inskru
gift-close

3 วิธีการสอน ต้อนรับวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน

2
2
ภาพประกอบไอเดีย 3 วิธีการสอน ต้อนรับวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน

🌳ไส้กรอก , เมือง, คนจน

เรากำลัง(จะ)สอนเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยมุมมองแบบไหน ? 

ไม่ว่าการสอนเรื่องอะไรก็ตาม เรามักจะใช้มุมมองใดแบบหนึ่งในการออกแบบบทเรียนเสมอ เช่นเดียวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ครูแต่คนละก็ต่างมีมุมมองที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น การนิยามความหมายของสิ่งแวดล้อม ความเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราและคน/สิ่งอื่น และวิธีการการมองและวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในข้อเขียนนี้ทาง Inskru จึงอยากนำเสนอ 3 แนวทาง (ที่อาจใช้ร่วมกันได้) ให้เป็นไอเดียสำหรับครูในการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมจากมุมมองการศึกษาวิพากษ์ (critical pedagogy) ได้นำไปปรับใช้หรือต่อยอดในบทเรียนที่กำลังมาถึง

1.ไส้กรอก

มองสิ่งเล็กๆเชื่อมโยงไปสู่สิ่งใหญ่ๆ

ในบทความจาก The Momentum “กิน ‘ไส้กรอก’ สะเทือนถึง ‘ฝุ่นควัน’ ปัญหา PM2.5 ที่รัฐไทยแก้ไม่ตก แต่เกษตรกรต้องกลายเป็นแพะรับบาป” เป็นบทความหนึ่งที่ชวนเรามองเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเชื่อมโยงและเชิงลึก นึกง่ายๆเลยเวลาเกิดปัญหา ‘ฝุ่นควัน’ คนจำนวนไม่น้อยมักจะมองหาว่าใครเป็นคนเผา โดยเชื่อว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ให้เกิดหมอกควันขึ้นมา แต่บทความนี้บอกกับเราว่า การวิเคราะห์ถึงสาเหตุผลต้องมองให้ลึกและเชื่อมโยงกัน มองแบบง่ายๆไม่ได้ หนึ่งในมุมมองคือ การชวนเรากลับมาบอกว่า ไส้กรอก หรือผลิตภัณฑ์แบบรูปสัตว์ มันเกี่ยวข้องกับสาเหตุหมอกควันได้อย่างไร คำตอบหนึ่งก็คือ การที่อุตสาหกรรมแปรรูป มีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก พื้นที่ในหลายแห่งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านจึงกลายเป็นไร่ข้าวโพด เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล การเผาจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ลดต้นทุนของเกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา ท้ายที่สุด ก็ก่อให้เกิดหมอกควันตามมา ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็บทความนี้ แต่สิ่งสำคัญ ผู้เขียนชวนให้เราในฐานะผู้สอน ไม่ด่วนมองสาเหตุปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบผิวๆ แต่ต้องมันให้ลึกลงไปถึงภูเขาใต้น้ำแข็ง เช่น ทำไมเกษตรกรต้องเผาไร่ข้าวโพด เขาอยู่ในเงื่อนไขอย่างไร สาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นแท้จริงใครเกี่ยวข้องบ้าง เกี่ยวข้องกันอย่างไร เป็นต้น ในบทความนี้ จึงเป็นความเป็นไปได้แบบหนึ่ง ที่ครูอาจจะเปิดภาพไส้กรอก ที่เราทุกคนกินกันอยู่ทุกวัน มาสู่คำถามที่กว้างออกไปถึงการสืบเสาะถึงสาเหตุปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง 

แนะนำบทความ+ สื่อที่สามารถใช้ประกอบการสอน + ตัวอย่างบทเรียน
🔗กิน ‘ไส้กรอก’ สะเทือนถึง ‘ฝุ่นควัน’ ปัญหา PM2.5 ที่รัฐไทยแก้ไม่ตก แต่เกษตรกรต้องกลายเป็นแพะรับบาป”
🔗คนไทยกินป่าเป็นอาหาร
🔗Map ความสัมพันธ์ วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม


2. เมือง

สิ่งแวดล้อม อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องต้นไม้ ภูเขา เสมอไป 

เมื่อนึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจนึกไปถึงพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ อันที่จริงเวลาพูดถึงสิ่งแวดล้อมด้วยนิยามที่ต่างออกไป มันอาจหมายถึงสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา ที่มันเป็นส่วนหนึ่งหรือมีอิทธิพลกับเรา ดังนั้น สิ่งแวดล้อมในเมือง ก็สามารถเป็นหัวข้อที่ครูจะนำมาสู่การพูดคุยกับนักเรียนได้ ในเว็บไซต์อย่าง ‘theurbanis’ ได้รวบรวมบทความเกี่ยวกับทีน่าสนใจเกี่ยวกับเมืองไว้หลากหลายแง่มุม ที่ทำให้ผู้อ่านกลับไปสนใจและตั้งคำถามกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวๆ เช่น การออกแบบผังเมืองมีผลต่อการเข้าถึงสาธารณูปโภค ? การกระจายตัว ทางเท้าในเมืองจะช่วยลดค่าใช้จ่ายประจำวันอย่างไร ? จำนวนสาธารณูปโภคที่เอื้อให้กับการเรียนรู้ของเด็กมีมากน้อยเพียงใด (เช่น ร้านหนังสือ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์) หรือแม้กระทั่ง ความโสดกับการออกแบบเมืองเกี่ยวข้องกันอย่างไร ในบทความ ‘เมืองพาโสด: เมื่อคุณไม่ได้อยู่ในโหมดที่จะเจอคนที่ใช่’ ผู้เขียนได้อธิบายว่า การออกแบบที่ไม่เอื้อให้คนปฏิสัมพันธ์กัน เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลการโสด เช่น ความเหนื่อยล้าในระยะทางที่จะมาเจอกัน พื้นที่ที่ให้ได้พบเจอที่มีอยู่จำกัด เป็นต้น มุมมองจาก ‘theurbanis’ สิ่งแวดล้อมในเมืองล้วนเกี่ยวพันกับพฤติกรรมและส่งต่อการใช้ชีวิตผู้คนในเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่แน่ว่า หากเราต้องสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหรือในบทเรียนที่กำลังจะมาถึง การพานักเรียนออกไปสำรวจสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเมืองหรือชุมชนที่เขาอยู่ ก็อาจกลายเป็นบทเรียนที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ที่จะเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และกล้าคิดที่จะการออกแบบสิ่งแวดล้อมในเมืองเพื่อคนทุกคน

แนะนำบทความ+ สื่อที่สามารถใช้ประกอบการสอน + ตัวอย่างบทเรียน
🔗เมือง เด็ก และพื้นที่นอกบ้าน
🔗จริงหรือ? ถ้าเมืองมีทางเท้าที่ดี เราจะมีเงินเก็บ
🔗เมืองพาโสด: เมื่อคุณไม่ได้อยู่ในโหมดที่จะเจอคนที่ใช่
🔗Civic Classroom ตอนที่ 2 : ใช้GPS ปักหมุดสอนเรื่องความไม่เป็นธรรม.


3.คนจน

ใช้เลนส์แบบอื่นมามองบ้าง ที่นอกเหนือไปจากสิ่งแวดล้อม

      ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ร้อนจัดก็ว่าได้ อุณภูมิร้อนระอุสูงเกินกว่า 40 องศา หลายความเห็นต่างอธิบายในทำเดียวกันว่ามาจาก สภาวะโลกร้อนที่ไม่มีทีท่าจะทุเลาลงแต่อย่างใด เป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ในรายงานพิเศษของ BBC ไทย ได้พาให้เรามองเรื่องนี้ไปมากกว่าแค่การหาสาเหตุและผลกระทบ ด้วยการให้เราตั้งคำถามกับไปว่าภายใต้ วิกฤติเหล่านี้ใครกำลังได้ผลกระทบมากที่สุด ? BBC ไทย พบว่า กลุ่ม ‘คนจนเมือง’ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสภาพที่เป็นอยู่ ชีวิตของพวกเขาที่นอกจากจะทำงานท่ามกลางที่แจ้งเป็นหลักแล้ว ค่าแรงที่ได้รับมาก็น้อยนิด ทำให้พวกเขาเลือกใช้วิธีการอาบน้ำแทนการเปิดพัดลม เพื่อประหยัดค่าไฟในทุกเดือน แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยอารมณ์ลบและการพักผ่อนของพวกเขา ในอีกด้านมันก็สะท้อนเรื่องชนชั้นกับโลกร้อนได้เป็นอย่างดี จากรายงานพิเศษของ BBC ไทย อาจพูดได้ว่า เราไม่สามารถสอนเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้อย่างโดด แต่ต้องตั้งนำคอนเซป ‘ชนชั้น’ มาเป็นเลนส์ในการมองร่วมด้วย ที่คนกลุ่มต่างๆกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอย่างไรในความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมของสังคม ไม่เพียงแค่เรื่องชนชั้น ในการสอนสิ่งแวดล้อม เราอาจนึกถึงข่าวบิลลี่ ชาวกระเหรี่ยงที่หายตัวไป หลังจากออกมาเรื่องร้องสิทธิของคนที่จะอยู่กับป่า รวมถึงแนวคิด ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เช่น กรณีแม่น้ำโขง ที่ได้ถูกควบคุมจากอิทธิพลจีน ได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนและสิ่งมีชีวิตริมแม่น้ำอย่างหลีกไม่ได้ เหล่านี้ก็ล้วนเป็นอีกเลนส์ที่ทำให้เรามองสิ่งแวดล้อมในมุมที่กว้างออกไปที่ไม่แยกขาดจากชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ สิทธิ การเมือง(ระหว่างประเทศ)    

แนะนำบทความ+ สื่อที่สามารถใช้ประกอบการสอน
🔗ภาวะโลกเดือด: ทำไมคนจนได้รับผลกระทบในหน้าร้อนนี้มากที่สุด
🔗10 ปี ‘บิลลี่’… บทเรียนสิทธิ ‘คนอยู่กับป่า’ ที่ยังตามหา ?
🔗ภววิทยาแม่น้ำโขง: เขื่อน น้ำของ และผู้คน คลี่สายใยมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
🔗พาสำรวจวิกฤตลุ่มน้ำโขง น้ำลด เขื่อนเพิ่ม และชีวิตที่เปลี่ยนไป
🔗ป่าแอมะซอน และบิลลี่ กับการสอนสิ่งแวดล้อมที่อาจไม่ใช่แค่การปลูกป่า
วันสิ่งแวดล้อมโลกสิ่งแวดล้อมinsKruพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

2
ได้แรงบันดาลใจ
2
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป
เครดิตไอเดีย
Autthapon Prapasanobol
พล

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

ไอเดียน่าอ่านต่อ