icon
giftClose
profile

insLive “อ่านออกเขียนได้เรื่องใหญ่ เราสอนยังไงดี"

2790
ภาพประกอบไอเดีย insLive “อ่านออกเขียนได้เรื่องใหญ่ เราสอนยังไงดี"

การอ่านออกเขียนได้เป็นเรื่องใหญ่ที่ครูหลาย ๆ คนต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้อยู่ โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทักษะนี้คือพื้นฐานของการเรียนรู้ หากอ่านไม่ได้ ก็คงยากที่จะได้รับความรู้จากในตำราหรือหนังสือต่าง ๆ และหากเขียนไม่ได้ ก็คงยากที่จะสื่อสารออกมาให้บุคคลอื่น ๆ เข้าใจได้ตรงกับตัวของนักเรียนของเรา พอคิดแบบนี้แล้ว ครูอย่างเราก็กังวลมาก ๆ และตั้งคำถามว่าจะต้องทำอย่างไรให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ดีนะ ?

.

วันนี้ insKru จึงขอนำเสนอมุมมอง ทัศนคติ รวมถึงไอเดียการสอนที่เหมาะกับการนำไปใช้ดูแลนักเรียนช่วงชั้นอนุบาลและประถมจาก insLive “อ่านออกเขียนได้เรื่องใหญ่ เราสอนยังไงดี" ที่เราได้พูดคุยกันกับครูก้า - กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็ก คุณครูผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) และผู้พยายามผลักดัน พรบ. ปฐมวัยให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย และ ครูแชมป์ - พุฒิพงศ์ ห้องสวัสดิ์ คุณครูภาษาไทย โรงเรียนบ้านคลองแค คุณครูผู้แบ่งปันไอเดีย “ทุ่มทุกอย่างเพื่อเริ่มใหม่ สู่อ่านออกเขียนได้ภายในเทอมเดียว” ในคอมมูนิตี้ของเรา

.

ก่อนอื่นขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุนจากคุณครู และ “ชาวอินส์” ทุกคนในคอมมูนิตี้ ที่ร่วมกันสนับสนุนให้ insKru ได้ทำคอนเทนต์ดี ๆ แบบนี้ และสามารถอยู่คู่ครูไทยไปได้นาน ๆ หากสนใจร่วมสนับสนุนเพิ่มเติม พร้อมรับของขวัญเเทนคำขอบคุณจากพวกเรา สามารถคลิกลิงก์นี้ได้เลยน้า https://bit.ly/WebDonationFB1

.

ในไลฟ์ครั้งนี้ครูก้าได้แบ่งปันประสบการณ์การสอนนักเรียนช่วงชั้นอนุบาลมาแล้วกว่า 20 ปี ครูก้าเริ่มพูดคุยโดยการบอกว่า “ครูไม่เคยคิดเลยว่าเด็ก ๆ มีปัญหาการอ่านออกเขียนได้ (ยิ้ม) ถ้าเรามองการอ่านว่าคือการอ่านตัวอักษร อ่านภาษา แน่นอนว่าอาจจะยังยากสำหรับเด็ก ๆ วัยจิ๋วอยู่ แต่สิ่งที่นักเรียนในวัยนี้สามารถทำได้ดีนั้น คือความสามารถในการอ่าน “อารมณ์” ของคนรอบ ๆ ตัว”

.

ครูก้าเลยเล่าสถานการณ์จริงที่เคยเจอมาให้เราฟังต่อว่า “วันนี้เด็กเห็นละ พ่อมารับ ทำหน้าบึ้งตึงเลย ไปอ้อนกินขนม หรืออะไรคงไม่สำเร็จหรอก แบบนี้วิ่งไปอ้อนคุณย่า-คุณยายดีกว่า เห็นมั้ยว่าเขาอ่านโลกออก”

.

ครูก้ายังเพิ่มเติมด้วยว่าผู้ใหญ่อย่างเราก็อาจจะไม่ได้มีความสามารถในการอ่านสถานการณ์แบบนี้เลยนะ ไม่รู้จังหวะ ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกหรือคิดอะไรอยู่ (ตรงนี้ครูก้าใช้คำว่า Between the lines) ในเมื่อเด็ก ๆ วัยนี้มีทักษะการอ่านอารมณ์ เราก็ควรจะเก็บสิ่งนี้ไว้เรื่อย ๆ จนเขาได้เติบโต

.

การอ่านโลกที่พูดถึงก็สามารถเรียนรู้ผ่านแบบฝึกหัดง่าย ๆ ได้เช่นเดียวกัน โดยครูก้าได้ฉายภาพของหมาตัวนึง ที่นั่งอยู่ริมฟุตบาท โดยให้เรา (และผู้ชมไลฟ์) ลองทายกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับหมาตัวนี้อยู่

ขอบคุณภาพจากครูก้า

บ้างก็บอกว่า “หลง” บ้างก้บอกว่า “หิว” “รอเจ้าของ” เราเลยถามถึงเฉลย ครูก้าก็บอกว่าคำถามนี้ไม่ได้มีเฉลย เป็นคำถามปลายเปิด ที่ช่วยให้เราได้กระตุ้น และกล้าคิด กล้าตอบออกมา มากกว่าการหาคำตอบที่ถูกต้อง และเมื่อได้ฝึกอ่านสถานการณ์ ลับคมเซนส์ทักษะการอ่านอารมณ์ตรงนี้ ก็จะทำให้เกิดการฝึกคิดวิเคราะห์ได้จริง ซึ่งมิติของการคิดวิเคราะห์นี้เองก็เป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ภาษาด้วยนะ

.

ทักษะความสามารถในการ ”อ่านโลก” ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ครูก้าย้ำถึง เพราะอีกทัศนคตินึงที่ครูก้าแบ่งปันให้เราฟัง คือมุมมองของการใช้ภาษาเป็นเพียง “เครื่องมือในการสื่อสาร” ครูก้าเห็นว่าความอยากรู้ อยากเล่า ก็คือปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ไปได้เหมือนกัน หากนักเรียนอยากรู้ ก็จะเกิดความพยายามฝึกอ่านขึ้นมา รวมถึงหากอยากสื่อสารอะไรออกมา ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความพยายามในการฝึกเขียนได้นั่นเอง

.

ครูก้าได้เล่าให้ฟังว่า “หากเด็กอยากเขียนคำว่า “รักแม่” พอจะเขียนคำว่า “แม่” ทีนึง เราให้เขาฝึก ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูกให้เป็นก่อน แล้วได้ใช้แค่ม.ม้าด้วยนะ ยังไม่ได้เรียนสระ ไม่ได้เรียนวรรณยุกต์ ไม่ทันจะประกอบกันเป็นคำว่า “แม่” เลย เด็กคนนั้นก็เบื่อ ไม่อยากจะเขียนละ” ซึ่งทัศนคติของครูก้าเรื่องการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือนี้ยังสะท้อนผ่านวิธีการสอนและกิจกรรมที่มีความอิสระ ให้โจทย์ที่เป็นปลายเปิดแต่มีความใกล้ตัวกับนักเรียน

.

กิจกรรมของครูก้านั้นไม่บังคับให้นักเรียนต้องคัดตัวอักษรในเส้นประ แต่ใช้สื่อกลางในการเขียนมากมายหลากหลายรูปแบบที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้ลอง เช่น ให้เขียนด้วยชอล์คไปบนพื้นห้อง ใช้นิ้วเขียนบนโคลนลื่น ๆ หรือเขียนไปบนทราย เป็นต้น นอกจากนี้กิจกรรมต่าง ๆ ยังสะท้อนมาสู่ความอิสระในการทำงานนั้น ๆ อย่างเช่น เขียนภาษาไทยก็ได้ เขียนเป็นอังกฤษก็ได้ วาดรูปก็ได้ หรือถ้ายังเขียนไม่ได้จริง ๆ สามารถมาบอกกับครูได้เลยว่าอยากเขียนอะไร คุณครูจะเขียนให้ดู หรือพิมพ์ในคอมพิวเตอร์แล้วปรินต์ออกมา เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกเขียนตาม เมื่อนักเรียนได้เล่าเรื่องราวผ่านการเขียนด้วยลายมือของตนเองแล้วละก็ ยิ่งทำให้เด็ก ๆ ได้รู้สึกภูมิใจ กล้าที่จะสื่อสาร ส่งผลต่อความพยายามในการเรียนและฝึกเขียนต่อไปได้

.

ทางด้านของครูแชมป์ คุณครูเป็นครูสอนภาษาไทย ช่วงชั้นประถมในห้องเรียนครูแชมป์นั้นมีเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้ามาเรียนด้วย ซึ่งจะเห็นเลยว่ามีความแตกต่างในเรื่องของการเรียนรู้ กับนักเรียนที่มีสัญชาติไทยอยู่มาก เนื่องจากการใช้ภาษาไทยอาจไม่สอดคล้องกับบริบทภูมิหลังที่นักเรียนมาจากประเทศแม่ของตนเอง เช่น ประเทศไทยท่อง ก.ไก่ แต่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน จะท่อง ก๊ะจี ซึ่งออกเสียง “กอ” แต่ความหมายไม่ใช่ไก่ จึงทำให้การท่อง ก.เอ๋ย ก.ไก่ ไม่ได้ช่วยให้เด็ก ๆ ในห้องจดจำตัวอักษรได้ ครูแชมป์ได้แบ่งปันกับพวกเราว่า พอเข้าสู่ช่วงชั้นประถม การอ่านออกเขียนได้ในช่วง ป. 1- 2 เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการวางรากฐานให้นักเรียนทำให้ได้ เพื่อใช้เรียนรู้ต่อไปในระดับชั้นที่สูงขึ้น

.

จากบริบทและความเข้าใจนักเรียนข้างต้น ครูแชมป์จึงตัดสินใจลงรากฐานการสอนใหม่ตั้งแต่ต้น โดยบอกกับเราว่า “ครึ่งเทอมแรก เราเริ่มจากการสอนตั้งแต่พยัญชนะใหม่เลย ค่อย ๆ เริ่มกันใหม่ตั้งแต่ต้น เรายอมเสียเวลาตรงนี้ทีเดียวเพื่อให้เด็กได้เข้าใจไปในระยะยาว” ซึ่งห้องเรียนของครูแชมป์เองก็มีความคล้ายกับครูก้าอยู่เหมือนกัน ในมุมที่อยากให้นักเรียนเริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยความอิสระ เพื่อให้ไม่เกิดความเบื่อในการเรียนเสียก่อน ครูแชมป์จึงออกแบบใหการทำงานมาส่ง ไม่ต้องห่วงเรื่องลายมือ บรรทัด หรือการขีดเส้นใต้ขนาดนั้น ขอให้เริ่มทำงานมาจะได้สังเกต และเรียนรู้กันได้ ว่ามีตรงไหนที่ต้องสอนเพิ่มเติมอีก จะเขียนโย้เย้บ้าง คร่อมบรรทัดบ้างก็ไม่เป็นไรนะ

.

โดยครูแชมป์ได้ออกแบบไอเดียการสอนไว้หลากหลายไอเดียมาก ไม่ว่าจะเป็น “ก.ไก่กลายร่าง” ที่ให้นักเรียนลองนำเอารูปตัวอักษร เข้ามาผสานกับความหมาย วาดรูปไก่ ในรูปร่างตัว “ก” ให้ได้ ครูแชมป์ได้บอกกับเราว่า “นักเรียนได้วาดก็รู้สึกสนุก ขนาดผมเองยังสนุกกับการวาดด้วยเลย (หัวเราะ) การทำกิจกรรมนี้ได้ค่อย ๆ ปรับแนวคิดเพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจว่าตัวอักษรไหนผูกกับความหมายอะไร ทำให้จำได้ในที่สุด”

.

นอกจากไอเดียการสอนพยัญชนะแบบ “ก.ไก่” กลายร่างแล้ว ครูแชมป์ยังได้ต่อยอดสู่การสอน “สระท่าทางมนุษย์” ที่จะทำให้นักเรียนของเรา ขยับเขยื้อนร่างกายเป็นท่าทางที่เหมือนกับลักษณะรูปสระตัวนั้น ๆ

ครูแชมป์ได้เผยแนวคิดของไอเดียนี้ไว้คร่าว ๆ ดังนี้“ตอนแรก เราก็พยายามใช้รูปแบบเดียวกัน ในการทำ “สระกลายร่าง” แต่ทำได้แค่ สระอะ กับ สระอาเท่านั้น ไปต่อไม่ได้ มันยากเกิน เลยลองปรับกิจกรรมมาให้นักเรียนทำท่าทางเพื่อเรียนรู้รูปสระดู” ซึ่งกิจกรรมนี้ได้เสียงตอบรับออกมาดีนักเรียนชอบมาก ที่ได้ลุกขึ้นมาจากการนั่งเรียนแบบปกติ ๆ ได้ยืนขึ้นบนเก้าอี้เพื่อทำท่าทางกันในห้องให้สามารถจดจำรูปสระให้ได้

.

จาก 2 ไอเดียการสอนก่อนหน้า ครูแชมป์ยังได้พบเจอ และปรับประยุกต์ไอเดีย “เส้นนำสมอง” ขึ้นมาโดยกำหนดสี 4 สี เพื่อบ่งบอกตำแหน่งของพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด เพื่อบอกใบ้ให้นักเรียนได้ลองเขียนคำอ่าน สะกดคำให้ถูกต้อง โดยในตัวใบงานจะมีรูปภาพจริง และการใช้รูปประโยคคอยช่วยบอกใบ้ประกอบกันอีกด้วย

. เมื่อได้ฟังเรื่องราวและทัศนคติของคุณครูทั้ง 2 ท่านด้วยสายตาของเราที่มองเข้าไป เราได้ตกผลึกและเห็นว่าวิธีการจัดการห้องเรียนให้อ่านออกเขียนได้ ของครูก้า และครูแชมป์นั้น ถึงแม้จะมีความต่างของช่วงอายุนักเรียน (ปฐมวัย - ระดับชั้นประถม) อยู่บ้าง แต่ก็มีจุดร่วมกันอยู่ 3 ข้อด้วยกัน

.

  • การออกแบบกิจกรรมที่บูรณาการกับทักษะอื่น ๆ ให้กับนักเรียน อย่างการใช้กล้ามเนื้อ (Kinesthetic) ซึ่งนับได้ว่าเป็นทักษะที่จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในช่วงอายุน้อย ๆ ช่วงนี้เท่านั้น สะท้อนให้เห็นผ่านการให้นักเรียนเขียนบนโคลน ใช้นิ้วขีดเขียนบนทราย ของครูก้า และ “สระท่าทางมนุษย์” ของครูแชมป์
  • การออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเรียนที่จะคงอยู่ในตัวของพวกเขาต่อไปในทุก ๆ ระดับชั้น โดยได้ช่วยพวกเขาผ่านการเปิดอิสระในการเริ่มต้นเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด
  • อีกจุดร่วมนึงที่เห็นได้ชัดคือ ความพยายามที่จะท้าทายบทเรียน หรือการเรียนแบบเดิม ๆ โดยนำตัวชี้วัดที่นักเรียนควรได้รับออกมากางดู และลองออกแบบกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องล็อคกับการนั่งอ่าน นั่งคัดคำแบบเดิมๆ แถมยังสามารถช่วยนักเรียนได้จริง ๆ อีกด้วย

.

สุดท้ายนี้ เราเข้าใจว่าปัญหาการอ่านออกเขียนได้ เป็นปัญหาใหญ่ที่ครูหลาย ๆ คนต้องเคยเจอ หรือ กำลังเจอกับความท้าทายนี้อยู่ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว insKru ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ ให้ได้ลองหยิบแง่มุมจากเนื้อหาสรุปของไลฟ์นี้ ลองออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับห้องเรียนของคุณครูกัน

.

คุณครูท่านไหนได้ลองนำไปใช้แล้ว กลับมาส่งต่อแรงบันดาลใจ และไอเดียการสอนแบบนี้ต่อผ่านการลงไอเดียการสอนใน inskru.com ได้เลยน้า

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)