icon
giftClose
profile

การต่อบทสนทนาหลังการฟัง ด้วยการรับรองความรู้สึก ตอนที่ 1

5342
ภาพประกอบไอเดีย การต่อบทสนทนาหลังการฟัง ด้วยการรับรองความรู้สึก ตอนที่ 1

โลกในศตวรรษที่ 21 (21st century ต่อไปจะขอย่อว่า C21) เป็นโลกที่มีความผันผวนสูง (Volatility) คือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเกิดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อยู่บนความไม่แน่นอนสูง (Uncertainty) คือคาดการณ์ได้ยาก ทำให้ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนสูง (Complexity) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากผู้คนที่หลากหลาย ทั้ง อาชีพ วัย ประสบการณ์ มาร่วมกันแก้ปัญหา แต่บนความหลากหลาย ทำให้เกิดความคลุมเครือ (Ambiguity) จากการสื่อสารไม่สามารถเข้าใจกันได้โดยง่าย มีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้ไม่ชัดเจนว่าจะเดินกันไปในทิศทางไหน* การฟังอย่างลึกซึ้ง


“ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)” เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากสำหรับมนุษย์ใน C21 เนื่องจากการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นการฟังอย่างตั้งใจเพื่อสังเกตและเรียนรู้ความคิดความรู้สึกของผู้พูด โดยยังคงสติรู้เท่าทันกรอบความคิดความเชื่อของตนเอง และสามารถวางการแสดงออกของผู้ฟังเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะยังจดจ่ออยู่กับผู้ฟังตรงหน้าได้ การฟังในลักษณะนี้ แม้ต้องอาศัยการฝึกฝน แต่ทุกคนสามารถฝึกได้ทันที เพราะไม่ได้เรียกร้องทรัพยากรใดๆ สำหรับการฝึก กระบวนการนี้เพียงแค่เรียกร้องให้เราปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเองต่อการฟัง เพียงอย่างเดียวเท่านั้น


ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งช่วยลดทอนความรุนแรงของ โลก C21 ได้อย่างไร บนโลกที่ผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งความคิด ความเชื่อ การฟังอย่างลึกซึ้ง จะช่วยให้เราเปิดใจรับฟังความคิดความเชื่อที่แตกต่างจากตนเองได้มากขึ้น (โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งความคิดความเชื่อของตนเอง) นอกจากนี้เราจะได้รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้พูด ช่วยให้เราเข้าใจเบื้องหลังอันเป็นที่มาที่ไปของโลกทัศน์ (ทัศนะของคนๆ หนึ่ง ที่เขามองโลกใบนี้) ที่ใช้เป็นกรอบความคิดความเชื่อของเขา เมื่อเรารู้จักผู้พูดมากขึ้น ก็จะทำให้เราเกิด Empathy กับเขาได้มากขึ้น เราก็จะใส่ใจที่จะหาวิธีการสื่อสารที่มุ่งสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง เน้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนใน โลก C21 ได้ สังคมก็จะค่อยๆ ขับเคลื่อนไปอย่างราบรื่นตามลำดับ


การฟังอย่างลึกซึ้ง ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับครูอีกด้วย เนื่องจากครูต้องสื่อสารกับผู้ปกครอง นักเรียน และเพื่อนครูด้วยกันอยู่เสมอ หากเราสามารถแสวงหาความร่วมมือได้จากการฟัง จะช่วยให้งานของครูราบรื่นขึ้น บทความนี้ไม่ได้จะอธิบายว่าการฟังอย่างลึกซึ้งมีวิธีการอย่างไร เพราะเชื่อว่าครูคงเคยได้รู้จักทักษะนี้กันมาบ้างแล้ว สิ่งที่อยากชวนให้พิจารณาคือ แม้เราจะสามารถใช้การฟังอย่างลึกซึ้งได้แล้ว แต่การฟังเป็นคนละเรื่องกับการสื่อสาร กล่าวคือการสื่อสารจำเป็นต้องรับส่งสารกันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ได้พูดหรือฟังอย่างเดียวเป็นหลัก แต่เรา “สนทนา” ระหว่างกัน ดังนั้น การฟังอย่างลึกซึ้ง จะมีคุณภาพมากขึ้น หากเราสามารถต่อบทสนทนาที่มีคุณค่าและมีความหมายทั้งต่อผู้พูดและผู้ฟังออกไปได้ นอกจากนี้ หากเราฟังอย่างใตั้งใจมากเกินไป และไม่มีการต่อบทสนทนาที่เหมาะสม ก็อาจทำให้ผู้พูดอึดอัดขึ้นได้ การสนทนาที่ลื่นไหล ยังช่วยรักษาความสัมพันธ์ กล่าวคือเกิดความประทับใจระหว่างที่ได้พูดคุยกัน ก็จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ


เทคนิคการต่อบทสนทนาอันหนึ่งที่อยากจะแนะนำในบทความนี้ เรียกว่า “การรับรองความรู้สึก” ซึ่งเป็นเทคนิคง่ายๆ ที่ฝึกฝนไม่ยาก เทคนิคนี้คือะไร ต้องกล่าวก่อนว่าความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อย่างหนึ่งคือการมีคนเข้าใจ และอยากได้การยอมรับ เมื่อมีความสุข เราอยากแบ่งปัน เมื่อมีความทุกข์ ก็อยากได้การปลอบประโลมหรือให้กำลังใจ อันเป็นพื้นฐานความต้องการของการพูดคุยระหว่างกัน การรับรองความรู้สึก คือการตอบสนองพื้นฐานดังกล่าว


ลองยกตัวอย่างบทสนทนาธรรมดาๆ สั้นๆ

ผู้พูด : ฉันเครียดกับการสอบวันพรุ่งนี้จัง


หากผู้ฟังใช้การฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเขากำลังเครียดอยู่ ระหว่างที่ฟัง เราสามารถเท่าทันความรู้สึกได้หลายอย่าง เช่น 


ก. ฉันว่าการสอบครั้งนี้ก็ไม่ได้ยากเท่าไรนะ

ข. ก็เธอไม่ขยันอ่านหนังสือเองนี่ 

ค. จริง!! ข้อสอบครั้งนี้ใครจะไปทำได้

ง. เขาน่าจะต้องการเชียร์อัพนะ


ไม่ว่าเราจะรู้สึกอะไรอยู่ก็ตาม หากเรารู้เท่าทันความคิดของเราแล้ว เราจะยังไม่พูดออกไปก็ได้ แต่บทสนทนาตัวอย่างนี้ หากเราเลือกที่จะเงียบไปเลย ก็มีโอกาสที่จะทำให้การสนทนาหยุดชะงัก หรือที่เรียกว่ามี Dead Air เกิดขึ้น หรือหากเราไม่เท่าทันความรู้สึก หรือควบคุมไม่ได้ แล้วเผลอหลุดปากพูดออกไป อาจเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีตามมาก็เป็นได้


ประเด็นชวนคิดคือ ในตัวอย่างข้างต้น ข้อใด สามารถดึงมาใช้ในการ “รับรองความรู้สึก” ได้ ลองคิดก่อนอ่านบรรทัดต่อไป


คำตอบคือ ค. จริง!! ข้อสอบครั้งนี้ใครจะไปทำได้


ข้อ ค. เป็นความรู้สึกที่เห็นด้วยกับผู้พูด ทำให้ผู้ฟังสามารถต่อบทสนทนาด้วยการรับรองความรู้สึกได้ง่าย เช่น “จริงด้วย ฉันก็กำลังกลุ้มใจอยู่เหมือนกัน”


ประโยคดังกล่าว เป็นการรับรองความรู้สึกอย่างไร แก่นสำคัญของการรับรองความรู้สึกก็คือ เห็นด้วยว่าอารมณ์ความรู้สึกนั้นมีเหตุผล


จะเห็นได้ว่า ข้อดีของการรับรองความรู้สึก คือ ผู้ฟังไม่จำเป็นต้องมีวาทศิลป์เป็นเลิศ ก็สามารถทำให้การสนทนาราบรื่นขึ้นได้ และไม่ละเลยความคิดความรู้สึกของผู้ฟัง อีกทั้งยังสามารถแสดงออกซึ่ง Empathy ต่อผู้พูดได้ไปพร้อมกัน


การสนทนามีมากมายหลายรูปแบบ การรับรองความรู้สึก ยังมีหลักการปรับประยุกต์เพื่อใช้ในหลากหลายสถานการณ์ ตอนต่อตอนต่อไป จะยกตัวอย่างในเคสอื่นๆ เพิ่มเติมให้เห็นภาพการใช้งานมากยิ่งขึ้น



อ่านเรื่อง "การรับรองความรู้สึก" ได้ในหนังสือ "ฟังด้วยหู-ใจ: เปลี่ยนวิธีฟังเพียงนิด พิชิตทุกความสัมพันธ์" แปลจาก I Hear You: The Surprisingly Simple Skill Behind Extraordinary Relationships ของสำนักพิมพ์ Bookscape การยกตัวอย่างและอธิบายที่ปรากฎในบทความ เป็นการสรุปความรู้ของครูเปี๊ยกเองนะครับ


* ดูความหมายของ VUCA World การตีความว่าทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าว เป็นความเห็นของผู้เขียน


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)