icon
giftClose
profile

GIFT ECONOMY มองเศรษฐศาสตร์ผ่านซองขนมจากการแลกของขวัญ

11440
ภาพประกอบไอเดีย GIFT ECONOMY มองเศรษฐศาสตร์ผ่านซองขนมจากการแลกของขวัญ

GIFT ECONOMY มองเศรษฐศาสตร์ผ่านซองขนมจากการแลกของขวัญ [HAPPY NEW YEAR x CHRISTMAS DAY]

.

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 20 องศา โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมวันคริสต์มาสและส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไปพร้อม ๆ กัน มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแข่งขันการ์ดคริสต์มาส การแข่งขันโปสเตอร์คริสต์มาส การตอบปัญหาวันคริสต์มาส การประกวด Cover Dance นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกินเลี้ยง แต่ละห้องก็จะมีการเตรียมอาหารมาทานร่วมกัน เช่น หมูกระทะ ส้มตำไก่ย่าง ขนมจีน ฯลฯ รวมทั้งมีการแลกของขวัญในชั้นเรียนร่วมกับครูที่ปรึกษาหรือแลกทั้งโรงเรียน และส่วนใหญ่ของขวัญที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมักจะนำมาคือ ตุ๊กตา ขนมต่าง ๆ ที่ห่ออยู่ในกล่องปริศนา



.

การเลือกของขวัญว่าเราจะให้อะไรใคร ราคาเท่าไหร่ ห่อยังไง ทุกอย่างดูมีนัยสำคัญไปหมด เพราะถึงมันจะเป็นของที่เราซื้อให้คนอื่น แต่ก็ดูเหมือนจะมีบางส่วนของผู้ให้ติดอยู่ในของขวัญนั้นด้วย ในช่วงเวลาแห่งความสุข แต่หลายคนอาจมองข้ามไปว่า เทศกาลแห่งการมอบของขวัญนี้ ยังข้องเกี่ยวกับ “ระบบเศรษฐกิจ”

.

Gift Economy หรือระบบเศรษฐกิจของขวัญ คือรูปแบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของ ที่แตกต่างจากระบบการแลกเปลี่ยนซื้อขายทั่วไป เพราะ Gift Economy มีเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ระหว่างผู้ให้และผู้รับ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจึงเกิดพันธสัญญา มีนัยบางอย่างที่จะทำให้เกิดการตอบแทนในภายหลัง พูดง่าย ๆ ว่า เวลาที่มีใครมาให้ของขวัญแก่เรา เราก็คงอยากจะไปซื้อสิ่งของให้กลับคืน เพื่อตอบแทนน้ำใจต่อกัน 

.

และมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือของขวัญกันไปมานี้ จึงเกิดเป็นตลาดในระบบเศรษฐกิจของขวัญ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น

  • ผู้ผลิตสินค้าที่ถูกซื้อเป็นของขวัญ
  • ผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์ กระดาษห่อของขวัญ และการ์ดอวยพร
  • แหล่งจำหน่ายสินค้า ทั้งห้างสรรพสินค้า และสินค้าออนไลน์ ฯลฯ
  • ผู้ให้บริการส่งของ

.

นำเข้าสู่บทเรียน ครูเสนอสถานการณ์สมมติให้นักเรียนร่วมกันอภิปราย ดังนี้

“ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ครูได้เปิดเพลงเพลงหนึ่งที่น่าสนใจ ครูเลยนำเนื้อร้องบางตอนมาให้นักเรียนร่วมกันพิจารณา เพลง หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ (ผู้ชาย) บ้านของพี่ทำนาทำนา ปลูกข้าวทุกเมื่อ (ผู้หญิง) น้องก็ทำนาเกลือ ขายเกลือนั้นซื้อข้าวกิน (ผู้ชาย) บ้านของพี่อยู่ที่กาฬสินธุ์ (ผู้หญิง) ส่วนตัวยุพินอยู่สมุทรสาคร”


นักเรียนตอบคำถามกระตุ้นความคิด ดังนี้

  • 1) เนื้อเพลงข้างต้นกล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง (แนวคำตอบ การประกอบอาชีพ การทำการเกษตร หรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ)
  • 2) จากเนื้อเพลงข้างต้น ผู้ชายและผู้หญิงประกอบอาชีพอะไร อยู่ที่ใด (แนวคำตอบ ผู้ชาย ทำนาข้าว อยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้หญิง ทำนาเกลือ อยู่จังหวัดสมุทรสาคร)
  • 3) เพราะเหตุใดทั้งสองคนจึงเลือกประกอบอาชีพดังกล่าวในพื้นที่นั้น (แนวคำตอบ ผู้ชาย ทำนาข้าว อยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะ เป็นที่ราบปริมาณน้ำฝนมาก แหล่งน้ำเพียงพอ มีเขื่อนลำปาวดินมีรสเค็ม ปลูกข้าวหอมมะลิได้ผลผลิตดี ฯลฯ ผู้หญิง ทำนาเกลือ อยู่จังหวัดสมุทรสาคร เพราะเป็นที่ราบ ติดทะเล ใช้น้ำทะเล ทำเกลือ อุณหภูมิสูงพอที่จะทำให้น้ำระเหยได้ ฯลฯ)
  • 4) ถ้าทั้ง 2 คนผลิตข้าวและเกลือโดยทำเป็นธุรกิจครอบครัว จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศในปริมาณมาก ๆ นักเรียนคิดว่าทั้ง 2 คนควรทำอย่างไร (แนวคำตอบ เช่น มีการจ้างคนงานเพิ่ม ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม ฯลฯ)

จากนั้นครูเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหาที่จะเรียนว่าสิ่งที่นักเรียนตอบมาล้วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการไม่ว่าจะเป็นคนงาน หรือเครื่องจักรต่าง ๆ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะเป็นการนำซองขนมที่นักเรียนทานไปแล้วมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเรื่อง ปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และแน่นอนว่ากว่าจะมาเป็นขนม (Product) จะต้องมีการนำเอาปัจจัยการผลิตหลาย ๆ ชนิดมารวมกันโดยผ่านกระบวนการผลิต (Production Process) ซึ่งปัจจัยการผลิต (Inputs or Factors) หมายถึง ทรัพยากร (Resources) ต่าง ๆ อันเป็นส่วนประกอบในการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน การประกอบการ


1. ให้นักเรียนเลือกซองขนมมา 1 ซอง หากซองขนมมีขนาดใหญ่ให้ตัดมาเฉพาะฉลากสินค้าก็ได้

2. นักเรียนนำซองขนมมาติดลงในกระดาษ A4 (ครูอาจเตรียมกาวและกรรไกรมาให้นักเรียนด้วย)

3. นักเรียนเขียนข้อมูลปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการ 4 องค์ประกอบลงในกระดาษ ดังนี้

  • ที่ดิน (Land) (ที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้านั้นอยู่ที่ไหน)
  • แรงงาน (Labor) (กำลังกายและกำลังความคิดสติปัญญาของคนที่นำมาใช้ในการผลิตคือใคร)
  • ทุน (Capital) (เครื่องจักร โรงงาน เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการชนิดนั้นใช้อะไรบ้างในการผลิต)
  • ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) (ผู้ลงทุนหรือผู้นำเอาปัจจัยการผลิตทั้ง 3 สิ่ง มาทำการผลิตสินค้า และบริการคือใคร)




4. สุ่มนักเรียนออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน และอภิปรายร่วมกันว่า ในการที่ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าหรือบริการประเภทใด ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตและการบริการ ได้แก่ ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผู้ผลิตจะต้องตอบปัญหาเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ว่า

  • จะนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาผลิตเป็นสินค้าและบริการอะไร
  • จะผลิตสินค้าและบริการนั้นอย่างไร
  • จะจัดสรรหรือขายสินค้าและบริการให้แก่ใคร

ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการเป็นผู้ที่นำเอาปัจจัยการผลิตทั้ง 3 สิ่ง (ที่ดิน ทุน แรงงาน) มาทำการผลิตสินค้า และบริการ ในการทำงานทั้งการผลิตและการให้บริการ ผู้ผลิตจะประสบผลสำเร็จในการทำงานได้ ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น คุณภาพของสินค้าและบริการ ราคาที่เหมาะสม คุณธรรม ความต้องการและความพึงพอใจของผู้บริโภค เทคโนโลยีการผลิต ต้นทุนการผลิต ฯลฯ ในปัจจุบันเราจะเห็นสินค้าและบริการมีรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีปริมาณสูง มีคุณภาพดี มีรูปแบบต่าง ๆ ลดแรงงานคน เพิ่มผลผลิตได้เร็วขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง มีกำไรมากขึ้น

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(5)