📢ความท้าทายของการเป็นครูนอกจากดูแลนักเรียนแล้ว
ที่เจอบ่อย ๆ ก็คงเป็นการพูดคุยกับผู้ปกครอง
บางบ้านก็ดูคุยด้วยกันได้สบายใจดี สื่อสารกันอย่างเข้าใจ
ในขณะที่บางบ้านก็อาจมีกำเเพงที่ตั้งตระหง่านขึ้นมา
ก่อนที่เราจะได้เอ่ยปากพูดคุยตั้งเเต่แรกเลย
วันนี้ insKru และ ChildImpact ขอเปิดประตูมิติ
ชวนคุณครูทบทวนพร้อมหาวิธีการดี ๆ ที่จะช่วยให้
การสื่อสารกับผู้ปกครองเป็นไปได้โดยง่าย สบายใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
รวมถึงเกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการเรียนรู้ และสุขภาวะที่ดี
ทั้งที่โรงเรียน และที่บ้านไปด้วยกัน !
🤔ถ้าถามว่าทำไมการสื่อสารกับครอบครัวของนักเรียน
ถึงเป็นเรื่องสำคัญ ก็เพราะการดูแลการเรียนรู้
และสุขภาวะต่าง ๆ ของเด็ก
ไม่ได้จบเพียงแค่ก้าวออกไปจากรั้วโรงเรียน
แต่ต้องไปทำการดูแลกันต่อที่บ้านด้วย
คุณครูอย่างเราก็คงเคยสงสัยว่าเราจะมีบทบาท
อะไรมากไปกว่าการสั่งสอนดูแลในห้องเรียนได้บ้างมั้ย
เราลองไปมองดูนักเรียนเมื่ออยู่กับครอบครัวดูดีกว่า
🏡ในแต่ละบ้านจะเห็นได้เลยว่า ไม่มีบ้านไหนเลยที่เหมือนกัน
บางบ้านอาจมีความเป็นห่วงเป็นใยและดูแลนักเรียนมาก
ในขณะที่บางบ้านก็มีความเข้มข้นตรงนี้น้อยกว่า
จึงจะเห็นได้ว่าการดูแลที่บ้านจึงมีส่วนอย่างมาก
ที่จะทำให้การสอนในห้องเรียนของเราเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ซึ่งตรงนี้จะเปลี่ยนไปได้ ก็ด้วยการพูดคุยด้วยความเข้าใจกัน
ของทั้งครู ผู้ปกครอง และนักเรียนนั่นเอง
💥เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่บอกไป หลายครั้งที่เราตั้งใจจะเริ่ม
พูดคุยกับครอบครัวของนักเรียนเพื่อช่วยกันปรับแวดล้อมให้กับนักเรียน
เราก็มักปะทะกับกำแพงสูงลิ่วของผู้ปกครอง
จนเหมือนเราเป็นยักษ์ หรือตัวอะไรที่น่ากลัวเลย
นั่นก็เพราะผู้ปกครองหลาย ๆ คนเข้าใจไปว่า
มีโทรศัพท์จากโรงเรียนเมื่อไหร่ ลูกฉันกำลังแย่แน่ ๆ
ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติจะติดต่อโทรมาทำไม
กำแพงที่เกิดขึ้นตรงนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่
ผู้ปกครองใช้ เพื่อรับมือกับความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้นกับลูกของตัวเอง
ซึ่งต้องบอกว่า เป็นเรื่องปกติมาก ๆ คุณครูสบายใจได้เลย
แต่ในฐานะครูอย่างเรา เราควรทลายกำแพงการสื่อสารนี้
ออกก่อนจะสายเกินไป แล้วหันหน้าเข้ามาทำงานร่วมกันกับ
ผู้ปกครองจะเป็นการดีที่สุด
🛠️โดยเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการแนะนำ ให้ครูพูดคุยกับผู้ปกครอง
ได้อย่างเปิดใจ และส่งต่อให้ผู้ปกครองไปใช้กับลูกหลานของตนเอง
ต่อไปเพื่อสร้างแวดล้อมที่ดีขึ้นมาได้ ที่เราอยากมาแนะนำวันนี้ มีชื่อว่า PERMA
โดย PERMA นั้น แต่ละตัวอักษรมีความหมายดังนี้
P-Positive Emotion
ทำให้ได้รับรู้อารมณ์ที่อยู่ในกลุ่มความรู้สึกเชิงบวก
ซึ่งไม่ได้มีแค่ความรู้สึกดีใจ เฮฮา สนุกสนานเท่านั้น
แต่ยังมีความปลาบปลื้มใจ เป็นที่รัก สงบ อีกด้วย
E-Engagement ความรู้สึกมีส่วนร่วม
จดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองทำ และไขว่คว้าที่จะทำด้วยตัวเองได้
เช่น การทำงานบ้าน ทำโจทย์ ที่ท้าทายความสามารถ
ไม่รู้สึกว่าง่ายไปน่าเบื่อ แต่ไม่ยากเกินไปจนเขาถอดใจไป
R-Relationship หรือการตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่ดี
ที่นักเรียนรู้สึกกับตัวครูหรือผู้ปกครอง ให้นักเรียนรู้ว่า
เราพยายามทำความเข้าใจในตัวเขา หรือทำให้ว่าเรายังอยู่ใกล้ ๆ
คอยเอาใจใส่เขาอยู่นะ อาจเป็นความรู้สึกดีง่าย ๆ ในแต่ละวัน
ที่เราสามารถย้ำเตือนบอกเขาก็ได้ เช่น การชื่นชมโดยการสังเกต
“เธอมีน้ำใจกับเพื่อนจัง ให้เพื่อนยืมดินสอด้วย” เท่านี้ก็ได้แล้ว
M-Meaning การที่นักเรียนรู้ถึงเป้าหมายในชีวิต
ความตั้งใจที่อยากเป็น เช่น ตั้งใจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย
คณะนี้นะ ชีวิตตอนนี้เขาอยากเป็นนักดนตรีนะ
เมื่อภาพเป้าหมายเกิดขึ้นแล้วเราก็สามารถส่งเสริมสิ่งนี้ได้อย่างเต็มที่
A-Accomplishment ความสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
จะเล็กน้อยก็ได้ เน้นไปที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์
สิ่งนี้ก็จะทำให้รู้สึกได้ว่า ความพยายามในทุกวันก็มีค่าไม่แพ้กัน
💫พอได้รู้จักหลักการ PERMA แล้ว เราอาจจะยังสงสัยอยู่
ว่าเราจะทำให้สิ่งนี้ ผู้ปกครองเห็นภาพ แล้วนำไปใช้ต่อไป
ในบ้านได้ยังไงบ้าง เรามีตัวอย่างที่ ผอตั๊ก จากโรงเรียน
วัดปางพิงตะวันตก โรงเรียนภาคีในเครือข่าย Childimpact
ทดลองทำร่วมกับผู้ปกครอง เกิดเป็นประสบการณ์ตรงให้ได้ซึมซับ
โดยครอบคลุม PERMA ในด้าน P-Positive Emotion
การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก
และ R-Relationship
การตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่ดี
🧠ในวันประชุมผู้ปกครอง ผอตั๊ก ได้เลือกใช้เวลา
ครึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มประชุม อัพเดทข่าวสารนักเรียน
เป็นการจัดเวิร์กช็อปชวนให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้
เท่าทันอารมณ์ตนเอง และนักเรียน
ประกอบกับการสื่อสารให้ลูกหลาน
จนสามารถเกิดบรรยากาศที่ดีที่บ้านต่อได้
โดย ผอตั๊ก ได้เลือกมอบหมายให้คุณครูประจำชั้น
รับผิดชอบกิจกรรมนี้ให้ตอบกับผู้ปกครอง
ที่มีอาชีพรับจ้าง หรือทำการเกษตร
ให้มุ่งเน้นที่การทำกิจกรรม และใช้เครื่องมือ
ซึ่งเข้าใจได้ง่าย นำไปใช้ได้เลย
ไม่ต้องอธิบายทางวิชาการมากมายอะไร
ในตอนนี้ได้มีการจัดกิจกรรมภาคเรียนละครั้ง
และมีเป้าหมายพยายามจะจัดให้ได้ 2 เดือนครั้ง
เพื่อเป็นประโยชน์กับการทบทวน และนำไปใช้ที่บ้านให้มากที่สุด
🥰กิจกรรมที่จัดขึ้นเริ่มต้นจากคำถามที่ใช้เช็กใจง่าย ๆ
เหมือนที่นักเรียนเคยทำในชั้นเรียน
ชวนให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้อารมณ์เชิงบวก
และรับรู้อารมณ์ของตัวเองก่อนว่าเป็นยังไง
โดยแทนอารมณ์ตัวเองออกมาเป็นสี และระบายออกมา
เมื่อผู้ปกครองได้ลองรับรู้ และแบ่งรูปแบบ
ของอารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะเป็นการถามต่อ
เพื่อให้ผู้ปกครองได้สำรวจอารมณ์ในขณะปัจจุบัน
ว่าตัวเองนั้นรู้สึกเช่นไร บางคนก็บอกว่า
รู้สึกกังวล ในขณะที่บางคนก็บอกว่า
รู้สึกดีที่ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ
💬เมื่อได้เรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองแล้ว ขั้นต่อไป
ก็จะเป็นการชวนผู้ปกครองให้ได้รู้จักกับเทคนิค
“I Message” เพื่อสื่อสารความต้องการที่อยู่เบื้องหลัง
มากกว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า
ผอตั๊ก ได้เล่าให้ฟังว่า ในเวิร์กช็อปที่จัดขึ้น
ไม่ได้ใช้วิธีสอนกับผู้ปกครองเลย
แต่ใช้การจำลองสถานการณ์
ให้เห็นถึงรูปแบบวิธีพูดที่แตกต่างกันได้
เพราะผู้ปกครองจะเปิดใจรับกระบวนการนี้ได้มากกว่า
ตัวอย่างสถานการณ์ก็เช่น
หากเจอเหตุการณ์ที่นักเรียนดื้อ นอนดิ้นอยู่ที่พื้นขึ้นมา
จากเดิมที่จะดุด่า เราก็สามารถเปลี่ยนเป็น
การสังเกตความรู้สึกของตัวเองก่อน และสื่อสารออกมาเลยว่า
แม่กำลังโกรธอยู่นะ แม่ไม่โอเคเลย
พร้อมกับพูดต่อว่า อยากดุหนูมาก เพราะแม่ไม่อยากให้คนอื่นมองหนูไม่ดีนะ
เมื่อได้เรียนรู้การปรับวิธีการในการสื่อสาร
ก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์นั้นยังดีต่อกันได้
โดยไม่ต้องดุ ไม่ต้องว่าต่อกัน
ให้ความสัมพันธ์ของนักเรียนและผู้ปกครอง
ถูกสะบั้นหั่นออกนั่นเอง
🪞กิจกรรมทั้งหมดนี้ เน้นไปที่การรีเฟลกต์
สะท้อนบทเรียนของผู้ปกครองเองที่อยากปรับ
โดยที่ทางโรงเรียนเราไม่ต้องไปทักเขาเลย
เพียงเล่าสถานการณ์ให้เป็นโจทย์
ผู้ปกครองจะสามารถเชื่อมโยงกับการกระทำ
ของตัวเองได้เองเลย สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปิด
พื้นที่ให้ได้เล่า มีเวลาในการค่อย ๆ ทบทวน
รีเฟลกต์สะท้อนผลไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ผอ ยังเพิ่มเติมด้วยว่า
“เพียงเริ่มต้นโดยการไม่ตี ไม่ดุด่า สื่อสารกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ
ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็จะดีขึ้น แล้วพฤติกรรมนักเรียนก็จะดีขึ้นด้วย
มุมมองและเครื่องมือที่ ผอตั๊ก พยายามเสนอในกิจกรรมนี้
ช่วยให้ผู้ปกครอง และนักเรียน ได้เปลี่ยนแนวความคิด
เกิดเป็นความพยายามในการสร้างแวดล้อมที่ดี
ตั้งแต่ที่บ้าน และช่วยให้การทำงานของคุณครู
ในห้องเรียนเป็นไปได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
💗เราได้เห็นแล้วว่าการเริ่มพูดคุยของเรากับผู้ปกครอง
รวมถึงการทำให้แวดล้อมดีตั้งแต่ที่บ้านนั้น
ทำให้การพัฒนาตัวนักเรียน เป็นไปได้อย่างครบวงจร
ซึ่งช่วยให้การทำงานของครูอย่างเราเป็นไปได้ง่ายขึ้น
หากสนใจคุณครูสามารถเรียนรู้เครื่องมือ PERMA
ของ Child Impact เพิ่มเติมได้ที่ https://bitly/ChildImpact-PERMA
🌟เราได้เห็นถึงประโยชน์ของการสื่อสาร
และทำงานร่วมกันขนาดนี้แล้ว
ขอชวนให้คุณครูและผู้ปกครองมาร่วมกันทำเท่าที่ทำได้
ให้แวดล้อมทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านเปลี่ยนไป
ให้สุขภาวะ และสุขภาพจิตของนักเรียนดีขึ้น
โดยไม่หักโหมเกินไปจนละเลยสุขภาวะ และสุขภาพจิตของตัวเอง
insKru และ Child Impact เป็นกำลังใจให้น้า
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!