icon
giftClose
profile

การรับรองความรู้สึก ตอนที่ 2 สื่อสารตามที่เป็นจริง

5570
ภาพประกอบไอเดีย การรับรองความรู้สึก ตอนที่ 2 สื่อสารตามที่เป็นจริง

ตอนที่ 1 เราได้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นโลกที่มีความแตกต่างหลายหลายสูง เสี่ยงต่อการปะทะความความคิดความเชื่อ การฟังอย่างลึกซึ้งจะช่วยลดทอนปัญหาดังกล่าวได้ แต่การฟัง เป็นคนละเรื่องกับการ “สนทนา” ครูเปี๊ยกจึงเสนอ “การรับรองความรู้สึก” อันเป็นเทคนิคสำหรับการต่อบทสนทนา เพราะในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้ฟัง หรือพูดอยู่ฝ่ายเดียว แต่เรา “สื่อสาร” ระหว่างกันเสียส่วนมาก


ตอนที่ 1 ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์เป็นบทสนทนาขึ้นมาสั้นๆ ขอเพิ่มเติมสถานการณ์ว่า เพื่อนชื่อ ไก่ มาระบายให้เราฟัง ว่า

ไก่ : ฉันเครียดกับการสอบวันพรุ่งนี้จัง


หากผู้ฟังใช้การฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเขากำลังเครียดอยู่ ระหว่างที่ฟัง เราสามารถเท่าทันความรู้สึกได้หลายอย่าง เช่น 


ก. ฉันว่าการสอบครั้งนี้ก็ไม่ได้ยากเท่าไรนะ

ข. ก็เธอไม่ขยันอ่านหนังสือเองนี่ 

ค. จริง!! ข้อสอบครั้งนี้ใครจะไปทำได้

ง. เขาน่าจะต้องการเชียร์อัพนะ


ความรู้สึกอย่างน้อย 4 อย่างที่ยกมา ข้อ ค. เป็นข้อที่ตรงกับเทคนิค “การรักรองความรู้สึก” เพราะแก่นสำคัญของการรับรองความรู้สึกก็คือ เห็นด้วยว่าอารมณ์ความรู้สึกนั้นมีเหตุผล”


ดังนั้นผู้ฟังสามารถต่อบทสนทนาได้ง่ายๆ เช่น “จริงด้วย ฉันก็กำลังกลุ้มใจอยู่เหมือนกัน”


ประโยคข้างต้น ทำให้เกิดแง่ดีหลายประการ 1) ไก่จะรู้ว่าเราฟังเขาอยู่ เพราะเราตอบได้ตรงประเด็นกับที่เขาเล่าให้ฟัง คือ เขากำลังเครียดเรื่องการสอบ 2) ไก่จะรู้สึกว่า เราเข้าใจความรู้สึกของเขา คือเขากำลังรู้สึกเครียดอยู่ 3) เราได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ จาการรับรองความรู้สึก มันคือการที่เรา “ลองสวมรองเท้าของไก่” แล้วบอกไก่ว่า “ถ้าเป็นเรา เราก็รู้สึกเครียดเหมือนกับไก่นั่นแหละ”


จากประโยชน์อย่างน้อย 3 ข้อ เชื่อได้ว่าความสัมพันธ์ของไก่กับเราจะเป็นเชิงบวก นั่นหมายความว่าไก่พร้อมเปิดใจรับฟังเรามากขึ้นด้วย (หรืออย่างน้อย เขาจะยังเลือกคุยกับเราในครั้งต่อไป)


**********


หากเราต่อบทสนทนาด้วยความรู้สึกอื่น จะเกิดอะไรขึ้น

ก. ฉันว่าการสอบครั้งนี้ก็ไม่ได้ยากเท่าไรนะ > เราไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของไก่ แถมยังมุ่งสื่อสารความเห็นของเราเอง แทนที่จะโฟกัสที่สารของไก่

ข. ก็เธอไม่ขยันอ่านหนังสือเองนี่ > เรากำลังตัดสินไก่ว่าไม่ขยัน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เงื่อนไขของไก่ คือด่วนตัดสินไก่ไปก่อนแล้ว

ง. เขาน่าจะต้องการเชียร์อัพนะ > ข้อนี้ดูเป็นการสื่อสารเชิงบวก แต่การให้กำลังใจก็มีข้อที่ต้องระมัดระวัง เพราะอะไร ลองมาวิเคราะห์กันดู แต่ก่อนจะไปต่อ อยากให้ลองจินตนาการถึง ข้อความให้กำลังใจ ที่จะมอบให้กับไก่ดู


เช่น “อย่าเครียดเลย” “เชื่อสิว่าไก่ทำได้” “ไก่เก่งอยู่แล้ว” “ข้อสอบไม่ได้ยากขนาดนั้น” ฯลฯ 


ขณะที่ไก่มาระบายให้เราฟัง ไก่ต้องการกำลังใจหรือไม่ หากเรามั่นใจว่าไก่พูดเพื่อต้องการกำลังใจ เราสามารถให้กำลังใจได้ แต่หากไก่ไม่ได้ต้องการกำลังใจล่ะ ไก่แค่ต้องการบ่น ขอแค่มีคนฟัง และเข้าใจความทุกข์ของเขาหน่อย การให้กำลังใจจะได้ผลดีหรือไม่ คำตอบคือ “อาจจะ” ไม่เกิดผลดีก็ได้ เพราะการที่ไก่มาบ่นว่า “เครียดกับการสอบวันพรุ่งนี้จัง” หมายความว่า ไก่กำลัง “ไม่มั่นใจ” เลยเครียด ความไม่มั่นใจนั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุที่เขาไม่จำเป็นหรือเขายังไม่ได้บอกเรา แต่เรากลับบอกว่า


“อย่าเครียดเลย” > เอ๋า ก็ฉันกำลังเครียดอยู่ ถ้าไม่เครียดก็ไม่มาบ่นแล้วสิ

“เชื่อสิว่าไก่ทำได้” > ก็ฉันไม่มั่นใจไงว่าจะทำได้ มาเชื่อมั่นอะไรแทนฉัน

“ไก่เก่งอยู่แล้ว” > ถ้าฉันมั่นใจว่าฉันเก่ง ฉันคงไม่มานั่งเครียดอยู่ตอนนี้หรอก

“ข้อสอบไม่ได้ยากขนาดนั้น” > รู้ได้ไง เห็นข้อข้อสอบมาแล้วเหรอ


จะเห็นว่าผลลัพธ์ของการพยายามเชียร์อัพ ไม่ดีเลย ประเด็นสำคัญอยู่ที่ 1) เราไม่ได้แสดงออกว่าเราเข้าใจความรู้สึกของไก่ และ 2) การเชียร์อัพ ยังปฏิเสธความจริงของไก่ด้วย นั่นคือ ไก่กำลังไม่มั่นใจ แต่เรากลับพยายามให้กำลังใจด้วยการให้ไก่หลอกตัวเอง…


**********


จะเห็นว่า การรับรองความรู้สึก มีแก่นที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ “ควรสื่อสารตามที่เป็นจริง” เพราะผู้พูดรู้มักรู้แก่ใจหรือดูออกว่าความจริงคืออะไร


เชื่อว่าหากอ่านมาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจมีความเห็นแย้ง เช่น ก็มีนะ เพื่อนที่บ่น เพื่ออยากให้เราให้กำลังใจเขา แถมยังได้ผลดีด้วย ซึ่งไม่ผิด หากเรารู้จักนิสัยใจคอของคนที่เราสนทนาด้วยเป็นอย่างดี จนมั่นใจว่าแสดงออกอย่างนี้แหละถูกต้อง ขอให้ยึดตามความเป็นตัวตนของคู่สนทนาได้เลย


การรับรองความรู้สึก คล้ายกับ Empathy ประการหนึ่ง นั่นคือ เราจะเลือกต่อบทสนทนาได้อย่างถูกต้อง หรือให้ Empathy กับใครได้ง่ายขึ้น หากเรา “รู้จักคนๆ นั้น” มากพอ แต่หากเราต้องสนทนา หรือมอบ Empathy กับคนที่ยังไม่ได้รู้จักกันมากพอ เราอาจจะต้องเลือกทางที่ป้องกันความเสียหายไว้ก่อน นั่นคือ การรับรองความรู้สึก โดยต่อบทสนทนาจากสิ่งที่คู่สนทนาเป็นอยู่ตรงหน้า คือเขากำลังรู้สึกอะไร ก็สื่อสารไปบนพื้นฐานที่เขากำลังรู้สึกอยู่ตอนนั้นจริงๆ จะปลอดภัยที่สุด เพราะหากเราเลือกให้คำแนะนำ ก่อนที่ผู้พูดจะเปิดใจ ก็อาจเกิดความเสียหายขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างการสนทนาได้


บ่อยครั้งที่ครูพึ่งได้รู้จักกับนักเรียน ผู้ปกครอง ลองนำเทคนิคข้างต้นไปใช้ดูนะครับ :)


***********


ตอนที่ 3 จะมาพูดถึงขั้นตอนการ “รับรองความรู้สึก” และแก่นสำคัญประการอื่นๆ กันต่อ


หมายเหตุ : อ่านเรื่อง "การรับรองความรู้สึก" ได้ในหนังสือ "ฟังด้วยหู-ใจ: เปลี่ยนวิธีฟังเพียงนิด พิชิตทุกความสัมพันธ์" แปลจาก I Hear You: The Surprisingly Simple Skill Behind Extraordinary Relationships ของสำนักพิมพ์ Bookscape การยกตัวอย่างและอธิบายที่ปรากฎในบทความ เป็นการสรุปความรู้ของครูเปี๊ยกเองนะครับ




รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)