icon
giftClose
profile

สื่อนวัตกรรม "ทอดผ้าป่า ภาษาพูด ภาษาเขียน"

6602
ภาพประกอบไอเดีย สื่อนวัตกรรม "ทอดผ้าป่า ภาษาพูด ภาษาเขียน"

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

ในการเรียนการสอนไม่ว่าจะในวิชาใดก็ตาม ย่อมมีการใช้สื่อการสอนเสมอ ซึ่งในปัจจุบันสื่อการสอนได้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น สื่อการสอนที่เป็นสื่อทำมือ สื่อเทคโนโลยี เพลง วีดีทัศน์ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อทำมือหรือสื่อเทคโนโลยี ต่างก็ส่งผลดีในการเรียนรู้ของนักเรียนเหมือนกัน

สำหรับสื่อทำมือ เป็นสื่อที่ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านของจริง เกิดการสัมผัส เกิดความสมจริง โดยการเรียนรู้ที่เด็กได้จับต้องสื่อจริงๆ ก็จะทำให้พัฒนาการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ช่วยในเรื่องความจำ เป็นต้น ซึ่งสื่อทำมือนี้อาจทำมาจากวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของครูผู้สอนด้วย โดยข้อดีของสื่อทำมือนี้ ไม่ว่าเราจะไปสอนที่โรงเรียนใดก็ตาม เราก็สามารถใช้สื่อได้ทันที ไม่ต้องกังวลว่าโรงเรียนมีเครื่องฉายสไลด์ มีอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์หรือไม่

นอกจากสื่อทำมือแล้ว สื่อเทคโนโลยี ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการเรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และเกิดความใฝ่รู้ เพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านสื่อใหม่ๆ บทเรียนต่างๆก็เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิคที่มีรูปภาพประกอบสวยงาม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเรียนมากขึ้น

การเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนและเนื้อหาก็มีความสำคัญเช่นกัน สื่อการเรียนการสอนมีหลายประเภท หลายชนิด การนำเอามาใช้ต้องเลือกให้เหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์เต็มที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนของที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจ โดยจะต้องเลือกสื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ว่าจะนำสื่อไปใช้ในด้านใด

ดังนั้น สื่อการสอน มีความสำคัญต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ กระตุ้นให้นักเรียนสนใจบทเรียนมากยิ่งขึ้นและยังกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสื่อที่มีความแตกต่างจากบทเรียนทั่วๆไปการเลือกนำสื่อการสอนมาใช้นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถและความถนัดของครูผู้สอนและจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดกับนักเรียนให้มากที่สุด  

ขั้นตอน

ขั้นนำ

๑. นักเรียนอ่านคําที่ครูกําหนดให้แล้วบอกความหมายของคํานั้น ๆ โดยครูนําบัตรคำศัพท์(ซองผ้าป่า)ที่เป็นภาษาพูดและภาษาเขียนมาให้นักเรียนอ่าน

ยังไง

อย่างไร

กิน

รับประทาน

๒. ครูตั้งคําถามชวนคิด ดังนี้

ครู : นักเรียนอ่านคําที่กําหนดให้สังเกตเห็นความเหมือนหรือแตกต่างของคําหรือไม่ อย่างไร

นักเรียนร่วมกันตอบคําถาม ดังนี้

นักเรียน : สิ่งที่เหมือนคือ ความหมาย แต่ที่ต่างกันคือ การเขียน อธิบายได้ว่า “ยังไง แปลว่า อย่างไร” “กิน แปลว่า รับประทาน”

๓. นักเรียนตอบคำถามว่าคำที่ครูกำหนดให้เป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน โดยใช้บัตรพลิกเกอร์ (PlickersCards)ในการตอบคำถาม โดยครูนําบัตรคำศัพท์(ซองผ้าป่า)ที่เป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนมาถามนักเรียน และครูตรวจคำตอบผ่านแอปพลิเคชัน Plickers เป็นการทดสอบความรู้เดิมของนักเรียน

๔. ครูเฉลยคำตอบโดยการเสียบคำศัพท์(ซองผ้าป่า)ใส่ไม้เสียบ นำไปปักบนต้นผ้าป่า ภาษาพูด ภาษาเขียน แล้วเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียน

ขั้นสอน

๑. นักเรียนร่วมกันอภิปรายความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง “ลักษณะของภาษาพูดและภาษาเขียน” จากการศึกษาใบความรู้ “ฎีกาผ้าป่า ภาษาพูด ภาษาเขียน”      

๒. ครูตั้งคําถามเพื่อให้นักเรียนเปรียบเทียบภาษาพูดและภาษาเขียน ดังนี้

ครู : ระหว่างคำว่า “ผัวเมีย” กับคําว่า “สามีภรรยา” นักเรียนคิดว่าสองคํานี้ ความหมายเหมือนกันหรือไม่ นําไปใช้ต่างกันอย่างไร

นักเรียน : เปรียบเทียบได้ว่า คําว่า “สามีภรรยา” มีความสุภาพมากกว่าคำว่า “ผัวเมีย”

๓. นักเรียนร่วมกันสรุปหลักการของภาษาพูดและภาษาเขียน ครูสรุปหลักการเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน

๔. ครูสุ่มแจกบัตรคำศัพท์(ซองผ้าป่า)ให้นักเรียนคนละ ๒ ใบ เพื่อนำมาใช้ในการทำใบงาน เรื่อง เปรียบเทียบภาษาพูดกับภาษาเขียน โดยนักเรียนแลกเปลี่ยนบัตรคำศัพท์(ซองผ้าป่า)กับเพื่อนให้ครบ ๑๐ ใบ (๑๐ ข้อ)

๕. เมื่อนักเรียนทำใบงานเสร็จแล้วให้นำบัตรคำศัพท์(ซองผ้าป่า)ที่ได้ มาใส่ไม้เสียบ นำไปปักบนต้นผ้าป่า ภาษาพูด ภาษาเขียน ให้ถูกต้อง

ขั้นสรุป

๑. นักเรียนร่วมกันอ่านคำประพันธ์เรื่อง ภาษาพูดกับภาษาเขียน และสรุปความรู้ร่วมกัน ดังนี้

“ภาษาพูดนั้นเรียบง่ายไม่ยุ่งยาก เหมือนเช่นกับภาษาปากในการใช้

ภาษาเขียนมีแบบแผนจำขึ้นใจ เปรียบเทียบได้สื่อสารถูกรู้หลักการ”

๒. ครูตั้งคำถามนำสรุปว่า

ครู : นักเรียนจะนำความรู้เรื่อง ภาษาพูด ภาษาเขียน ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง

นักเรียน : ใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนให้ถูกต้องตามหลักการและถูกต้องเหมาะสมในชีวิตประจำวัน

ผลลัพธ์ที่เกิด หรือ คาดว่าจะเกิดขึ้น

๑. ช่วยกระตุ้นและสร้างความสนใจ สร้างบรรยากาศในห้องเรียนและให้กับผู้เรียน

๒. แก้ไขปัญหาในการเรียนการสอน

๓. ส่งเสริม พัฒนานักเรียนในการจัดการเรียนการสอน

๔. ช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนเข้าใจตรงกัน

๕. ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

๖. ผู้เรียนทบทวนความรู้เองได้ง่าย

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

๑. ก่อนจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ ทอดผ้าป่า ภาษาพูด ภาษาเขียน ครูควรศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เพื่อจะได้ให้คำแนะนำกับนักเรียนได้อย่างถูกต้อง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สื่อให้ดียิ่งขึ้น

๒. ครูควรมีบัตรคำศัพท์(ซองผ้าป่า)หลายชิ้น เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ให้ผู้เรียน และเพื่อความรวดเร็วในการจัดกิจกรรม

๓. ครูควรพิมพ์ความหมายเพิ่มในบัตรคำภาษาเขียน กรณีบัตรคำศัพท์(ซองผ้าป่า)เป็นศัพท์ยาก

๔. ครูควรศึกษาวิเคราะห์หลักสูตร แผนการจัดการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ และขอบข่ายเนื้อหา ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ในช่วงชั้นหรือรายวิชาอื่น ๆ

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ซองผ้าป่า.docx

ดาวน์โหลดแล้ว 61 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(3)