icon
giftClose
profile

สืบหาเหตุแห่งความทุกข์ด้วยวงจรปฏิจจสมุปบาท

23161
ภาพประกอบไอเดีย สืบหาเหตุแห่งความทุกข์ด้วยวงจรปฏิจจสมุปบาท

โจทย์ของเราในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในครั้งนี้คือ

"จะสอนพุทธศาสนาอย่างไรให้เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของนักเรียนได้มากที่สุด"


ยอมรับเลยว่า การสอนพุทธศาสนา ท่ามกลางสังคมและการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้นค่อนข้างยากมากครับ

ผนวกกับการที่ถูกตีกรอบจากหลักสูตรให้สอนตามตัวชี้วัด รวมทั้งการประเมินผลผ่านการสอบด้วยแล้ว

เลยทำให้เด็ก ๆ ค่อนข้างส่ายหน้ากับวิชานี้ (นี่ยังไม่นับรวมที่ต้องมาท่องจำภาษาบาลีด้วยนะ)


จากโจทย์นั้นจึงกลายมาเป็นกิจกรรมนี้ครับ

"ทุก(ข์)อย่างเกิดแต่เหตุปัจจัย : ปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวัน"

เป็นกิจกรรมที่จะให้เด็ก ๆ ได้ลองวิเคราะห์หาสาเหตุของความทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

โดยสืบสาวหาเหตุไปเรื่อย ๆ ด้วยการอธิบายผ่านวงจร "ปฏิจจสมุปบาท"


ปฏิจจสมุปบาท คือ กระบวนการแห่งชีวิต ที่ความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ โยงใยเป็นรูปวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย



กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการที่ครูอธิบายวงจรนี้ให้นักเรียนได้ฟังก่อน

โดยอธิบายข้อธรรมแต่ละตัว ตั้งแต่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ

[ในขั้นตอนนี้ต้องค่อย ๆ พาเด็ก ๆ ไปทีละตัวเลยครับ ตอนเราสอนเราจะไม่เน้นที่คำภาษาบาลีมากเท่าไหร่ จะอธิบายความหมายของแต่ละตัวไปเลย]


เอาสไลด์ข้างล่างนี้ไปใช้ประกอบได้เลยนะ



หลังจากนั้นก็ยกตัวอย่างสถานการณ์ในชีวิตของครูเอง 1 สถานการณ์ เพื่อจะอธิบายตามวงจรปฏิจจสมุปบาท เช่น "ครูอยากไปเที่ยวภูกระดึงมาก ๆ เลย"


ในตัวอย่างสถานการณ์นี้ แสดงว่า ครูเริ่มต้นที่ 'ตัณหา' คือ ความอยากไปเที่ยวภูกระดึง


ถ้าเราจะอธิบายไปข้างหน้าของวงจรนั่นคือ เราจะพูดถึง 'อุปาทาน' ต่อ

ซึ่ง 'อุปาทาน' คือความยึดติด ในที่นี้คือ ครูยึดติดที่จะไปเที่ยวที่ภูกระดึง (ที่อื่นมีใกล้ ๆ ก็ไปได้แต่ไม่ไป จะไปเฉพาะที่นี่เท่านั้น)


จากนั้นก็ไปต่อที่ 'ภพ' คือสภาวะที่สร้างความเป็นตัวตนของเรา นั่นคือ สภาวะที่เราต้องเอาตัวเองไปภูกระดึงให้ได้

และเมื่อเราไปเที่ยวภูกระดึงแล้ว 'ชาติ' ก็เกิดขึ้น และสุดท้าย ความอยากที่จะไปเที่ยวภูกระดึงก็อาจจะหมดไปนั่นคือ 'ชรามรณะ'


ทีนี้เราลองย้อนกลับวงจรดูบ้างครับ คือตั้งต้นที่ 'ตัณหา' ย้อนกลับไปหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร อวิชชา

เราก็ย้อนกลับไปที่ 'เวทนา' ก่อน ซึ่งมันคือความรู้สึกของเรา เช่น รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉย ๆ ซึ่งความรู้สึกนี้ของครูคือ ความสุข

ความรู้สึกนี้มาจากการเกิดขึ้นของ 4 ตัว คือ "ผัสสะ" + "สฬายตนะ" + "นามรูป" + "วิญญาณ"


'ผัสสะ' คือการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งเร้าภายนอก (วิญญาณ) กับอวัยวะภายใน (สฬายตนะ)

โดยสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบนั่นคือ 'คลิปไปเที่ยวภูกระดึงของคัลแลน พี่จอง และน้องแดน' มันเกิดอาการใจฟุวมาก ๆ


แสดงว่า วิญญาณ ของเราคือ การเห็น การได้ยินเสียงจากคลิปที่เราดู หรืออาจรวมไปถึง อารมณ์ที่มากระทบใจเราด้วยก็ได้

ส่วน 'สฬายตนะ' ก็คือ ตา หู และใจ (สฬายตนะ คืออวัยวะรับสัมผัสของเรานั่นเอง)

'นามรูป' คือส่วนที่เป็นนาม ได้แก่ ความรู้สึก (เวทนา) ความจำได้ (สัญญา) และการปรุงแต่งจิตใจ (สังขาร) ทำงานสอดประสานกับรูป นั่นคือ สฬายตนะ


โดยเมื่อสรุปแล้ว การดูคลิปของคัลแลน พี่จอง และน้องแดน ที่ไปภูกระดึง ทำให้เรารู้สึกมีความสุข จึงทำให้อยากไปภูกระดึง (วิญญาณ + นามรูป + สฬายตนะ + ผัสสะ -> เวทนา -> ตัณหา -> อุปาทาน -> ภพ -> ชาติ -> ชรามรณะ)


หลังจากนั้นก็ให้นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ แล้วลองอธิบายเหตุการณ์ในชีวิตของกลุ่มตัวเองบ้างครับ โดยให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเหตุการณ์ในชีวิตกันก่อน แล้วเลือกมา 1 เหตุการณ์เพื่อที่จะลองนำมาอธิบายโดยใช้วงจรนี้


จากการทำงานของเด็ก ๆ ผมประทับใจการวิเคราะห์ของเด็ก ๆ กลุ่มนึงมาก

โดยเขามาในหัวข้อ "อยากรวย"

ซึ่งเมื่ออธิบายมาถึง 'ชรามรณะ' เขาอธิบายโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เมื่อเรารวยแล้ว ความอยากรวยนี้ก็อาจจะหมดไป เป็น 'ชรามรณะ' แต่บางทีมันก็อาจจะไม่หมด แล้ววนกลับมาที่ 'อวิชชา' นั่นคือความไม่รู้ตามความเป็นจริง โดยเด็ก ๆ กล่าวอธิบายว่า เขาอาจจะมองว่าความรวยเป็นยอดแห่งความสุข เมื่อเรารวยแล้วก็ต้องรวยเพิ่มอีก ซึ่งนั่นคือ อวิชชา ที่จะส่งผลให้เกิดการปรุงแต่งในจิตใจให้ต้องขวนขวายความรวย (สังขาร) แล้ววนกลับมาถึงความอยากต่อ


กิจกรรมนี้อาจจะต้องใช้เวลาหน่อยครับ เพื่อให้เด็ก ๆ ตกตะกอนความคิด ถ้าเด็ก ๆ ตกตะกอนความคิดตรงนี้ได้แล้ว เขาสามารถอธิบายสถานการณ์อื่น ๆ ได้ด้วยตนเองด้วยครับ

ตัวอย่างสถานการณ์อื่น ๆ ของเด็ก ๆ

- อยากไปสวิตเซอร์แลนด์

- คะแนน T-GAT น้อย

- กังวลในการเข้ามหาวิทยาลัย

- อยากกิน Swensen

- อยากนอนบนที่นอนนุ่ม ๆ

ฯลฯ


กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ฝังอยู่ในความทรงจำของผมมาตั้งแต่ตอนผมเรียนอยู่ระดับชั้นม.6

คุณครูท่านหนึ่ง ชื่อ คุณครูเพชรา เป็นผู้ที่นำกิจกรรมนี้มาให้ผมได้ทำและเรียนรู้ในตอนนั้น

ซึ่งถึงตอนนี้คุณครูจะเสียชีวิตไปแล้ว ผมขอระลึกถึงบุญคุณของคุณครู

และขอบูชาครูโดยการนำสิ่งที่ครูสอนมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนและแบ่งปันกับเพื่อน ๆ ครับ

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ilovepdf_merged (4).pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 19 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(6)