inskru
gift-close
insKru Selected

เรียน-รู้+ดู-ทำ จากเวสสันดรชาดก

4
4
ภาพประกอบไอเดีย เรียน-รู้+ดู-ทำ จากเวสสันดรชาดก

หนึ่งในวรรณคดีที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะต้องเรียนก็คือ เรื่อง มหาชาติ หรือ มหาเวสสันดรชาดกนั้นเอง

ซึ่งเป็นการเรียนรู้เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ (ตอน) ในภาพรวม และมีตัวอย่างบางกัณฑ์ ยังไม่ได้ลงลึกอย่างชั้นอื่น ๆ ที่อาจจะได้เรียนกัณฑ์มัทรี เป็นต้น และแน่นอนว่าวรรณคดีเรื่องนี้ที่บรรจุในรายวิชาภาษาไทย ก็นำไปสู่การตั้งคำถามมากมายถึงการกระทำของพระพุทธเจ้าบ้าง เหตุผลการเลือกมาใช้ในรายวิชาบ้าง จะเห็นว่าวรรณคดีหนึ่งเรื่องก็พาเราไปได้ไกล และเชื่อมโยงกับประเด็นสังคมได้ด้วย ดังนั้นในภาคเรียนที่ผ่านมา ก็เลยใช้วิธีการบูรณาการวิชาภาษาไทย x พระพุทธศาสนา x ศิลปะ ค่ะ รวมถึงการใช้ชุมชน (วัด) เป็นฐานด้วย


สำหรับวรรณคดีเรื่องนี้ จะใช้เวลาเรียนประมาณ 4-5 คาบ นะคะ (คุณครูปรับ ยืดหยุ่นได้เลย)


ชั่วโมงแรก : สปอยล์ให้ฟัง

  • ให้นักเรียนได้เรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับวรรณกรรมชาดก / ทศชาติชาดก / เวสสันดรชาดก ทั้งในส่วนของเรื่องย่อ สำนวนการประพันธ์ที่พบในรูปแบบต่าง ๆ และเวสสันดรชาดกในศิลปะแบบต่าง ๆ เช่น ภาพพระบฎ จิตรกรรมฝาผนัง การเทศน์มหาชาติ แต่ครูลูกหยีจะเน้นที่จิตรกรรมฝาผนังแบบภาคกลาง และอีสาน ฮูปแต้ม และ บุญผะเหวดนะคะ เพราะจะเชื่อมโยงกับการลงพื้นที่ในชั่วโมงต่อไป (ซึ่งแน่นอนว่าในคาบแรกนักเรียนตั้งคำถามค่ะว่าทำไมพระพุทธเจ้าต้องเอาลูกตัวเองให้คนอื่นนั่นนี่ เราก็ตอบนักเรียนไปโดยไม่ปิดกั้นและเคาะว่าอะไรถูกผิดนะคะ นักเรียนวิพากษ์ วิเคราะห์ได้ แต่นักเรียนต้องมีเหตุและข้อมูลประกอบ ซึ่งนักเรียนจะต้องเรียนรู้ก่อน ก็โยงเข้าเนื้อหาค่ะ)



ชั่วโมงที่สอง : ลงพื้นที่

  • ชั่วโมงนี้ครูลูกหยีพานักเรียนไปวัดค่ะ โชคดีที่โรงเรียนอยู่ใกล้วัดสามารถเดินไปได้ (เด็ก ๆ ก็ดูตื่นเต้นนะคะ ถึงจะ แล้ว แค่ได้ออกไปเรียนนอกห้องก็สุขใจประมาณนั้นมั้งคะ 55555) ถึงแม้วัดไม่ใช่วัดเก่าที่มีฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนังอีสานแบบโบราณ ก็ไม่เป็นไรค่ะ ใช้จิตรกรรมสมัยใหม่ประกอบการบรรยายได้เลย ซึ่งทุกวัดมีแน่นอนค่ะ เราก็พานักเรียนไหว้พระก่อนเลย (อ่า...วิชาสังคมแล้ว 1 เนาะ) จากนั้นก็พาเดินดูภาพวาด ซึ่งวัดสมัยใหม่ก็จะเป็นสไตล์ลายไทย และ ประยุกต์จากสไตล์เหม เวชกร ตรงนี้ก็เป็นมุมมองทางศิลปะด้วย ก็เล่าเรื่องย่อปต่ละกัณฑ์ประกอบภาพไปค่ะ ก็ถามนักเรียนไปด้วยว่าแถวบ้านมีไหม? นักเรียนบอกว่ามี แต่ไม่เคยใส่ใจมาก่อนว่าเป็นภาพอะไร จากเรื่องอะไรค่ะ ครูก็ดีใจอยู่เหมือนกันที่คลาสนี้ให้มุมมองใหม่ๆ กับนักเรียนได้ และท้ายคาบก็ให้ใบงานนักเรียนไปศึกษาเพิ่มเติมหรือสรุปข้อมูลแต่ละกัณฑ์ค่ะ (ใบงานแปะไว้ให้แล้วนะคะ ดาวน์โหลดได้เลย)



ชั่วโมงที่สาม : ลงมือทำผ้าผะเหวด

  • เนื่องจากภาคอีสานจะมีบุญประเพณีที่เรียกว่า "บุญผะเหวด" เป็นการจำลองการเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง โดยมีองค์ประกอบคือผ้าที่มีการวาดภาพเรื่องราวของเวสสันดรชาดก ซึ่งชาวบ้านจะมีขบวนแห่ด้วย ก็เลยให้นักเรียนได้ทำผ้าผะเหวดแบบมินิค่ะ แบ่งกลุ่มแล้วเลือกวาดภาพระบายสีบนผ้าดิบกลุ่มละ 1 กัณฑ์ ซึ่งนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเวสสันดรชาดกในกัณฑ์ที่ตัวเองรับผิดชอบ เพราะต้องเสิร์ชว่ากัณฑ์ตัวเองมีรายละเอียดอะไร จะวาดอะไร ระหว่างที่นักเรียนวาดก็เห็นว่าบางกลุ่มคุยกัน เช่น "ต้องผสมสีอะไรนะ ถึงจะได้สีน้ำตาล?" ซึ่งกระบวนการนี้ก็ทำให้เขาได้ใช้ความรู้ด้านศิลปะมาใช้ด้วย และได้ลองลงมือทำและอนุรักษ์ประเพณีไปในตัว คาบนี้ติดคาบเที่ยง พอถึงเวลาพักครูปล่อยให้ไปทานข้าวอล้วค่อยทำต่อคาบว่าง ปรากฏว่าเพลินค่ะ บางกลุ่มนั่งทำต่อเลยทีเดียว แต่เนื่องจากไม่ใช่วิชาศิลปะ*เวลาน้อยก็เลยบอกนักเรียนว่า เน้นเสร็จไม่เน้นสวยเป๊ะ ขอให้ดูออกและมีเรื่องราวค่ะ^^


ชั่วโมงที่สี่ : จำลองประเพณี

  • จากคาบแรกที่ครูได้เคยชวนพูดคุยและบรรยายเกี่ยวกับประเพณีอีสานที่เกี่ยวกับเวสสันดรชาดก นอกจากจะได้ทำผ้าผะเหวดแล้ว ครูไม่ให้วาดเฉย ๆ ค่ะ คาบนี้เลยให้ทุกคนได้แต่งตัวและทำขบวนแห่ ซึ่งในคาบแรกครูได้เปิดภาพ และให้ดูองค์ประกอบขบวนแล้ว ปรากฏว่าทุกคนพร้อมมากค่ะ หาพร็อพ ใส่ชุด กำหนดกันว่าใครจะเป็นบทบาทไหน เป็นชาวบ้าน เป็นนางป้าย เป็นพระเวสสันดร เสร็จสรรพ จากนั้นก็เริมแห่ค่ะ (ทุกคนลงความเห็นว่าเสียดายตรงที่ลืมเตรียมลำโพงเปิดเพลง 5555) ก็กลายเป็นกระบวนการที่ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องราว เรียนรู้ประเพณี ซึ่งนักเรียนรุ่นนี้บอกว่าไม่เคยดูแห่ผะเหวดเลยทั้งที่มีเกือบทุกชุมชนค่ะ ตรงนี้ครูเองก็แปลกใจแต่เข้าใจได้ว่าคนละสมัยคนละบริบท และหวังว่าคาบนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกอยากจะกลับไปชมของจริง เราแห่กันจากอาคารเรียนไปโรงอาหาร ไม่ใช่ระยะทางที่ไกลมากแต่ทุกคนก็เอ็นจอยค่ะ


ชั่วโมงที่ห้า : สรุปคุณค่าวรรณคดี

  • หลังจากที่ได้เรียนรู้และลงมือทำครบถ้วนแล้ว ก็นำมาสู่การสรุปวรรณคดีและคุณค่าวรรณคดีนั่นเองค่ะ ในส่วนนี้นอกจากใช้สไลด์แล้ว คุณครูอาจจะใช้ Quizziz หรือการทบทวนความรู้แบบอื่น ๆ ได้เลยนะคะ


https://www.tiktok.com/@tiida8lunar/video/7309102127052262662?_r=1&_t=8m4Zk7bozHV

(คลิปบรรยากาศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ค่ะ)



หวังว่าไอเดียนี้จะเป็นไอเดียที่คุณครูจะได้นำไปปรับใช้ในห้องเรียนและท้องถิ่นของตัวเองต่อไป

ซึ่งเป็นไอเดียนี้จะเป็นที่นักเรียนจะได้ทั้งเรียน-รู้-ดู และลงมือทำแน่นอนค่ะ ^_______^


หมายเหตุ- ภาพและวิดีโอที่นำเสนอขออนุญาตนักเรียนเรียบร้อยแล้วนะคะ

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    ภาษาไทยสังคมศึกษาเทคโนโลยีการสอนเกมและกิจกรรมการจัดการชั้นเรียนวรรณคดีและวรรณกรรมภูมิปัญญาวัฒนธรรมศาสนา ศีลธรรม จริยธรรมการเขียนการอ่านGrowthMindset

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    4
    ได้แรงบันดาลใจ
    4
    ลงไอเดียอีกน้า~
    avatar-frame
    แบ่งปันโดย
    insธิดารัตน์ สีหะเกรียงไกร
    อาจไม่ใช่ครูที่ดีที่สุด แต่จะพยายามเป็นครู ที่ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
    credit idea

    ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ