้กิจกรรมก็เลยสรุปปากเปล่า ให้จดตาม เราก็พยายามมีความสุขกับเขา ไม่ให้แค่นี้เป็นเรื่องเครียด


“จนทุกวันนี้ก็ยังปรับอยู่เลยนะ มันก็เป็นการปรับไปเรื่อยๆ แล้วแต่ชั่วโมงเพราะเราคิดว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ ว่าเราเจอนักเรียนแบบนี้ แล้วเราจะใช้รูปแบบนี้ในการแก้ปัญหาได้ มันเป็นความต่างของแต่ละโรงเรียน แต่ละบริบท เราก็จะลองไปเรื่อยๆ ครับ”


💖นอกจากนี้เราได้เข้าใจความคิดนักเรียนเพิ่มเติมผ่าน Student Feedback ที่ให้ทำตอนแรกด้วยนะ นักเรียนหลายคนบอกมาว่า ครูควรดุนักเรียนบ้าง กลุ่มข้างหลังเขาเล่นกันตลอดเลย ครูก็ไม่ดุ ทำไมครูใจเย็นได้ขนาดนั้น เราเลยค่อย ๆ อธิบายไปว่าอาจจะเป็นเพราะตอนเราเรียน เจอครูที่ดุตลอด ดุจนรู้สึกเกร็งไม่กล้าคุยไม่กล้าทำอะไรเลย เราไม่อยากเป็นแบบนั้น


ตรงนี้ช่วยให้ได้ทำความเข้าใจ แล้วหาวิธีจัดการห้องเรียนให้เรียบร้อยได้ พร้อม ๆ กับเป็นตัวเองที่สุด เราเลยเน้นการพูดคุยกันใช้วิธีสร้างข้อตกลงกับเขา คาบหนึ่งเราใช้เวลาเรียน 50 นาที งั้นครูขอสอน 30 นาทีได้ไหม ช่วยตั้งใจ มาเรียนด้วยกันก่อน หลังจากนั้นจะทำอะไรครูปล่อยเลย นักเรียนเขาโอเคมาก เราก็ทำตามสัญญา ครบเวลาปั๊บ เราให้เขาเล่นได้ เขาก็จะเริ่มตั้งใจเรียนกับเรา


เวลาที่เราเห็นเขามีความสุข เห็นเขาร่วมกิจกรรม ความรู้สึกเหนื่อยมันหายไปปลิดทิ้งเลย เมื่อวานเราสอนทั้งหมด 5 คาบต่อกัน เราสอนไปเนื้อหาเดียวกัน 5 คาบ แต่รูปแบบการสอน อาจจะต่างกัน ห้องแรกเราอาจจะใช้เกมเข้ามา เพราะเขาอาจจะรู้สึกแฮปปี้กับการเล่นเกม แต่พออีกห้อง เขาต้องการแต่เนื้อหา พอเราพูดเจาะไปที่เนื้อหา เขาก็จะมีความสุขในอีกลักษณะหนึ่ง เราเลยเห็นว่าความสุขในการเรียนต่างกันในแต่ละห้อง แต่มันสำคัญจริง ๆ เพราะทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้เต็มที่ และนี่คือหน้าที่ของเราที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)