icon
giftClose
profile

น้องเพิ่มอยากมีวินัย

3170
ภาพประกอบไอเดีย น้องเพิ่มอยากมีวินัย

🫡เรื่องวินัยในตัวนักเรียน เห็นผู้ใหญ่บอกว่าสำคัญ

เพราะคิดว่าวินัยนั้นจะทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวัน

ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แถมครูอย่างเรา

ก็ไม่ต้องเหนื่อยใจในการกำกับดูแลนักเรียนอีกด้วย


แน่นอนเลยว่าวิธีการสอนวินัยในรั้วโรงเรียน

ให้เกิดขึ้นได้ คงไม่ใช้วิธีการเหมือนกับการสอน

วิชาการในคาบเรียนปกติที่ทำอยู่ทุกวันแน่

เราเลยอยากชวนทุกคนมาอ่านนิทานเรื่องนี้กัน

มาติดตาม “น้องเพิ่ม” กับเพื่อน ๆ นักเรียน

แลกเปลี่ยนในโรงเรียนของเขา เผื่อว่าจะได้เห็น

ความมีวินัยจากประเทศต่าง ๆ กันมากขึ้น


🏫ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางเมือง

มีเด็กชายคนนึงชื่อว่า “เพิ่ม” กำลังเรียนอยู่ที่นี้

ช่วงนี้ที่โรงเรียนของน้องเพิ่ม มีการจัดกิจกรรม

เฟ้นหาคนที่มีวินัยที่สุดในโรงเรียนอยู่

โดยโรงเรียนตั้งใจจะมอบขนมกับคน ๆ นั้นทุกเย็น

รวมถึงพาขึ้นเวทีไปชื่นชม และส่งเกียรติบัตรไป

ที่บ้านอีกด้วย เหตุผลที่โรงเรียนทุ่มเทลงทุน

ทำกิจกรรมขนาดนี้ก็เพื่อหวังว่านักเรียนในโรงเรียน

จะมีวินัย ไม่วิ่งซน หรือพูดคุยกันเสียงดังตอนเรียน

ให้คุณครูต้องมาบ่นเหนื่อยกันเหมือนทุกเมื่อเชื่อวัน


🏆แน่นอนว่ากิจกรรมรางวัลจัดเต็มขนาดนี้

เด็ก ๆ ทุกคนก็อยากจะเป็นคนนั้นที่ได้รับรางวัล

ซึ่งน้องเพิ่มก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย


เพิ่มเลยตั้งใจจะสังเกตและถามเพื่อน ๆ ที่มา

เรียนแลกเปลี่ยนดูว่าเป็นยังไงบ้าง เพราะแต่ละคน

ก็มาจากแต่ละประเทศที่การสอนวินัยแตกต่างกัน

แบบนี้เพิ่มต้องได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างเต็มที่แน่เลยล่ะ


🇹🇭เริ่มจากตอนเช้า ช่วงเข้าแถวหน้าเสาธงเลย

น้องเพิ่มได้เจอกับเพื่อนคนแรกของเขาที่ชื่อว่า

“คิม” นักเรียนแลกเปลี่ยนจากเกาหลีเหนือ


ที่นั่นหน่ะ น้องเพิ่มได้ยินมาว่าเขามีวินัยกัน

สุด ๆ เลย จะเข้าแถว จะไปกินอาหาร หรือ

จะฝึกซ้อมรองเพลงชื่นชมท่านผู้นำก็ต้อง

เป็นระเบียบเรียบร้อย มีวินัย เป๊ะ ๆ ๆ

ไปทุกกระเบียดนิ้ว น้องเพิ่มรู้สึกว่าถ้าเรามีวินัยได้

สักครึ่งนึงของคิมเนี่ย ต้องได้รางวัลแน่เลย น้องเพิ่ม

รู้สึกว่าเพื่อนคนนี้น่าเป็นแบบอย่างทำตามอย่างมาก


“คิม นายนี่มันเท่ชะมัด เวลามาโรงเรียน

มาเข้าแถวตอนเช้าก็ยืนตรงเป๊ะ ไม่กระดุกกระดิก

ฉันว่านะ ที่เกาหลีเหนือต้องเคร่งเรื่องวินัยแน่ ๆ”

“แน่นอน ที่เกาหลีเหนือ เขาสอนเรามาว่าให้ยืนตรง

ยืนนิ่ง ๆ ไม่ปล่อยแขนขาให้งอหรือสั่น ยิ่งทำได้

แค่ไหนคือยิ่งมีระเบียบวินัยเท่านั้น หรืออย่าง

การร้องเพลง ยิ่งร้องดังก็คือยิ่งเป็นการประกาศ

ถึงความเคารพ และชื่นชมยังไงละ ถ้าร้องแบบว่า

อ้อมแอ้ม ๆ ก็คือไม่มีวินัย เพราะไม่ได้แสดง

ความเคารพตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม”


คิมพูดต่ออย่างภาคภูมิใจว่า “บางคนนะ

ร้องจนสุดเสียง หน้าดำหน้าแดงล้มไปก็มี

นั่นถือว่าเขามีวินัยดีเยี่ยมเลยแหละ”

น้องเพิ่มรู้สึกแปลกใจ ความมีระเบียบที่เราเห็น

จากคิม ไม่ต่างกับสิ่งที่เคยรู้จักมาก่อนหน้าเลย

ถ้าอย่างนั้นเราลองสังเกตเพื่อน ๆ คนอื่นด้วยดีกว่า


👩‍🏫พอเข้าแถวเสร็จก็ถึงเวลาเรียนแล้ว

ในห้องเรียนวันนี้น้องเพิ่มได้นั่งข้าง ๆ “เล็กซ์”

นักเรียนแลกเปลี่ยนที่มาจากเยอรมนี ซึ่งเพิ่มเอง

เคยได้ยินมานะว่าการเรียนที่นั่นกับที่ไทยต่างกันอยู่

ที่นั่นเขาตั้งใจให้เด็ก ๆ สามารถคิดวิเคราะห์เอง

และสามารถดูแลชีวิตตัวเองได้ จะว่าไปเพิ่มเห็น

เล็กซ์เดินทางมาโรงเรียนเองด้วยรถเมล์อยู่ทุกวันเลย

แถมเมื่อกี้ก่อนเริ่มคาบ เล็กซ์ก็เป็นคนนำแก้วน้ำ

ที่ยังกินไม่หมดวางไว้หน้าห้องอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตาม

กฎของห้องเลย ทั้ง ๆ ที่ครูยังไม่ได้ทักอะไรสักแอะ

เหมือนว่านี่ก็คือส่วนนึงของวินัยที่เราพูดกันอยู่

ลองเข้าไปคุยกับเล็กซ์ดูหน่อยก็คงไม่เสียหายเนาะ


“เล็กซ์ ทำไมนายถึงเอาแก้วน้ำไปทิ้งแล้วละ

ยังกินไม่หมดเลยนี่” เล็กซ์จึงตอบกลับว่า

“อ่อ เพิ่ม มันเป็นกฎในห้องเรานิ เราคิดว่า

ถ้าเอาแก้วน้ำเข้าไปในห้องแล้วมันจะหกได้

นี่ไง เราว่ากฎข้อนี้มีเหตุผล เราถึงควรทำตาม”


น้องเพิ่มของเราไม่ได้พูดอะไร ยังงุนงงอยู่

นี่คือวินัยเหรอ ทำไมเราต้องมีเหตุผลในการ

ทำตามกฎด้วยเหรอ แค่ทำ ๆ ไปก็ดี ก็เรียบร้อยแล้วสิ

เหมือนเล็กซ์จะรู้คำถามในใจเพิ่มเข้า เลยอธิบายต่อ

“คืออย่างนี้ ที่เยอรมนีบ้านเกิดฉันนะ เขาเปิดโอกาส

ให้พวกเราได้คิด ตัดสินใจ อย่างอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ

อย่างการตั้งกฎในห้องเรียนเนี่ย เขาก็เปิดพื้นที่

ให้เราได้คิดร่วมกัน พอคิดกฎแล้ว ก็ให้คิดถึงเหตุผล

และเสนอวิธีต่าง ๆ ในการป้องกันไม่ให้เกิดด้วย

ของพวกนี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกได้คิด

ได้กำหนดตัวเองขึ้นมา”


น้องเพิ่มเปลี่ยนสีหน้าเป็นความเข้าใจ คำว่า ”วินัย”

ก็ไม่จำเป็นต้องสอนผ่านรูปแบบของการเข้าแถว

ร้องเพลงดัง ๆ ก็ได้ แต่สามารถสอนในรูปแบบนี้

ได้อีกด้วยเรอะเนี่ย


🍛หลังจากเข้าเรียนช่วงเช้าเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาทาน

อาหารเที่ยงพอดี น้องเพิ่มกำลังต่อแถวอยู่ข้างหลัง

“คิโกะ” นักเรียนแลกเปลี่ยนจากญี่ปุ่น

แถวก็ยาวเหยียดมีคนรออยู่เกือบร้อยได้มั้ง


เพิ่มกำลังกระวนกระวาย ต่อแถวมาตั้งนานแล้ว

ยังไม่ได้ข้าวเที่ยงสักที อยากรีบกินรีบไปเตะบอลแล้ว

ในขณะที่คิดอยู่เพิ่มก็เห็นคิโกะที่ยืนรออย่างใจเย็น

จนนึกขึ้นมาได้ว่าที่ญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศ

ที่ขึ้นชื่อเรื่องความมีวินัย ไม่ว่าจะเป็นการต่อแถว

ความตรงต่อเวลา หรือการรักษาความสะอาดก็ตาม

แล้วทำไมกันละเด็กญี่ปุ่นถึงมีความอดทน

และมีวินัยได้ขนาดนี้ ไม่รอช้า เพิ่มชวนคุยทันที


“คิโกะ ทำไมเธอถึงใจเย็นกับการต่อแถวขนาดนี้อะ

ไม่อยากรีบกินข้าว รีบไปเล่นเหรอ เป็นเรานะ…

เราแอบลัด ๆ เข้าไปแล้ว” เพิ่มพูดแบบทีเล่นทีจริง

“เราก็อยากรีบกิน รีบไปเล่นไม่ต่างกันนั่นแหละ

แต่ถ้าต้องลัดคิวก็คงไม่แฟร์กับคนก่อนหน้าเรานะ”


คิโกะพูดต่อว่า “ที่ญี่ปุ่นหน่ะ เขาสอนเรามาให้คิดถึง

และเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าเรามาต่อแถวก่อน

แต่ได้ของทีหลังก็คงไม่แฟร์ใช่ม้า พอคิดได้อย่างนี้

เราก็ไม่อยากทำกับคนอื่นต่อด้วย คิโกะว่าเรื่องนี้

มันส่งต่อไปเรื่องอื่น ๆ อย่างเวลานัดเพื่อน

เราก็คงไม่อยากรอ เลยต้องไปตรงเวลา

หรือถ้าเราไม่ได้ทำเวร ทำความสะอาดห้องเรียน

พรุ่งนี้มาใช้ห้องเรียนก็อาจจะเปื้อนได้อย่างนี้ละมั้ง”


พอได้ยินอย่างนี้ น้องเพิ่มก็หายสงสัยแล้ว

ว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงดูมีวินัยในการใช้ชีวิตจัง


🛝หลังจากเรียนช่วงบ่ายเสร็จ ระหว่างรอพ่อแม่มารับ

เพื่อที่จะกลับบ้าน น้องเพิ่มก็เลือกไปเล่นที่

สนามเด็กเล่นสักหน่อย ในสถานที่แบบนี้

น้องเพิ่มไม่คิดหรอกนะว่าจะได้มาสังเกต

และเรียนรู้เรื่องวินัยจากใครได้อีก

สนามเด็กเล่น ก็แค่เอาไว้เล่นสไลเดอร์

เล่นทรายก็พอแล้ว ในตอนนั้นเอง “เดมัน”

เพื่อนนักเรียนแลกเปลี่ยนจากเนเธอร์แลนด์

ก็ได้เข้ามาชวนเพิ่มเล่นกับเขาพอดี


“เพิ่ม เรามาเล่นห้อยโหนกันดีกว่า นั่นไงสูง ๆ เลย

น่าตื่นเต้น” เดมันชวนเพิ่มอย่างคึกคัก

“ไม่เอาดีกว่าเดมัน มันน่ากลัวนะ ปกติเวลาเราจะเล่น

ห้อยโหนอันนี้หน่ะ พ่อแม่ต้องมาดูอยู่ข้าง ๆ

สนามเด็กเล่นด้วย เราคงเล่นไม่ได้หรอก”

น้องเพิ่มชี้นิ้วไปที่รอบ ๆ สนามเด็กเล่น เดมันมองไป

เห็นสายตาของผู้ใหญ่หลายสิบคู่ ที่กำลังจับจ้อง

ลูกหลานของตัวเองอยู่ เดมันจึงพูดกับเพิ่มว่า


“นายรู้มั้ย เราไม่เคยเห็นพ่อแม่มาดูลูก

ด้วยความเป็นห่วงเยอะขนาดนี้มาก่อนเลย”

“อ้าว ทำไมล่ะ ?” เพิ่มถามด้วยความสงสัย

“ที่เนเธอร์แลนด์หน่ะ ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ไม่รักเรานะ

แต่เป็นเพราะพ่อแม่อยากให้เรามีวินัย จัดการชีวิต

ของตัวเองได้ เลยให้พวกเราออกไปเล่น

สนามเด็กเล่นตั้งแต่ 4 ขวบแหนะ แต่ไม่ได้น่ากลัว

อย่างที่คิดนะ เพราะมีสนามเด็กเล่นอยู่ทุกหัวมุม

ถนนในเมืองเลยละ”

“โห ตั้งแต่ 4 ขวบ…” น้องเพิ่มนั่งพึมพัมพร้อมนึก

สักพักว่า ตอนเรา 4 ขวบกำลังทำอะไรอยู่นะ


เดมันเสริมต่อว่า “นอกจากที่เราจะได้จัดการเวลา

จัดการชีวิตเองแล้ว พ่อแม่ยังเชื่อใจให้เราเข้าสังคม

กับเพื่อน ๆ ผ่านการพูดคุย และเล่นกับเพื่อน ๆ

ร่วมถึงเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิด

ระหว่างการเล่นกันด้วย ทั้งหมดเกิดขึ้นได้

เพราะผู้ใหญ่เชื่อใจให้เราได้ลองยังไงละ”


น้องเพิ่มประหลาดใจ ว่า “วินัย” ที่ตนเองกำลัง

ตามหาก็สามารถเกิดขึ้นจากการเล่นก็ได้เรอะเนี่ย


🤔วันนี้เพิ่มได้กลับมาตกตะกอนจากทั้งหมดที่ได้

สังเกตและเรียนรู้มา กับเพื่อน ๆ ที่เรียนแลกเปลี่ยน

หลากหลายเชื้อชาติ และได้เข้าใจว่า การสร้างวินัย

มีหลากหลายรูปแบบมากกว่าที่เคยรู้มามาก ๆ เลย


มากไปกว่านั้น “วินัย” จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องมี

สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย

ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ทำให้เห็น เด็ก ๆ อย่างน้องเพิ่ม

ก็จะไม่ได้เห็นแบบอย่าง และไม่สามารถทำตามได้

พูดง่าย ๆ ว่า “ยิ่งผู้ใหญ่มีวินัยให้เด็กเห็น

จะยิ่งส่งเสริมวินัยของพวกเขาได้นั่นเอง”


💖น้องเพิ่มดีใจมากที่ได้เพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องวินัย

และได้เห็นว่าการมีวินัยนั้นสามารถสอดแทรก

ไปกับชีวิตประจำวันได้ส่งผลให้เรารับผิดชอบ

และจัดการตัวเองได้จริง


เมื่อเรามีวินัยแล้วก็จะทำให้ทั้งตัวเอง ทั้งคนรอบตัว

สามารถใช้ชีวิตกันได้เรียบร้อยขึ้น โดยไม่ต้องมี

ของรางวัล หรือขนมมาจูงใจอีกต่อไป


🌟ถึงนิทานเรื่องนี้จะจบลงที่ตัวของน้องเพิ่ม

โดยที่เราไม่รู้เลยว่าเป็นยังไงต่อ

แต่เราอยากชวนคุณครู มาแต่งเติมตอนต่อไป

ของเรื่องราวความมีวินัยในห้องเรียนตัวเองไปด้วยกัน

ลองนำมุมมองการสร้างวินัยจากหลาย ๆ ประเทศ

ไปลองทำกันได้น้า


คุณครูลองนำวิธีไหนไปใช้ ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง

ก็สามารถมาแบ่งปันตอนต่อไปของนิทานเรื่องนี้กัน

ได้ที่ช่องคอมเมนต์เลยน้า


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(2)