ก่อนอื่น... ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️ เอาไปเลยห้าดาวววววว !
สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้มาแบบสบาย ๆ แหละ จะมารีวิวหนังที่เราได้มีโอกาสได้เข้าไปดู ซึ่งพึ่งเข้าโรงภาพยนตร์เลย บอกเลยว่าดีมาก ! เป็นผลงานเรื่อง "Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2" สำหรับเราคิดว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก ๆ กับทุกเพศทุกวัย แว๊บแรกอาจจะดูเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก ๆ แต่เนื้อหาไม่เด็กเลย พอได้ลองมองตัวละครแต่ละตัวสะท้อนกับตัวเองแล้ว ก็รู้สึก Relate กับตัวเองที่โตกว่าตัวละครในนั้นอยู่ตลอด ๆ เลยนะ (ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่ 👉 Inside Out 2 | Official Trailer)
จริง ๆ เราได้มีโอกาสดูตั้งแต่ภาคแรกแล้ว โดยรวมเรื่องนี้จะพูดถึงอารมณ์ของมนุษย์ ตัวละครหลักก็คือ "ไรลีย์" ซึ่งภาคนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นแล้ว หลายปัจจัยในเรื่องทำให้เราเห็นได้ว่า นี่แหละ ไรลีย์ วัยรุ่นของแท้ ! อารมณ์ต่าง ๆ จึงถูกเพิ่มเติมขึ้นมาจากภาคแรกเยอะมาก ๆ
🎞️Inside Out 1 : ประกอบไปด้วย 5 อารมณ์ ได้แก่
ภาพจาก : เว็บไซต์ Magazine MargetPlus
🎞️Inside Out 2 : เพิ่มมาอีก 4 อารมณ์ ได้แก่
ภาพจาก : เว็บไซต์ Magazine MargetPlus
จะเห็นได้ว่าพอไรลีย์โตขึ้นก็กลายเป็น 9 อารมณ์เลย (จากเดิมที่มีแค่ 5) นั่นหมายความว่า อารมณ์ ความคิด และการตัดสินใจทำอะไรบางอย่างสำหรับมนุษย์จะกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น เรารู้สึกประทับใจกับหนังเรื่องนี้มากที่ได้เอาอารมณ์ลึกซึ้งเข้ามาถ่ายทอดให้ดู เพราะทำให้เห็นว่าปัจจัยรอบข้างและสิ่งที่เจอเมื่อโตขึ้นส่งผลต่อความรู้สึกเหล่านั้นที่ละเอียดและซับซ้อนมากขึ้นด้วย หากคุณครูสนใจหรืออยากลองเรียนรู้เรื่องอารมณ์และความรู้สึกมากขึ้น insKru เคยทำวงล้ออารมณ์ไว้แล้วนะ คลิกที่นี่ได้เลย 👉🏻https://www.facebook.com/share/p/zgeF9bKY2KCdSN6u/
อ๋อ อีกอย่างที่เจ๋งและขนลุกมาก ๆ ก็คือ หนังเรื่องนี้นำเอาตัวตนและความเชื่อที่อยู่ลึกกว่าอารมณ์เหล่านี้มาถ่ายทอดด้วย มันทำให้เราเห็นว่า เบื้องลึกของมนุษย์เรามันมีอะไรที่ส่งผลมายังอารมณ์ความรู้สึกและถูกส่งต่อไปยังพฤติกรรมที่แสดงออก เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Model) ที่เราเคยเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นศาสตร์หนึ่งของการเรียนรู้และเข้าใจตนเองมากขึ้น ซึ่งหนังภาคนี้ทำให้เราเห็นมันอย่างเป็นรูปธรรมมาก ๆ ผ่านตัวละคร (ต้องลองไปดูหนังแล้วแหละ ^^) ลองดูตามภาพด้านล่างนี้ได้นะคะ
ภาพจาก : เว็บไซต์ชูใจ
สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากความหลากหลายของอารมณ์ที่มากขึ้นในหนังภาคนี้คือ เราเห็นการมีอยู่และการยอมรับของเหล่าอารมณ์ที่กวนใจเราได้มากขึ้นนะ อย่างเช่นบางทีที่เราอยากจะร้องไห้ แต่ฮึบไว้ไม่ยอมปลดปล่อยมันออกมา เพราะเรารู้สึกว่ามันดูอ่อนแอและไม่ดี ก็มีอยู่หลายครั้งที่ทำให้เราต้องเก็บไว้จนอึดอัดไปหมดแล้วไประเบิดเอาทีหลัง ปัจจุบันที่เป็นอยู่ก็เอาอารมณ์อื่นมาแทนที่จนดูหม่นหมองไปด้วยเลย นั่นแปลว่าที่ผ่านมาเราก็พยายามจะกีดกันเจ้าเศร้าซึม (Sadness) ในตัวเราอยู่บ่อยครั้งเหมือนกันนะ เราไม่ได้ยอมรับการมีอยู่ของมันเลยนี่ (แย่จัง T^T) แต่พอได้ดูหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นว่า จริง ๆ การยอมรับกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองในทุกห้วงอารมณ์ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตของตัวเราเอง บางครั้งในหลายอารมณ์ถูกซ่อนไปด้วยความลึกซึ้งกว่านั้นมาก ๆ และแน่นอนว่านั่นคือตัวเรา เรากำลังปกป้องตัวเราเอง การที่เราจะร้องไห้ ก็อาจจะเพื่อทำให้เราได้ระบายความเศร้าตรงนั้นเพื่อสู้ต่อไปก็ได้ เพราะฉะนั้นหลังจากดูเรื่องนี้เราเลยอยากให้ทุกความรู้สึกมีตัวตนอยู่ในตัวเราและอยากจะพยายาม Balance มันให้ดีต่อไปเลย
พอได้ดูหนังเรื่องนี้ก็นึกถึงคุณครู ผู้ซึ่งอยู่กับนักเรียนที่อาจจะยังไม่วัยรุ่น กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หรือแม้แต่เป็นวัยรุ่นเต็มตัวแล้วก็ตาม มันทำให้เราเห็นการจุดประกายไอเดียดี ๆ ในการนำไปปรับใช้กับนักเรียนในห้องได้เยอะเลยนะ อย่างตัวเราเองก็เคยทำบอร์ดเกมเป็นโปรเจกต์นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงตอนปี 2 กับเพื่อน ๆ เรื่องการส่งเสริมการรับรู้และแยกแยะความรู้สึกทางอารมณ์สำหรับนักเรียนผู้พิการทางการได้ยินอายุ 15 - 18 ปี ซึ่งเราได้ Inspiration มาจากหนังเรื่องนี้ในภาคแรกเลย เป็นบอร์ดเกมที่ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินรับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของตนเองมากขึ้นผ่านการ์ดสถานการณ์ต่าง ๆ ในเกม ทำให้เขาได้สนุกกับการเรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ จากวงล้อความรู้สึกและได้เพิ่มการสื่อสารกับคุณครูประจำชั้นและเพื่อน ๆ ด้วย เป็นเกมที่เปิดพื้นที่ของการพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวทางความรู้สึกระหว่างกัน เรานำบอร์ดเกมนี้ไปแข่งขันในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 และได้รับรางวัลเหรียญเงินด้วย 🥈❤️
อ้างอิงจาก : กรุงเทพธุรกิจ
(เราปรับให้เหลือแค่ 5 อารมณ์ตามกลุ่มเป้าหมาย)
นอกจากนี้เราคิดว่าการเรียนรู้เรื่องอารมณ์และความรู้สึกอาจไม่ได้ต้องเอาไปใช้ในการจัดการชั้นเรียนอย่างเดียว แต่สามารถสอดแทรกเข้าไปในรายวิชาอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้อารมณ์ของเด็ก ๆ ได้ด้วย เช่น วิชาภาษาอังกฤษ การเรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ ทางอารมณ์และบอกเล่าออกมาเป็น 1 บทสนทนา, การเขียนเล่าเรื่อง 1 เรื่องเป็นความรู้สึกในวงล้อเพื่อหาความรู้สึกที่ลึกที่สุดของอารมณ์นั้น, การ Check-in ก่อนเริ่มเรียน, หรือการนำไปทำการ์ดเกมหรือบอร์ดเกมให้เข้ากับการเรียนรู้ได้อีกเช่นกัน
คุณครูได้อ่านบทความนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ มาเล่าให้ฟังหรือแชร์ไอเดียในห้องเรียนจากการเอาเรื่อง Inside Out ไปปรับใช้กันในช่อง Comment เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับคุณครูท่านอื่น ๆ ได้น้า 🥰
ขอขอบคุณ :
https://www.marketplus.in.th/content/detail.php?id=24098
https://www.choojaiproject.org/2017/02/satir-model-iceberg/
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!