inskru
insKru Selected

Hand Signals : Self-Reflection

5
3
ภาพประกอบไอเดีย Hand Signals : Self-Reflection

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

หญิงมีโอกาสได้ดู "รายการดูให้รู้ (Dohiru) ตอน โรงเรียนประถมที่ 1 ในญี่ปุ่น" หญิงสนใจมากเป็นพิเศษในนาทีที่ 16.18 ของรายการนี้ เขาพูดถึงการตรวจสอบความเข้าใจเด็กด้วยการแสดงสัญลักษณ์มือ โดยเด็กจะแสดงสัญลักษณ์การสื่อสารกันในห้องเรียน สัญลักษณ์ที่บอกความคิดหรือความรู้สึกของเด็ก

           

หญิงสนใจนำมาปรับใช้ในห้องเรียนก็เลยไปหาค้นเพิ่มทำให้เจอกับ Levels of Understanding หรือระดับความเข้าใจ โดยการตรวจสอบความเข้าใจผ่านการสะท้อนคิดด้วยตนเองจะทำให้เกิด self-reflection และสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) ของเด็กด้วย เรียกว่าเป็น “การสะท้อนคิดนักเรียนด้วยสัญลักษณ์มือ”

 

การใช้สัญลักษณ์มือเป็นตัวแทน Levels of Understanding ช่วยให้เด็กรับรู้ถึงระดับความเข้าใจของตนเองในภาพที่ชัดเจนขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ตนเองทำให้เด็กมีบทบาทในการรับผิดชอบต่อการเรียนรู้มากขึ้น และครูเข้าใจว่าเด็กคิดอย่างไรเพิ่มขึ้นและช่วยให้เด็กไตร่ตรองการเรียนรู้ของเด็กด้วย

 

ขั้นตอน

เทคนิคนี้จะใช้เมื่อครูต้องการตรวจสอบความเข้าใจของเด็กในเนื้อหาที่สอน ด้วยการแสดงสัญลักษณ์มือ

จากรายการพบว่าในห้องเรียนของญี่ปุ่นจะมีการยกมือเพื่อแสดงสัญลักษณ์มืออยู่ 6 แบบ ดังนี้


1. ไม่เข้าใจ อยากรู้ ช่วยหน่อย (เด็กไม่เข้าใจ ต้องการความช่วยเหลือ)

2. เห็นด้วย (เด็กเห็นด้วย)

3. อยากจะเพิ่มเติม (เด็กต้องการให้ครูอธิบายเพิ่ม)

4. คิดเหมือนกัน (เด็กมีความคิดเหมือนกันกับครู)

5. มีคำตอบอื่น (เด็กมีคำตอบอื่นนอกเหนือจากที่ครูบอก)

6. มีความคิดของฉัน (เด็กมีความคิดเป็นของตัวเอง)

 


แต่หญิงได้นำเทคนิคดังกล่าวมาปรับใหม่เพื่อใช้กับบริบทห้องเรียนตัวเอง เวลาต้องการประเมินว่านักเรียนส่วนใหญ่มีเข้าใจในระดับใด สามารถสอนเนื้อหาถัดไปได้หรือยัง หรือช่วงท้ายคาบที่เวลาเหลือน้อยก็สามารถประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว


Hand Signals : Self-Reflection เริ่มจากอธิบายระดับความเข้าใจพร้อมกับสัญลักษณ์มือให้นักเรียนทราบอย่างละเอียด หลังจากนั้นให้นักเรียนยกมือเพื่อแสดงสัญลักษณ์มือว่านักเรียนมีเข้าใจในระดับใด โดยครูจะต้องสังเกตทั้งห้องเรียนให้ครบทุกคนและโน้ตลงบันทึกหลังการสอน เพื่อเสริมให้กับเด็กที่ยังไม่เข้าใจหรือต้องการฝึกเพิ่มเติมให้เข้าใจมากขึ้น


เทคนิคที่ปรับใหม่จะมีสัญลักษณ์มือทั้งหมด 4 แบบ ดังนี้

  • ชู 1 นิ้ว หมายถึง ฉันยังไม่เข้าใจและต้องการความช่วยเหลือ
  • ชู 2 นิ้ว หมายถึง ฉันเกือบจะเข้าใจและต้องฝึกเพิ่มอีกหน่อย
  • ชู 3 นิ้ว หมายถึง ฉันเข้าใจและฉันสามารถทำได้ด้วยตนเอง
  • ชู 4 นิ้ว หมายถึง ฉันเข้าใจและฉันสามารถสอนคนอื่นได้



✷ ตัวอย่างเมื่อนำไปใช้ในห้องเรียน ✷


ผลสะท้อนจากนักเรียน หรือ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

การตรวจสอบความเข้าใจของเด็กด้วยสัญลักษณ์มือ เป็นการวัดและประเมินผลนักเรียนผ่านการสะท้อนคิดของนักเรียนด้วยการวิเคราะห์ตนเอง ช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนเกิด self-reflection ทำให้ครูเห็นภาพรวมของเด็กๆ ในห้องเรียนว่าส่วนใหญ่เข้าใจหรือไม่​ มีใครเข้าใจหรือไม่เข้าใจบ้าง


นอกจากนี้บางสัญลักษณ์มือยังช่วยสะท้อนคิดความเห็นของนักเรียน โดยเฉพาะกับคนที่ไม่กล้าเข้ามาถามครูในส่วนที่ยังไม่เข้าใจหรือสงสัยจนถึงแสดงความคิดเห็น อีกทั้งการร่วมกันแสดงความเห็นด้วยสัญลักษณ์ในภาพรวมทั้งห้องเป็นการเพิ่มความกล้าแสดงความคิดเห็นและเสริมสร้างความมั่นใจให้เด็กๆ ของเราด้วยค่ะ


กรณีที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองคือ หญิงเคยสอนเนื้อหาเรื่องหนึ่งด้วยวิธีการสอนที่ได้ผลกับห้อง A แต่พอสอนห้อง B เสร็จปุ๊บ เราประเมินปั๊บ ปรากฏว่า “อ้าวเด็กชู 2 นิ้วเพียบบ” หลังจากนั้นหญิงพักการสอนเลยค่ะ ถามนักเรียนว่าไม่เข้าใจตรงไหน ยังไงบ้าง พอรู้ปัญหาปุ๊บ หญิงรีบกลับมาออกแบบการเรียนรู้ในคาบถัดไปใหม่เลย กรณีนี้ทำให้ครูเห็นมุมมองที่เพิ่มมากขึ้นและฝึกให้เราเป็นคนยืดหยุ่นในการจัดการเรียนรู้


​ ดังนั้น “Hand Signals : Self-Reflection” ถือเป็น Quick Formative Assessment ทำให้ประเมินผลเด็กได้อย่างกระชับ และทำให้ครูแก้ปัญหาได้ถูกจุด อีกทั้งยังสะท้อนการสอนของครูในแต่ละครั้งว่ามีสิ่งใดที่สามารถปรับได้อีกมั้ยเพื่อใช้พัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

 

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

อย่าลืมอธิบายระดับความเข้าใจต่างๆ ให้นักเรียนทราบก่อนนำไปใช้นะคะ และคุณครูท่านอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทห้องเรียนและธรรมชาติวิชาของตนเองได้เลยค่ะ เพิ่มเติมคือครูสามารถกำหนดสัญลักษณ์มือร่วมกับนักเรียนได้ด้วยเช่นกัน หญิงได้แนบไฟล์ Power Point สำหรับปรับแก้ไขไว้ให้แล้วค่าา ;)


#IdeaCollection2024


ไฟล์ที่แบ่งปัน

    การจัดการชั้นเรียนทบทวนบทเรียนการวัดและการประเมินผลทักษะการสื่อสารทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    5
    ได้แรงบันดาลใจ
    3
    ลงไอเดียอีกน้า~
    avatar-frame
    แบ่งปันโดย
    insYing

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ