inskru
insKru Selected
เพื่อนคู่คิด มิตรคู่นักเรียน 2024

ตรงใจแต่ไม่ตรงมาตรา มาตามล่าหาสมบัติหรรษา มาตราตัวสะกดกันนนน

10
7
ภาพประกอบไอเดีย ตรงใจแต่ไม่ตรงมาตรา มาตามล่าหาสมบัติหรรษา มาตราตัวสะกดกันนนน

นักเรียนชอบเล่น ชอบคุยกัน ไม่ค่อยนั่งฟังครูเลย ทำไงดี??

วันนี้ขอนำเสนอออออ การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานนนนนนนนนนนนนน

โดยรูปแบบการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน หรือ Creativity-Based Learning เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยมีผู้เรียนเป็นสำคัญ โครงสร้างหลักของการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐานพัฒนามาจากโครงสร้างการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) และแนวทางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แบบความคิดแนวขนาน (Parallel Thinking) ของ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดที่แปลกใหม่หลากหลายโดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือการจัดสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เหมาะสมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกกระตือรือร้น อยากรู้ อยากเห็น อยากแสวงหาความรู้ด้วยตนเองรวมไปถึงการที่ให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนไม่กลัวที่จะซักถามและกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น

การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานของ วิริยะ ฤๅชัยพาณิชย์ (2558) ได้กำหนดขั้นตอนไว้

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นความสนใจ เป็นขั้นที่ผู้สอนกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน โดยใช้สื่อมัลติมีเดียรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ข้อความ กราฟิก เสียง ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เกม และวีดิทัศน์ที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน เพื่อกระตุ้นความคิดของผู้เรียนให้เกิดความอยากเรียนอยากรู้อยากค้นหาคำตอบ

ขั้นตอนที่ 2 ตั้งปัญหาตามความสนใจ เป็นขั้นที่ผู้เรียนช่วยกันตั้งปัญหาที่ตนเองสงสัยจากสื่อมัลติมีเดียที่ผู้สอนนำเสนอ เมื่อผู้เรียนพบปัญหาที่สงสัยแล้วจึงทำการตั้งปัญหาตามความสนใจเพื่อให้บรรลุตัวชี้วัด ผู้สอนควรตั้งปัญหาเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นในสิ่งที่เป็นตามตัวชี้วัด

ขั้นตอนที่ 3 ค้นคว้าและคิด เป็นขั้นที่ผู้เรียนแบ่งกลุ่ม จากนั้นให้นักเรียนในแต่ละกลุ่มช่วยกันค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยผู้สอนจะเดินตามกลุ่มเพื่อให้คำปรึกษา เวลาที่ผู้เรียนมีปัญหาและเกิดข้อสงสัย

ขั้นตอนที่ 4 นำเสนอผลงาน เป็นขั้นที่นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานต่อชั้นเรียนโดยมีการวิเคราะห์วิจารณ์ในรูปการแข่งขัน หรือนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย

ขั้นตอนที่ 5 ประเมินผล เป็นขั้นที่ผู้เรียนประเมินผลการเรียนรู้ โดยประเมินจากการลงมือปฏิบัติกิจกรรม หรือการทำแบบทดสอบความสามารถด้านการคิดสร้างสรรค์  


กล่าวคือ เด็กชอบเล่น ชอบเคลื่อนไหว ชอบคุยกันก็จัดให้เลยย โดยครูเองได้นำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องมาตราตัวสะกด 2 คาบดังนี้

กระบวนการจัดการเรียนรู้ คาบที่ 1 ตามล่าหาสมบัติ (คาบนี้สอนเรื่องมาตราตัวสะกดที่ตรงตามมาตรา ปล.ครูเปิดเพลงตีมโจรสลัดคลอไปด้วยสร้างบรรยากาศ เด็ก ๆ ชอบและอินมาก)

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นความสนใจ

ครูต้องสวมจิตวิญญาณนักแสดง มาในคาบโจรสลัดผู้ยิ่งใหญ่ มามอบหมายให้เหล่านักผจญภัยซึ่งก็คือนักเรียนร่วมกิจกรรมตามล่ามหาสมบัติโดยมีรายละเอียดดังนี้

 โดยมีกติกาดังนี้

1.1) ให้นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่ม (คละเก่งกลางอ่อน) นักเรียนร่วมกิจกรรมแข่งกันแย่งชิงสมบัติที่ครูเตรียมไว้ โดยการแย่งชิงสมบัตินั้น ครูจะใช้หน้าห้องและหลังห้องจัดกิจกรรมโดยบริเวณหน้าห้องจะใช้เป็นจุดวางสมบัติ และหลังห้องเป็นจุดเตรียมตัวของแต่ละทีม

1.2) นักเรียนร่วมกิจกรรมแข่งกันแย่งชิงสมบัติที่ครู เตรียมไว้ โดยการแย่งชิงสมบัตินั้น ครูจะใช้หน้าห้องและหลังห้องจัดกิจกรรมโดยบริเวณหน้าห้องจะใช้เป็นจุดวางสมบัติ และหลังห้องเป็นจุดเตรียมตัวของแต่ละทีม

1.3) ในแต่ละรอบให้ส่งตัวแทนของแต่ละกลุ่มออกมาชิงสมบัติโดยเมื่อตัวแทนคนแรกหยิบได้แล้วให้วิ่งกลับไปที่จุดเตรียมตัว ทำการแปะมือเพื่อนคนถัดไปเพื่อสลับให้เพื่อนออกมาหยิบสมบัติ ทำตามลำดับนี้จนหมดเวลาที่กำหนดหรือตามความเหมาะสมของครู       

1.4) นักเรียนรวบรวมและจับกลุ่มคำศัพท์ที่ได้โดยที่ครูจะไม่บอกว่าการจับกลุ่มดังกล่าวคืออะไร จากนั้นให้อธิบายว่าว่าคำศัพท์แต่ละคำที่ได้นั้นอยู่ในกลุ่มใด มีลักษณะอย่างไร และใช้เหตุผลใดในการจำแนกคำศัพท์ออกเป็นกลุ่มดังกล่าว

1.5) กลุ่มใดที่สามารถรวบรวมคำศัพท์ และจับกลุ่มคำศัพท์ตามประเด็นที่ครูตั้งให้ครบถ้วนและรวดเร็วที่สุดจะได้รับคะแนนพิเศษเพิ่ม ๓ คะแนน


ขั้นตอนที่ 2 ตั้งปัญหาตามความสนใจและขั้นตอนที่ 3 ค้นคว้าและคิด

นักเรียนรวบรวมและจับกลุ่มคำศัพท์ที่ได้โดยที่ครูจะไม่บอกว่าการจับกลุ่มดังกล่าวคืออะไร จากนั้นให้อธิบายว่าว่าคำศัพท์แต่ละคำที่ได้นั้นอยู่ในกลุ่มใด มีลักษณะอย่างไร และใช้เหตุผลใดในการจำแนกคำศัพท์ออกเป็นกลุ่มดังกล่าว โดยสามารถตั้งคำถามมาถามครูได้กลุ่มละ ๒ ข้อหรือสามารถเปิดหนังสือเรียนเพื่อหาหลักการในการแยกข้อมูลได้

ขั้นตอนที่ 4 นำเสนอผลงาน

ตัวแทนกลุ่มแต่ละกลุ่ม ออกมานำเสนอคำศัพท์ที่หาได้ พร้อมอ่านออกเสียงหน้าชั้นเรียน และร่วมกันอภิปรายถึงข้อสังเกตโดยครูใช้คำถามว่า “นักเรียนใช้วิธีใดในการแยก หรือมีข้อสังเกตตรงไหนในการจัดกลุ่มคำดังกล่าวว่านั้นเหมือนหรือแตกต่างกัน” แนวคำตอบ : จากการอ่านออกกเสียง, สังเกตจากสระและตัวสะกด, เป็นคำที่มีตัวสะกดเหมือนกัน จากนั้นนักเรียนและครูร่วมกันสรุปแนวคิดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตราตัวสะกด ผ่านสื่อการจัดการเรียนรู้เรื่อง มาตราตัวสะกด

ขั้นตอนที่ 5 ประเมินผล

1. นักเรียนร่วมกันอ่านออกเสียงคำที่มีตัวสะกดเพื่อเป็นการทบทวนและตรวจทานความเข้าใจ 

2. นักเรียนทำแบบฝึกหัดภาษาไทยเรื่องมาตราตัวสะกด


กระบวนการจัดการเรียนรู้ คาบที่ 2 ตามล่ามหาสมบัติภาค 2 (คาบนี้เรียนต่อเนื่องจากคาบก่อนหน้าเรื่องมาตราตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา ซึ่งนักเรียนเรียกร้องอยากเล่นหาสมบัติอีกครูผู้ใจดีอย่างเราก็จัดให้)

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นความสนใจ

มารอบนี้ครูพาเด็ก ๆ หาสมบัติโดย สมบัติเป็นบัตรคำที่เอาไปซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ ในห้องเรียน และไม่ลืมที่จะเปิดเพลงตีมโจรสลัด โดยเมื่อกติกาเหมือนเดิมคือ

  1. แบ่งทีมออกสำรวจหาสมบัติ จำนวนเท่า ๆ กันระยะเวลาขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของครู
  2. เมื่อหาสมบัติได้แล้ว ให้นำสมบัติมาแบ่งเป็นกอง ๆ (นำคำศัพท์มาจัดหมวดหมู่) รอบนี้ครูใบ้ให้ว่ามีทั้งหมด 4 กอง (แบ่งตามตัวสะกดไม่ตรงมาตรา)


ขั้นตอนที่ 2 ตั้งปัญหาตามความสนใจและขั้นตอนที่ 3 ค้นคว้าและคิด

หลังจากเด็ก ๆ หาครบแล้ว ครูแจกกระดาษให้นักเรียนรวบรวมและจับกลุ่มคำศัพท์ที่ได้โดยที่ครูจะใบ้ให้แค่ว่ามีการจัดกลุ่ม 4 กลุ่ม จากนั้นให้นักเรียนหาเหตุผลมาอธิบายเองว่าคำศัพท์แต่ละคำที่ได้นั้นอยู่ในกลุ่มใด มีลักษณะอย่างไร และใช้เหตุผลใดในการจำแนกคำศัพท์ออกเป็น ๔ กลุ่มตามที่ครูกำหนด โดยสามารถตั้งคำถามมาถามครูได้กลุ่มละ 2 ข้อหรือสามารถเปิดหนังสือเรียนเพื่อหาหลักการในการแยกข้อมูลได้

(ซึ่งส่วนนี้ครูคอยสังเกตอยู่ใกล้ ๆ และจะพบว่าเด็ก ๆ สามารถจัดการภารกิจและหน้าที่ของตนเองได้ ถึงแม้ช่วงแรกจะงง ๆ หน้าที่กันอยู่ แต่เด็ก ๆ ก็แบ่งหน้าที่กันคนนึงคอยแยกคำ อีกคนหามาตรา อีกคนคอยเรียงและเขียน ซึ่งแต่ละหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเด็ก ๆ ก็ทไออกมาได้อย่างเต็มที่และตั้งใจ //ครูอย่างเราเห็นแล้วก็ตื้นตันใจอยากพาเล่นวันละสิบรอบ)

ขั้นตอนที่ 4 นำเสนอผลงาน

1,. ตัวแทนกลุ่มแต่ละกลุ่ม ออกมานำเสนอคำศัพท์ที่หาได้ พร้อมอ่านออกเสียงหน้าชั้นเรียน พร้อมทั้งร่วมกันอภิปรายถึงข้อสังเกตโดยครูใช้คำถามว่า “นักเรียนใช้วิธีใดในการแยก หรือมีข้อสังเกตตรงไหนในการจัดกลุ่มคำดังกล่าวว่านั้นเหมือนหรือแตกต่างกัน” แนวคำตอบ : แบ่งจากตัวสะกด, เป็นคำที่มีตัวสะกดมาตราเหมือนกัน, สังเกตจากตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา

2.นักเรียนและครูร่วมกันสรุปแนวคิดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตราตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ผ่านสื่อการจัดการเรียนรู้เรื่อง มาตราตัวสะกดไม่ตรงมาตรา (ขอแอบสอนหน่อยอิอิ)

ขั้นตอนที่ 5 ประเมินผล

ครูประเมินผลโดยใช้การสอบถาม การสังเกตและการแจกใบงานโดย

1. นักเรียนร่วมกันอ่านออกเสียงคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตราเพื่อเป็นการทบทวนและตรวจทานความเข้าใจ

2.. ครูใช้คำถามให้นักเรียนได้กระตุ้นความคิดตามประเด็นต่อไปนี้

                  1.1) วันนี้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง

                  (แนวคำตอบ: มาตราตัวสะกด, ได้เรียนรู้มีที่ตัวสะกดไม่ตรงมาตรา, คำที่มีตัวสะกดไม่เหมือนกันแต่เสียงตัวสะกดเดียวกัน)

                  1.2) นักเรียนคิดว่าถ้าในภาษาไทยไม่มีมาตราตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตราจะเกิดอะไรขึ้น

                  (แนวคำตอบ: คำในภาษาไทยจะน้อยลง / อาจไม่มีคำใช้สื่อความหมายได้ตรงความต้องการ)

3. นักเรียนทำแบบฝึกหัดภาษาไทยเรื่องตัวสะกดไม่ตรงมาตรา


ปล.ใด ๆ แล้วครูอย่าลืมว่าทุกความคิดเห็น ทุกการตอบของนักเรียนมีคุณค่า เราควรใส่ใจและตั้งใจฟังเขาเมื่อเขายังกล้าพูดอยู่

ปล.2 หากมีข้อผิดพลาดประการใดคุณครูขออภัยมา ณ ที่นี้ ทุก ๆ ท่านสามารถให้ข้อแนะนำ คำติชมเข้ามาได้เพื่อเป็นข้อในการนำไปปรับปรุงและพัฒนาในอนาคตครับ

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

10
ได้แรงบันดาลใจ
7
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
KruFame Supanut
คุณครูประถมนี่มันนนนนนนนนนนนนนนน

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ