เพราะความสุข ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
ของทั้งครูเเละนักเรียน เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
โรงเรียนหรือหน่วยงานที่มีไอเดียที่สะท้อนถึง
ความสัมพันธ์ที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน
.
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานของที่ส่งเสริม
ให้ครูมีความสุข ภาคภูมิใจในการทำงาน
หรือเรื่องราวการสนับสนุนครูในด้านองค์ความรู้
หรือการประเมินที่ไม่ยุ่งยาก ดีต่อใจครู
ชวนมาทำความรู้จักกับโรงเรียนช่องพรานวิทยา
หนึ่งในสุดยอดไอเดียโรงเรียนคู่คิด มิตรคู่ครูและนักเรียน ประจำปี 2023
แบ่งปันเรื่องราวโดยครูอรญา จงตั้งสัจกุล
"โรงเรียนช่องพรานวิทยามีนักเรียนทั้งหมด 632 คน สอนตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 เป็นเด็กในชุมชนใกล้เคียง ฐานะครอบครัวระดับค่อนข้างปานกลางถึงระดับล่าง ครอบครัวของนักเรียนกว่า 50% ไม่สมบูรณ์ การจะมุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการค่อนข้างยาก แค่เด็กมาโรงเรียนก็ดีใจแล้ว คุณครูปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนนี้มา 21 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมในโรงเรียนมาโดยตลอด ตั้งแต่เราเป็นน้องเล็กสุดในโรงเรียน ตอนนี้อายุมากที่สุดเป็นอันดับสองแล้ว การทำงานของครูสมัยก่อนจะได้ใช้เวลาอยู่กับนักเรียนจริงๆ อยู่กับเด็กตลอดเวลา ภารงานเอกสารจะไม่มีมากเท่าปัจจุบัน เป็นแบบนั้นอยู่ประมาณ 10 กว่าปี พอมีปฏิรูปการศึกษา การศึกษาเปลี่ยน มีการประเมินครู ประเมินโรงเรียน ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นก็คุ้นกับการประเมิน ว.25 ว.26 ว.17 แล้วเป็น ว. PA เห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญของการเป็นครูคือการปรับตัวค่ะ"
"สถานการณ์โควิดเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ทำให้โรงเรียนช่องพรานวิทยาเปลี่ยนแบบพลิกเลย ช่วงนั้นครูต้องเรียนรู้ ปรับตัวเองให้ได้ จุดหลักที่เป็นบทเรียนแรกของโควิด คือการที่นักเรียนสอบไม่ผ่าน ถดถอยทางการเรียนรู้ ใช้ Google Meet สอน ใกล้ปลายภาคแล้ว ไม่รู้จะประเมินยังไง คะแนนไม่มี เด็กไม่ส่งงาน เด็กจะรู้ได้ยังไง ว่าคะแนนครบหรือไม่ครบ ตอนนั้นเราใช้ Google Spreadsheet อัปเดตคะแนนแบบออนไลน์ ส่งลิงก์ให้เด็กตรวจสอบตัวเอง ว่าแนวโน้มผ่านหรือไม่ผ่าน เกิดบทเรียนต่อมาว่า เด็กเห็นคะแนนแล้วก็ต้องมานั่งตอบเด็กว่าแต่ละช่องคะแนนต้องทำอะไรบ้าง ทุกหัวตาราง เราใส่คำอธิบายงาน ใบงาน ขึ้นออนไลน์ไว้ แล้วก๊อปลิงก์แทรกไว้หัวตาราง เป็นจุดเริ่มต้นที่ค่อยๆ พัฒนามาสู่ระบบการเรียนเต็มรูปแบบ
ครูอรญา ในฐานะหัวหน้ากลุ่มบริหารงานบุคคล มาคิดว่าจะทำยังไงให้งานที่ต้องทำอยู่แล้วเป็นประจำตอบโจทย์การประเมินด้วย จะได้ไม่ต้องประเมินทีทำงานขึ้นมาใหม่ตลอด ที่โรงเรียนเริ่มใช้แผนหน้าเดียวตั้งแต่ช่วงโควิด เพราะว่า ผอ. เป็นห่วงว่าครูจะจัดการเรียนรู้ยังไงกันบ้าง โดยต้องการรู้แค่ว่าคุณครูจะสอนอะไร มีกิจกรรมอะไร เป็นการนิเทศการจัดการเรียนการสอนครู พัฒนามาสู่แผนหน้าเดียวที่ครบองค์ประกอบ และไม่เน้นส่ง ผอ. จะทำเป็นไฟล์ สร้างโฟลเดอร์ใน Google drive ของครูแต่ละคนไว้ แล้วส่งลิงก์ไดร์ฟมาที่ส่วนกลาง ผู้บริหารเปิดจากลิงก์ ซึ่งจะไม่ได้ส่งต้นเทอมครั้งเดียว แต่จะส่งต้นเดือน กลางเดือน ค่อยสอน ค่อยๆ พัฒนา บางครั้งระหว่างการสอน เจออะไร จบไม่ได้จะต้องทำยังไง แผนการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเพื่อการสอน ไม่ใช่เพื่อการส่ง เปิดแผนมาแล้วสอนในห้องเรียนได้เลย คลิกลิงก์จากแผนได้เลย ใน Google slide ก็เชื่อมต่อไปยังสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้เลย โรงเรียนมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอยู่แล้ว
"วัฒนธรรมองค์กรสำคัญมากเลยสำหรับที่นี่ เรายึดคำว่า น้องเคารพพี่ พี่ดูแลน้อง แสดงให้เห็นว่าเราพร้อมยอมรับ แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เราก็จะคอยบอกครูรุ่นใหม่ว่า มีอะไรมาสอนพี่บ้างนะ พี่ไม่ทัน อะไรที่เป็นการทำงาน ดูแลนักเรียนน้องๆ ก็จะมาถามเราได้ ทุกการเริ่มต้นมันยากเสมอ ที่โรงเรียนจะให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ไม่มีการเปรียบเทียบ เราเองก็ไม่ได้เก่งสื่อเทคโนโลยีเท่าครูรุ่นน้องๆ เพราะเป็นช่วงวัยของเขา เราไม่ถนัด แต่เราปรับใช้อย่างไรให้เกิดคุณค่า เป็นการให้กำลังใจกันมากกว่า มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ น้องในกลุ่มสาระก็สอนให้ อย่างวันนี้ที่โรงเรียนมีกิจกรรมรายงานผลการทำงาน ถ้าเป็นประชุมทั่วไปก็คงจะเป็นการชี้แจงโดยคนใดคนหนึ่ง พยายามให้คุณครูแสดงความคิดเห็น บางคนอาสาพูด บางคนไม่กล้าพูด เราก็จะพยายามชวนขอตัวแทนครูแต่ละช่วงวัย ขอตัวแทนครูรุ่นใหญ่ ครูรุ่นใหม่ ขอตัวแทนกลุ่มสาระ ให้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
"บทบาทของผู้บริหารก็สำคัญเช่นกัน ผอ. เพิ่งย้ายเข้ามาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 แป๊บเดียวก็เจอโควิดเลย โรงเรียนของเรามาถึงจุดนี้ได้ เพราะ ผอ.ชอบเทคโนโลยี ไม่ชอบงานอ่านเอกสาร มีอะไรส่งมาให้ผมได้เลย ส่งเมล ส่งไลน์ให้ได้เลย อ่านออนไลน์มาตั้งแต่ต้น ทำให้เวลาเจอสถานการณ์ที่เทคโนโลยีมีบทบาท ทุกอย่างเลยลงตัว ถ้าผอ.ไม่สนับสนุน ไม่ไปทิศทางเดียวกัน ก็คงไม่เกิด ผอ. มักจะปลูกฟัง Growth Mindset พูดเสมอถึงการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เปิดกว้าง กล้าได้กล้าเสีย จะมีโรงเรียนไหนที่กล้าให้ครูทาสีห้องของตัวเองตามแบบที่ชอบ ตอนนั้นโรงเรียนกำลังจะเปิดเทอมหลังหยุดไปช่วงโควิด ผอ.บอกว่า "ลูกๆ กำลังจะกลับมาบ้าน ให้ครูเตรียมบ้านรอรับลูก ให้ออกแบบเอง อยากได้แบบไหน โรงเรียนให้อุปกรณ์ ให้ครูทำเอง" ทำแบบไหนก็ได้ในแบบที่เป็นตัวคุณครู ตอนปรับมาใช้แผนหน้าเดียว ผอ. ก็ไม่มีแบบฟอร์มให้ ครูทุกคนก็งง ว่าทำไม ผอ. บอกว่าเพราะอยากเห็นความหลากหลาย อยากเห็นดอกไม้หลากสีจากคุณครู
"วันประเมิน ว. PA เป็นไปอย่างกัลยาณมิตรมากๆ ผู้ทรงคุณวุฒิแบ่งตามกลุ่มทักษะมาอยู่ด้วยกัน มีการแต่งตั้งกรรมการ 4 ชุด ชุดละ 2 ท่าน ผู้บริหาร ข้าราชการบำนาญ ครูที่ยังสอน ผู้ประเมินไม่เคยถามว่าทำไมครูทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนี้ แต่ยินดีให้ข้อเสนอแนะ มีครูในกลุ่มสาระเดียวกันกับผู้นำเสนอเนื้อหามานั่งฟังด้วย เพราะคนหนึ่งนำเสนอ เพื่อนก็ได้เรียนรู้ไปด้วย มาเรียนรู้ร่วมกัน เสนอร่วมกัน ทำให้รู้สึกเหมือนมาเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ครูที่มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิก็ฟีดแบ็กว่าเหมือนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็น PLC อย่างแท้จริง"
ผู้บริหารส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนงานประจำของคุณครู ทำให้ครูไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน และครูเองก็ใช้สนับสนุนนักเรียนด้วยเช่นกัน ผู้บริหารเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของวัฒนธรรมองค์กร ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูด้วยกัน และครูกับผู้บริหารมีลักษณะเกื้อกูลสนับสนุนกัน ไปจนถึงมีวัฒนธรรมที่เคารพความหลากหลายของคุณครู
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย