
สวัสดีคุณครูและชาวอินส์ทุกท่านครับ
คงจะทราบกันดีว่านักเรียนที่เราได้ลงไปสอน ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีพลังงานหรือกะจิตกะใจในการเรียน โดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือใกล้พักกลางวัน (เอาตามตรงก็เป็นไปได้ทั้งสามช่วงนั่นล่ะ) ด้วยความที่ครูเคยเป็นสายกิจกรรม ชอบทำเกมที่ลักษณะเหมือนเกมโชว์ เลยไปนึกถึงอยู่รายการหนึ่งที่ลักษณะเป็นเกมโชว์และมีการแจกของด้วยหากทายถูก คือ "The price is right ราคาพารวย" อีกทั้งโดยทั่วไปบริบทของประชาชนอย่างเราก็ชอบลุ้นสลากกินแบ่งรัฐบาล นักเรียนก็ชอบกิจกรรมที่มีของแจก เลยเกิดกิจกรรมนี้ขึ้นก็คือ
"The Equation is right! สมการพารวย!!"
เป้าประสงค์ของกิจกรรมนี้
- ทบทวนความรู้เรื่องการแก้สมการ ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ที่นักเรียนจะต้องใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนเรื่องสมการต่อไปในระดับที่สูงขึ้น
- เพื่อให้เกิดความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม (Essential Skill (ES) : Collaboration)
- เพื่อให้นักเรียนได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ร่วมกันผ่านสมการที่หลากหลาย (Character Skill (CS) : Grit)
อุปกรณ์
- สื่อโจทย์สมการ 2 ชุด ชุดละ 25 ข้อ
- สื่อคำตอบตัวเลข 1-25 จำนวน 2 ชุด
- สื่อภาพกล้องสมบัติ 5 ชิ้น
- ฟิวเจอร์บอร์ด (ติดเพื่อความคงทน)
- สก๊อตเทปใส (เหมือนการเคลือบใส แต่ทำแบบราคาถูกและง่าย)
- คัตเตอร์
- กาวแท่ง (ถ้าเป็นไปได้ แนะนำกาวลาเท็ก)
- อุปกรณ์แสดงผล เช่น IPAD (ทำวงล้อ)
- กาว Patalix
วิธีการทำสื่อ
- พิมพ์สื่อโจทย์สมการ คำตอบตัวเลข และกล่องสมบัติ ตัดและวางแยกประเภทไว้
- แปะสื่อลงบนฟิวเจอร์บอร์ดด้วยกาวแท่ง แล้วเคลือบทับด้วยสก๊อตเทปใส พยายามรีดให้เรียบ หลีกเลี่ยงการเกิดฟองอากาศ
- ใช้คัตเตอร์ (และแผ่นรองตัด) ตัดสื่อแยกเป็นชิ้น ให้เหลือขอบของฟิวเจอร์บอร์ดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

(ตัวอย่างการทำสื่อคำตอบตัวเลข โดยใช้ฟิวเจอร์บอร์ดแผ่นสีเขียว)

(ตัวอย่างการทำสื่อโจทย์สมการ โดยใช้ฟิวเจอร์บอร์ดแผ่นสีเหลือง)

(ตัวอย่างการทำสื่อกล่องสมบัติ โดยใช้ฟิวเจอร์บอร์ดสีเหลือง; แผ่นขวาแสดงการใช้กาว Patalix แปะเพื่อติดบนกระดานไวท์บอร์ด)
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
- ครูให้นักเรียนจับกลุ่ม 4 คน แล้วไปรวมกันเป็นกลุ่มที่ข้างห้องทั้งสองฝั่ง (EX. วันนั้นนักเรียนมี 28 คน จะแบ่งได้ทั้งหมด 7 กลุ่มพอดี) ทำตารางช่องใหญ่ 1-25 รอนักเรียนจับกลุ่มเสร็จ
- ครูแจ้งกติกาสำหรับเกมดังนี้
- ให้นักเรียนตัวแทนกลุ่มหยิบชิ้นฟิวเจอร์บอร์ดที่เป็น "โจทย์สมการ" (ในภาพแผ่นสีเหลือง) กลุ่มละ 3 ข้อ
- แต่ละกลุ่มต้องช่วยกันแก้สมการ หาคำตอบของตัวแปรที่กำหนดให้
- อธิบายกับนักเรียนว่า "ตัวอักษรภาษาอังกฤษที่อยู่ในโจทย์ ควรเป็นเลขอะไร
- เมื่อทราบคำตอบ ให้ตัวแทนกลุ่มเดินมาหยิบชิ้นฟิวเจอร์บอร์ดที่เป็น "คำตอบตัวเลข 1-25" (ในภาพแผ่นสีเขียว) โดยโจทย์แต่ละข้อมีคำตอบตรงกันและคำตอบตัวเลขจะมีเพียงเลขละ 2 ชิ้นเท่านั้น (Reminder: แจ้งนักเรียนด้วยว่าท้ายกิจกรรมมีลุ้นรางวัล เหมือนลุ้นเลขท้ายสองตัว โดยคำตอบที่หยิบไปนั้นมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลถ้าตอบถูก)
- ให้เวลาในการหาคำตอบของสมการ 10 นาที
- ครูจะเฉลยคำตอบของสมการไปทีละกลุ่ม หากนักเรียนหยิบคำตอบไปผิด ครูจะหยิบคำตอบนั้นคืนจากนักเรียน นั่นคือนักเรียนจะเสียสิทธิ์ลุ้นรางวัลไป 1 สิทธิ์ ถ้าตอบผิด 3 ข้อก็เสีย 3 สิทธิ์ (เสียใจแย่เลย) ในทางกลับกันถ้าตอบถูกทั้ง 3 ข้อ ก็จะมีสิทธิ์ลุ้นได้มากถึง 3 สิทธิ์เลยทีเดียว เหมือนซื้อล็อตเตอรี่ได้ 3 ใบนั่นเอง
- ครูทำการสุ่มตัวเลข 1-25 ด้วยวงล้อสุ่ม ในที่นี้ใช้ Wheel of name สุ่มโดนเลขใด ถือว่าเลขนั้นถูกรางวัล
- นำกาว Patalix แปะด้านหลังชิ้นฟิวเจอร์บอร์ดที่เป็น "กล่องสมบัติ" แล้วแปะลงช่องที่ถูกรางวัล
- มีกล่องสมบัติ 5 กล่อง นั่นคือนักเรียนจะมีสิทธิ์ถูกได้สูงสุด 3 ใน 5 เลข
- กลุ่มใดถูกรางวัลมากที่สุด รับรางวัล นั่นคือ "เหรียญทองคำ" นั่นเอง

(ตัวอย่างกิจกรรมช่วงวงล้อมสุ่มเลขเพื่อแจกรางวัลให้กับกลุ่มที่่ถูกรางวัลมากที่สุด ช่องที่มีกล่องสมบัติคือช่องที่ถูกรางวัล)
Reflection หลังกิจกรรม
- หลังจากที่ดำเนินกิจกรรมนี้ สังเกตเห็นนักเรียนสนุกกับกิจกรรมอย่างมาก บางกลุ่มหาคำตอบเสร็จเร็วมาก และนักเรียนมีความกล้าในการสื่อสารกับครูมากขึ้น (จากการถามคุรครูถึงความถูกต้อง) ซึ่งคุณครูก็ได้ให้คำแนะนำไปและเสริมความมั่นใจให้กับนักเรียนไปทุกกลุ่ม เมื่อประกอบกับช่วงท้าย นักเรียนได้ลุ้นกันถึงหน้าจอ IPAD สามารถสร้างความลุ้นระทึกให้กับนักเรียนได้ไม่น้อยเลย
- จากการสังเกตภายในกลุ่ม ส่วนใหญ่จะมีการช่วยเหลือกันว่าข้อนี้แก้อย่างไร ใช้เลขเท่าไหร่ ส่งเพื่อนไปหยิบคำตอบ ทำให้นักเรียนรู้วิธีการและเป้าหมายของกิจกรรมนี้ร่วมกัน ในขณะเดียวกันบางกลุ่มก็แก้สมการคนเดียว อาจเพราะยังทำไม่เป็นหรือยังไม่คล่องบ้าง หรือไม่ก็ไม่ทำเลยก็มี (ส่วนนี้แนะนำให้มีการเดินดูให้มากกว่านี้)
การที่ให้เด็กเล่นเกมหรือกิจกรรมประยุกต์จากบทเรียน มากกว่าการที่ให้ลักษณะเลคเชอร์อย่างเดียว จะทำให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ได้มากขึ้น ตอลดจนพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและทักษะเฉพาะตนให้ดีขึ้นได้อีกด้วย หวังว่าครูทุกท่านที่ได้อ่านไอเดียนี้ จะมีแรงบันดาลใจในการจัดกิจกรรมให้นักเรียนที่เรารักมากขึ้นนะครับ
หากครูท่านใดได้อ่านไอเดียนี้แล้ว มีข้อเสนอแนะหรือติชมอื่นใด หรือจะชื่นชมให้กำลังใจ สามารถคอมเม้นไว้ได้เลยครับ
แล้วพบกันใหม่กับไอเดียกิจกรรมคณิตศาสตร์ถัดไปครับ : )
ครูฟลุ๊ค
ปฎิพัทธ์ รัตนาวิน
ครูผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 10