icon
giftClose
profile

ฝึก Inquiry Based Learning จากป้ายรถไฟฟ้าที่เห็นกันทุกวัน

3492
ภาพประกอบไอเดีย ฝึก Inquiry Based Learning จากป้ายรถไฟฟ้าที่เห็นกันทุกวัน

สวัสดีทุกคนในคอมมูนิตี้ insKru ฮะ เนื่องจากเป็นการแบ่งปันไอเดียครั้งแรก เลยอยากแนะนำตัวให้รู้จักกันก่อน เราชื่อโด้ครับ เป็นคนทั่วไปที่สนใจการศึกษา ไม่ได้เป็นครูนะ แต่ก็เชื่อว่าเราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตจริง ๆ :)


สำหรับไอเดียนี้ ถ้าคุณครูได้เข้ามาอ่านแล้วเห็นว่ามีมุมมองคลาดเคลื่อน หรืออยากแนะนำเพื่อปรับประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้ง่ายขึ้น สามารถมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ที่ช่องคอมเมนต์เลยน้าาา


ที่มาของไอเดียนี้ จริง ๆ แล้วทุกคนอาจจะเคยเห็นผ่านตาไปบ้าง แต่ไม่ได้สังเกตมาก่อน คือวันนึงครับ เราต้องไปทำงานนอกสถานที่ ต้องเดินทางโดยเปลี่ยนรถไฟฟ้า MRT -> BTS ที่สถานีนึง ด้วยความที่ไม่คุ้นชินกับเส้นทาง เราเลยต้องมองที่ป้ายบอกสถานี และทำให้เห็นว่า... สีเส้นทางเดินรถบนป้ายของ MRT กับ BTS ไม่เหมือนกัน !

รูปซ้าย : ป้าย MRT ให้สีรถไฟฟ้า BTS สายสีลมด้วยสีเขียวอ่อน / สายสุขุมวิทด้วยสายเขียวเข้ม

รูปซ้าย : ป้าย BTS ให้สีรถไฟฟ้า BTS สายสีลมด้วยสีเขียวเข้ม / สายสุขุมวิทด้วยสายเขียวอ่อน

ด้วยความที่ไม่ชินเส้นทาง เราถึงกับยืนนิ่ง งง ไม่แน่ใจว่าต้องลงสถานีนี้เพื่อเปลี่ยนสายจริงมั้ย เราจะไปถึงจุดหมายด้วยรถสายสีอะไรกันแน่ จากเครื่องมือสีสายรถไฟที่ควรจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น กลับทำให้เสียเวลากับการอ่านชื่อสถานีที่ถูกต้องว่าสายนี้ไปถึงจริง ๆ นะแทน


ด้วยความที่เรียนสายดีไซน์มาก่อน จึงมีคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวมากมายไปหมด และทำให้เราได้ลองไปค้นหาต่อเป็นเนื้อหาในไอเดียนี้ขึ้นมา

"ป้ายสายรถไฟฟ้าสีไม่ตรงกัน เราต่อยอดเรียนรู้อะไรได้บ้างนะ ?"


ทำไมป้าย MRT กับ BTS ให้สีต่างกัน

คำถามนี้ใคร ๆ ก็ต้องอยากรู้แน่ ๆ เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้เกิดการสลับสีสายรถกันได้แบบนี้ มีคนเคยให้คำตอบมาว่าทั้ง 2 บริษัท ทำแยกกัน ไม่ได้มีการตกลงร่วมกัน ทำให้ไม่ได้มีมาตรฐานว่ารถไฟฟ้าสายไหนต้องใช้สีอะไร (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย facebook.com/bkktrains/posts/2261680630621706)


มีวิธีแก้ปัญหานี้ยังไงบ้างนะ

คิดว่าถ้าแก้ง่ายที่สุดก็คือ ไปตกลงกันว่าจะใช้สีอะไร แล้วก็แปะสติ๊กเกอร์ทับป้ายเก่า แต่พอมองในระยะยาวแล้ว อนาคตเราอาจมีรถไฟ/รถไฟฟ้าอีกหลายสาย หลายสี บางสีก็ดูชวนให้งง เช่น สีแดงอ่อน ซึ่งอาจจะคล้ายกับชมพู / สีฟ้า-สีเขียว ที่ชวนให้สับสนเมื่อเราพูดคุยกับคนที่มีอายุ วิธีแก้ในระยะยาวเราอาจจะต้องมีหน่วยงานที่มาดูแล กำกับมาตรฐานวิธีการสื่อสารตรงนี้ให้เกิดขึ้นเหมือน ๆ กัน อย่าง New York ก็จะมีค่าสีให้ทุกคนใส่โค้ดนี้ในขั้นตอนการทำป้ายเลย


ทำยังไงให้คนมีเซนส์ในการเดินทางได้ ไม่หลง

คำถามนี้เราตอบโดยลองหา Case Study ของประเทศอื่น ๆ ดู โดยคาดว่าแต่ละประเทศจะต้องมีวิธีที่น่าสนใจในการให้เซนส์คนที่เดินทางให้เข้าใจได้ง่าย ไม่หลง โดยเฉพาะคนที่เพิ่งมาเป็นครั้งแรก หรือคนที่มาเที่ยว ซึ่งแต่ละประเทศต้องมีวิธีการที่ทำให้เกิดเซนส์ที่ว่านี้แตกต่างกันแน่นอน เราเลยเลือกตอบคำถามนี้จากการยกหูโทรหาเพื่อน ๆ ที่เคยไปใช้ชีวิตที่เมืองนอกมา

สำหรับ New York เพื่อนบอกว่าระบบเส้นทางรถไฟฟ้าของเขา ก็มีการเเบ่งสีเหมือนกัน โดยเเบ่งตามเส้นทางเเละบริษัทที่เป็นเจ้าของตัวรถ ทำให้เส้นทางวิ่งของบริษัทเดียวกันจะใช้สีเดียวกัน เเล้วก็ใช้เส้นทางเดียวกันในบางสถานีด้วย (ตัวอย่างเช่น สายสีเขียว เบอร์ 4-5-6 ตั้งเเต่สถานี 125st ลงไปทุกสถานีใช้เส้นทางเดียวกันหมด) ประกอบกับผลบุญผังเมืองที่วางตัดกันเป็นแนวตั้งกะนอนชัดเจน (ไม่ได้ตรอก ซอก ซอย แบบที่ไทย) เวลาจะไปไหนเขาก็เเค่จำว่าสีอะไร ไม่ต้องจำเบอร์สายรถ กระโดดขึ้นไปเเล้วลงที่สถานีได้เลย

หรือถ้าไม่รู้ว่าจะไปยังไง เพียงรู้ว่าสถานีที่เราอยู่เลขอะไร เเล้วสถานีที่เราจะลงเลขอะไร ก็ไปที่ชานชะลา เลือกฝั่งได้ว่าจะไป uptown หรือ downtown ได้ง่าย ๆ เลย (ไปที่ถนนเลขน้อยลง หรือเลขเยอะขึ้น) จากความที่ผังเมืองเป็นระบบทุกอย่างเลยดูง่าย เซนส์ในการเดินทางชัดเจน

นอกจากนี้รถไฟของเขามีแบบปกติที่จอดทุกป้าย / กับเเบบ express ที่จอดบางป้ายด้วย สิ่งที่ต่างกันคือสัญลักษณ์ วงกลม / diamond สียังเหมือนเดิม ตัวอักษรยังเหมือนเดิม พอไปเสิชเเล้วเจอมาว่าด้วยจำนวนรถที่มีจำกัด + รอบ express วิ่งเเค่ตอน rush hour ป้ายที่เค้าใช้จะเป็น LED ที่สามารถเปลี่ยนได้ ถ้าคิดต่อว่าเอาไปทำอะไรกับบ้านเราได้บ้าง ที่ตรงตัวเลยก็คือ รถไฟ MRT/BTS ที่มีช่วง rush hour เเล้วจะไปจอดสถานีกลางๆ (เช่นสถานีหมอชิต ไม่ไปถึงคูคต) ไว้เร่งระบายคน ตอนนี้มีเเค่เสียงประกาศกับป้ายไฟ LED เล็กๆที่หัวขบวน ถ้าทุกโบกี้มีสิ่งนี้ด้วยอาจจะชัดเจนขึ้นก็ได้


การใช้สีบอกทางเวิร์คจริงมั้ย ทำยังไงคนที่ตาบอดสีถึงจะแยกออกด้วย

คำถามนี้น่าสนใจที่ว่า เมื่องานออกแบบตรงนี้เป็นป้ายที่อยู่สาธารณะ ทุกคนต้องเข้าถึงได้ เราจะทำยังไงให้ทุกคนใช้งานได้โดยไม่ติดขัด หรือยืนงงเหมือนที่เรายืนงงมาแล้ว555

เพื่อนที่เคยไปญี่ปุ่นบอกว่า ที่ญี่ปุ่นก็มีความงง ๆ จากสีของสายรถที่ใกล้กันอยู่มาก เช่น Rose - Red / Blue - Sky ญี่ปุ่นเลยออกแบบให้แต่ละสถานี มีชื่อสายที่เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษอยู่ด้วย ถึงจะมองแล้วแยกแยะสีได้ยาก ก็สามารถเข้าใจได้อยู่ดีว่าสถานีนี้ อยู่สายรถไฟสายอะไรกันแน่

จากการค้นหาเพิ่มเติม เราก็ได้เจอว่าที่อังกฤษมีความพยายามแก้ปัญหาโดยการใช้เส้นแรเงา ที่มาหลาย ๆ ลวดลายมาแทนสีที่มีอยู่ วิธีนี้น่าสนใจ เพราะสามารถประหยัดเงินปรินต์ขาวดำก็ยังแยกแยะได้ด้วย อีกอย่างที่ประทับใจคือ ลองหรี่ตาดูก็ยังสามารถแยกแยะสายรถไฟได้อีกด้วย นอกจากนี้ที่อังกฤษยังมีแอพในมือถือที่สามารถกดเพื่อเปลี่ยนการตั้งค่าสี / เส้นแรเงาได้เองตามที่คนใช้ต้องการ ไม่ต่างกับเกมในสมัยนี้เลย

หรือใกล้บ้านเราเข้ามาอีกนิด อย่างเกาหลี ซึ่งมีสายรถไฟเยอะแยะมากมาย ก็มีวิธีการแก้ปัญหาที่น่าสนใจมาก ๆ คือเปลี่ยนจุดที่สายรถไฟตัดกันเป็นมุม แล้วอาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ เป็นเส้นแบบโค้ง ๆ เวลาดูให้จินตนาการว่าเอานิ้วลากตามเส้นไป หากรู้สึกว่ามันไม่ใช่ โค้งนี้ไม่น่าบิดไปในทางนี้ ก็คือไม่ใช่เส้นทางนี้ ถึงจะอธิบายแล้วงง ๆ แต่คิดว่าพอดูรูปก็น่าจะเข้าใจมากขึ้นคร้าบ (วิธีนี้ได้รางวัล red dot ที่จะให้กับการดีไซน์ที่น่าสนใจด้วยนะ)


จะเห็นได้ว่า แค่เราไปเจอสถานการณ์ในชีวิตประจำวันมา ก็สามารถต่อยอดจนได้ความรู้มากมาย ที่เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีความรู้นี้อยู่หรือต้องรู้สิ่งนี้ โมเมนต์แบบนี้แหละครับที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงสิ่งที่เรียกว่า การเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry based Learning) และต่อยอดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ได้

โดยเราสามารถเริ่มได้ทุกที่ ไม่ว่าจะในหรือนอกห้องเรียน รวมถึงไม่ต้องเริ่มจากการหยิบเนื้อหาในหนังสือเรียนมาเพื่อเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเริ่มจากเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันก็ได้เหมือนกันนะ ลองให้โอกาสเด็ก ๆ เรียนรู้และตั้งคำถามตามที่เขาสนใจดู อาจจะได้ความรู้สนุก ๆ มันส์ ๆ แบบนี้ออกมาก็ได้น้า


อ้างอิง:

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)