icon
giftClose
profile

ครูจี๊ดแต่ไม่ปรี๊ดเพราะแวดล้อมดี

610
ภาพประกอบไอเดีย ครูจี๊ดแต่ไม่ปรี๊ดเพราะแวดล้อมดี

❤️‍🔥คุณครูคงเคยเจอเด็กสุดจี๊ด ป่วน ซน

จนอารมณ์เราพุ่งมาบ้าง อยากจัดการนักเรียนให้ดี

แต่ไม่อยากตี ไม่อยากดุ ให้บรรยากาศไม่ดีใช่มั้ย?


วันนี้ insKru และ ChildImpact ขอเปิดประตูมิติ

ชวนดูวิธีจัดการห้องเรียนให้ไม่ต้องมาดุกัน

และยังทำให้มีแต่บรรยากาศดี ๆ ได้ด้วย

เป็นยังไงไปดูกัน !


🔥คุณครูคงเคยเจอเด็กสุดจี๊ด ป่วน ซน

จนอารมณ์เราพุ่งมาบ้าง อยากจัดการนักเรียนให้ดี

แต่ไม่อยากตี ไม่อยากดุ ให้บรรยากาศไม่ดีใช่มั้ย?


วันนี้ insKru และ ChildImpact ขอเปิดประตูมิติ

ชวนดูวิธีจัดการห้องเรียนให้ไม่ต้องมาดุกัน

และยังทำให้มีแต่บรรยากาศดี ๆ ได้ด้วย

เป็นยังไงไปดูกัน !


🥰จากคอนเทนต์ก่อนหน้าเราเห็นแล้วว่า

จะอารมณ์ไหนๆ เราก็สามารถรู้เท่าทันได้

และไม่จำเป็นต้องปฏิเสธสิ่งนี้ไป


อารมณ์โกรธที่คุณครูรู้สึกนั้นก็เช่นกันนะ

แต่วิธีจัดการอารมณ์ตัวเอง และจัดการห้องเรียน

ก่อนเกิดความรู้สึกโกรธแบบนี้ซ้ำ ๆ

เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า


😱ลองมาดูตัวอย่างของครูคนนี้

ในกลุ่ม insKru ครูปล่อยของกัน

คุณครูบอกว่าในห้องเรียนของเขามีนักเรียนที่

ชอบก่อกวน ชวนเพื่อนคุยเสียงดัง พูดคำหยาบ

ขัดคอ ทำให้ครูรู้สึกอารมณ์พุ่งมาก แถมนักเรียนคนนี้

ไม่ได้ทำแบบนี้กับครูคนอื่น ๆ ด้วย เหมือนตั้งใจ

แกล้งเราคนเดียวเลย


🤯ครูคนนี้ได้จบโพสต์ในกลุ่มด้วยคำถามว่า

“ควรปล่อยไปเลยหรือต้องทำอย่างไร

ไม่ให้กวนการสอนอีก” โมเมนต์นี้นี่แหละคือโมเมนต์

ที่คุณครูน่าจะเคยเจอกันอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงเวลาที่

เรามีน้ำโหขึ้นมา และต้องเผชิญหน้ากับ

“ทางเลือก” ด้วยตัวเอง


จะเลือกอะไรดีระหว่างการปล่อยไปตามสะดวก

ของนักเรียน แล้ววันนึงก็ไปเรียนรู้พฤติกรรมเอง

หรือจะจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาหน้างานดี

โดยการจัดการนี้ ก็ยังแบ่งเป็นการจัดการระยะสั้น

และระยะยาวอีก ที่น่าหนักใจก็เพราะว่า

“การแก้ปัญหาในระยะสั้น” อย่างการดุ การตี

ได้ผลดีแค่สั้น ๆ แถมยังไปทำร้ายจิตใจ

และความสัมพันธ์ ไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อกัน


ในขณะที่ “การแก้ปัญหาระยะยาว” ถึงจะ

สอดคล้องกับความคิดมนุษยนิยม

และไม่ทำร้ายความรู้สึกของนักเรียน

แต่บางทีมันใช้เวลานานมาก

จนเราหมดแรง หมดใจ ไม่เห็นว่าพฤติกรรมนี้

จะเปลี่ยนได้ยังไงเลย


แล้วอย่างนี้ต้องใช้วิธีการรับมือแบบไหน

ถึงจะได้ผลดี โดยไม่ทำร้ายจิตใจกัน

เพราะเราเชื่อว่าคงไม่มีครูคนไหนที่อยากดุ บ่น

นักเรียน ในทุก ๆ คาบ ปวดหัวกับการรับมือ

ความดื้อความซนหรอก


🙌ครูเปี๊ยกก็เป็นหนึ่งคนที่เคยเจอปัญหาแบบนี้

โดยคุณครูได้บอกว่า นักเรียนกำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

พ่อแม่เขาก็ต้องเตรียมตัวในช่วงนี้ที่เขาเปลี่ยนแปลง

ผมก็เลยเอาจิตวิทยาวัยรุ่นมาให้พ่อแม่ได้รู้

ไปพร้อมกันเลยจะได้ช่วยดูแลกันได้

เราได้รู้ว่าช่วงวัยรุ่นเขาจะเริ่มออกห่างจากเรา

มากขึ้นแล้วอยู่กับเพื่อนมากขึ้นนะ

สายสัมพันธ์เดี๋ยวจะช่วยให้ดึงไว้ได้


เราก็ได้ใช้จิตวิทยาวัยรุ่นแล้วเห็นผล

จึงแนะนำผู้ปกครองไปในวันปฐมนิเทศ

เพื่อให้พ่อแม่นำสิ่งนี้ไปใช้ต่อในบ้านของตัวเอง

เราต้องปูเรื่องของความหลากหลายของแต่ละบ้าน

กฎของเขา กฎของครู อาจไม่เหมือนกันก็ได้

บางบ้านบังคับบางบ้านไม่บังคับ แต่ว่าในห้องเรียน

จำเป็นต้องมีกฎเรื่องนี้อยู่

และนักเรียนต้องปฏิบัติตามกันด้วย



💖ครูเปี๊ยกได้บอกกับเราเพิ่มเติมว่า การสอนวัยรุ่น

ในแบบของครูเปี๊ยก จริง ๆ แล้วนักเรียนจะจำ

เรื่องไม่ได้มาก เลือกเฉพาะแก่นมาก็เพียงพอแล้ว

โดยคุณครูเน้นไปที่เรื่อง Empathy

“สิ่งใดไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทำกับคนอื่น”


หากนักเรียนไม่นึกถึงคนอื่นเนี่ย มันจะมีปัญหา

เกิดขึ้นตามมานะ เมื่อนักเรียนได้เข้าใจว่า

พฤติกรรมที่ตัวเองทำนั้นไม่เหมาะสม

ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี หรือต้องเดือดร้อนแล้วละก็

จะได้ย้อนนึกถึงตัวเองด้วย ว่าหากเขาถูกกระทำ

แบบนี้บ้าง จะรู้สึกอะไร พอได้ย้อนนึกแบบนี้

นักเรียนก็จะไม่ทำพฤติกรรมนั้น ๆ ที่ไม่ดีอีก

ช่วยลดความจี๊ดของคุณครูไปได้มาก

ถือเป็นการวางแนวทางการแก้ปัญหา

ระยะยาวได้เป็นอย่างดี


💡ครูเปี๊ยกบอกกับเราเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าจะเจอ

สถานการณ์ที่หนักหนาแค่ไหน เราก็ไม่ควรปรี๊ด

ออกมาให้นักเรียนได้เห็น เพราะนอกจากจะขัดกับ

เรื่อง empathy ที่สอนไปแล้ว


ยังเสียหายเยอะในเชิงกลยุทธ์ด้วย

เด็ก ๆ เขาจะคุยกันเองอยู่ เขาจะส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น

ทำให้ภาพลักษณ์ของเราเสียหาย เมื่อภาพลักษณ์เรา

เสียหาย นักเรียนก็จะไม่ไว้ใจเรา

เกิดเป็นความระแวงขึ้นมา


🌟เรื่อง empathy ที่ครูเปี๊ยกใช้งานและได้ผลจริง

ทำให้เรานึกถึงเครื่องมือนึงที่เรียกว่า S.A.F.E.

ซึ่งเป็นเครื่องมือที่คุณครูและผู้ปกครอง

สามารถลองนำไปใช้เพื่อสร้างแวดล้อมที่ดี

เอาใจใส่ให้นักเรียนของเราเกิดทักษะทางอารมณ์

และสังคมที่ดีได้ พร้อมวางรากฐาน

เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในระยะยาว

ทำให้เราไม่ต้องมาปรี๊ดแตกกันบ่อย ๆ อีกต่อไป

ซึ่งเกิดขึ้นได้จากแวดล้อมในห้องเรียนของเรา

ที่ถูกวางพื้นฐานมาอย่างดีแล้วนั่นเอง


ซึ่งเครื่องมือ S.A.F.E นี้ประกอบไปด้วย

S - Support “การสนับสนุน”

A - Affirm “การแสดงความเห็นพ้อง”

F - Familiarise “การทำให้คุ้นเคย”

E - Empathise “การเอาใจใส่”

แต่ละองค์ประกอบจะมีรายละเอียดวิธีการ

ทำยังไงในห้องเรียนของเราบ้าง ไปดูกันต่อได้เลย !


💪S - Support “การสนับสนุน” คือการทำให้นักเรียน

รู้สึกมั่นใจ มั่นคง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

ในห้องเรียน เมื่อหันมาแล้ว เขาจะยังเจอคน ๆ นึง

ที่จะคอยช่วยเหลือ ดูแล และสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา


หากถามว่าเซนส์ความรู้สึกตรงนี้ เราสามารถมีส่วน

ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร จริง ๆ แล้ว เซนส์ของการ

ได้รับการ “ซัพพอร์ต” จากคุณครู

สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการลองสังเกต

ดูว่านักเรียน ชอบ หรือ ไม่ชอบทำอะไร

และร่วมถามเพื่อแสดงความสนใจในความชอบ

ของนักเรียนผ่านการถามกว้าง ๆ เป็นคำถาม

ปลายเปิด เมื่อเราได้รับรู้แล้วว่านักเรียนของเรานั้น

ชอบหรือไม่ชอบอะไรอยู่ เราก็จะสามารถซัพพอร์ต

ในสิ่งที่นักเรียนต้องการได้อย่างตรงใจอย่างที่เขาเป็น


สำหรับห้องเรียนในระดับชั้นเด็กประถม อีกโอกาสนึง

ที่เราสามารถแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนได้ คือ

ช่วงเวลาที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับ

ความท้าทายใหม่ ๆ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่

พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อน เช่น การสร้างเพื่อนใหม่

หรือการลองเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น

เราสามารถเข้าไปตรงนั้นเพื่อถามว่า

“อยากให้เราช่วยอะไรมั้ย ?” เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่า

เรายังคอยซัพพอร์ตพวกเขาอยู่ในทุกช่วงเวลานะ


👍A - Affirm “การแสดงความเห็นพ้อง” คือการ

ส่งเสริมความสามารถ และทักษะในตัวของ

นักเรียนเอง ผ่านการรับรู้ และยืนยันถึงศักยภาพที่

พวกเขาได้เฉิดฉายออกมา


เราในฐานะของครูสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการ

จดจำสิ่งที่นักเรียนทำได้ดี ในด้านของอุปนิสัย

และความสามารถ แล้วจึงนำไปชมเชย

หรือแสดงให้เห็น ต่อหน้าเพื่อน ๆ ของเขา


สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังรวมถึงความสามารถหรือ

ลักษณะนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน

ที่เราอาจเผลอมองข้ามไปโดยง่าย เช่น

การมีน้ำใจกับเพื่อน การผูกเชือกรองเท้าเองได้

หรือความพยายามในการทำงานได้อีกด้วยนอกจากนี้

ในกรณีที่ทำไม่สำเร็จ คุณครูอย่างเราก็สามารถเลือก

นำส่วนดีมาใช้ได้อีกด้วย ไม่จำเป็นต้องชื่นชม

เฉพาะคนที่ทำสำเร็จเท่านั้น


ลองเปรียบเทียบกับการวาดรูป คนที่ทำงานได้

สวยงามเหมือนจริงที่สุดก็มักจะเป็นคนที่ผู้ใหญ่ชื่นชม

แต่จริง ๆ แล้วอาจมีคนอีกมากที่ ถึงวาดไม่เหมือนจริง

แต่เลือกใช้เทคนิคได้น่าสนใจ ปะติดรูปจากหน้า

นิตยสารมาอย่างสร้างสรรค์, มีคนที่ใช้กล้ามเนื้อได้ดี

ทำให้ระบายสีโดยไม่ออกจากกรอบเลย หรือ

คนที่เลือกใช้คู่สีได้น่าสนใจ เพียงคุณครูพยายาม

มองข้อดี ตามความเป็นจริง เซนส์ความรู้สึกเห็นพ้อง

ตรงนี้ก็จะเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ


🪥F - Familiarise “การทำให้รู้สึกคุ้นเคยกัน”

ให้นักเรียนได้รู้สึกว่าเราก็ไม่ได้ต่างจากเขา

เราก็เป็นมนุษย์คนนึง ที่มีความรู้สึก มีจิตใจ

เข้าถึงและเข้าใจกันได้ง่าย


การที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยกันแบบนี้ ส่งผลดีคือ

นักเรียนจะไว้ใจ เชื่อใจเรา เมื่อพูดหรือตักเตือน

อะไรไปก็จะเกิดความรู้สึกที่อยากทำตาม

มากกว่าเมินไปเสียเฉย ๆ


หากอยากให้นักเรียนเกิดเซนส์ความรู้สึกนี้

คุณครูสามารถทำได้ผ่านการสังเกตแง่มุมต่าง ๆ

ในการใช้ชีวิตของนักเรียน หรือชวนไปทดลอง

ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดประสบการณ์ร่วมกันขึ้น

เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่น หากห้องเรียนของเรา

ไม่เคยมีการทำกิจกรรมผ่านการเล่นบอร์ดเกม

เราอาจลองชวนมาเล่นกันดูสักครั้ง

โดยเราลงไปเล่นกิจกรรมนี้ด้วย เป็นต้น


หรือหากเป็นเด็กเล็ก เราอาจลองจูงมือ

ชวนไปดูที่ต่าง ๆ ในรั้วโรงเรียน หรือหยิบสิ่งต่าง ๆ

ที่นักเรียนยังทำไม่เก่ง มาลองฝึกไปด้วยกันก็ได้นะ

เช่น การกวาดพื้น ถูพื้น หรือการแปรงฟันหลังมื้อเที่ยง

เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างกันตรงนี้ขึ้นมา


💗E-Empathise “การเอาใจใส่” รับรู้อารมณ์

ที่แตกต่างกัน และชวนให้ได้จัดการอารมณ์ความรู้สึก

ทั้งตัวเอง และคนรอบตัวเท่าที่เป็นไปได้ อย่าง

กุศโลบาย “สิ่งใดไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทำกับคนอื่น”

ของครูเปี๊ยกนั่นเอง


เมื่อได้เรียนรู้ความรู้สึกของกันและกัน จะช่วยให้เกิด

การตระหนักในพฤติกรรมของตัวเองก่อนที่จะเริ่ม

ทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้


โดยคุณครูเริ่มได้จากการชวนนักเรียนมาทบทวน

อารมณ์ของตัวเองตลอดวัน ทั้งก่อนและหลังเลิกเรียน

เพื่อให้เห็นแนวโน้มของการเกิดอารมณ์ต่าง ๆ

ของตัวเอง ว่ามีแนวโน้มเป็นยังไง มักเกิดจาก

สาเหตุอะไร และสามารถควบคุมได้ในที่สุด


สำหรับห้องเรียนชั้นประถม คุณครูสามารถเริ่มต้นได้

จากการสอนให้ได้รู้จักคำศัพท์ต่าง ๆ ในการอธิบาย

ความรู้สึกของตัวเอง และค่อย ๆ เข้าใจ

ความต้องการต่าง ๆ ของนักเรียนไปพร้อม ๆ กัน


🫶🏻เมื่อได้ทดลองใช้เทคนิคทั้ง 4 ภายในเครื่องมือ

S.A.F.E. แล้วละก็ แวดล้อมในห้องเรียนของคุณครู

จะค่อย ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

นักเรียนจะค่อย ๆ รู้สึกว่าเป็นส่วนนึงในห้องเรียน

ของเรา รวมถึงรับรู้ได้ถึงอารมณ์ของตัวเอง

และคนรอบ ๆ ตัวของเขา ส่งผลให้สามารถจัดการ

พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วยตัวของเขาเอง

โดยไม่ต้องมาเหนื่อยเราอีก


คุณครูสามารถทดลองนำเทคนิคนี้

ไปใช้ในห้องเรียนได้ ส่งผลทำให้ครูไม่ต้องปรี๊ด

เกิดเป็นสุขภาพจิตที่ดีกันทั้งนักเรียนและคุณครู


โดยเครื่องมือ S.A.F.E. เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคู่มือ

การพัฒนาทักษะทางด้านการจัดการอารมณ์ของเด็ก

หากคุณครูสนใจสามารถลองใช้เครื่องมือ S.A.F.E

ของ Child Impact นี้ กดเข้าไปได้เลยที่ https://bit.ly/ChildImpactSAFE


insKru และ Child Impact ขอเป็นกำลังใจ

ให้คุณครูทุกคนสามารถจัดการรับมือพฤติกรรมสุดจี๊ด

จากนักเรียนอย่างสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาได้สำเร็จน้า

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)