inskru
gift-close

เทคนิคการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับครูพี่เลี้ยงและศน.

1
1
ภาพประกอบไอเดีย เทคนิคการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับครูพี่เลี้ยงและศน.

เทคนิคการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์

         เนื่องจากครูวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งมาบรรจุใหม่ หรือนิสิตและนักศึกษาฝึกสอน อาจประสบปัญหาและอุปสรรคในการสอนวิทยาศาสตร์ เช่น ผู้นิเทศพบว่าครูสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้การบรรยายเป็นหลักซึ่งไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ผู้นิเทศไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นพูดคุยกับครูวิทยาศาสตร์อย่างไรเพื่อให้เขาไม่คิดว่า "เรามาเพื่อจับผิดการสอน" ผู้นิเทศไม่แน่ใจว่าจะจับประเด็นและสังเกตอะไรบ้างในการสอนของครูวิทยาศาสตร์ ผู้นิเทศไม่รู้ว่าจะสื่อสารและแนะนำครูวิทยาศาสตร์อย่างไรให้ครูวิทยาศาสตร์เปิดใจรับฟังคำแนะนำ และผู้นิเทศอาจกังวลว่าหลังจาการนิเทศการสอนไปแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป สื่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ผู้นิเทศไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครูพี่เลี้ยง ศึกษานิเทศน์ หรืออาจารย์นิเทศ ต่างประสบพบเจอจากประสบการณ์ตรงกับปัญหาดังกล่าวทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมองหาเทคนิคการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์ช่วยเหลือผู้นิเทศในการเตรียมตัวนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์ โดยมีขั้นตอนของการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์ และในแต่ละขั้นตอนจะมีเทคนิคและวิธีการต่างๆ แทรกอยู่ ทั้งนี้ศิรวิทย์ และคณะ [1] ได้นำเสนอขั้นตอนของรูปแบบการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การประชุมปรึกษาก่อนการสังเกตการสอน 2) การสังเกตการสอน 3) การวิเคราะห์และวางแผนกำหนดกลวิธีการประชุมหลังการสังเกตการสอน 4) การประชุมปรึกษาหลังการสังเกตการสอน และ 5) การวิเคราะห์พฤติกรรมการนิเทศและการวางแผนการนิเทศต่อเนื่อง ดังรูปที่ 1 กระบวนการของรูปแบบการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์

รูปที่ 1 ขั้นตอนของรูปแบบการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์

         จากรูปที่ 1 ขั้นตอนของรูปแบบการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์ มีรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนดังต่อไปนี้

         1. ขั้นตอนที่ 1 การประชุมปรึกษาก่อนการสังเกตการสอน เป็นขั้นตอนที่ครูร่วมกับผู้นิเทศสร้างข้อตกลงร่วมกันถึงเป้าหมายในการสังเกตการสอนอาจมาจากปัญหาที่ครูสนใจให้ผู้นิเทศมาสังเกตการสอน หรือพฤติกรรมการสอน เช่น ด้านการวางแผนการสอน ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการใช้สื่อการสอน ด้านการวัดและประเมินผล เป็นต้น

         ทั้งนี้ ครูควรให้ข้อมูลพื้นฐานแก่ผู้นิเทศ เช่น จุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหาสาระ กระบวนการจัดการเรียนการสอน และสื่อการสอนและแหล่งเรียนรู้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้นิเทศควรมีการแจ้งกำหนดการหรือวันที่จะทำการนิเทศเพื่อให้ครูได้เตรียมตัวไม่กังวลจนเกิดความเครียด และควรมีการให้กำลังใจการเสริมแรงแก่ครูก่อนการสังเกตการสอน

         2. ขั้นตอนที่ 2 การสังเกตการสอน เป็นขั้นตอนที่ผู้นิเทศเข้าชั้นเรียนเพื่อทำการสังเกตการสอน ในการสังเกตการสอนวิทยาศาสตร์นั้น สิ่งที่ผู้นิเทศสังเกตเห็นภายนอกที่อาจดูเหมือนนักเรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ แต่อาจไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นที่เฉพาะเจาะจงกับบทเรียนวิทยาศาสตร์บางบทเรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้นิเทศจึงต้องการความช่วยเหลือในการรับรู้ถึงความแตกต่างของเนื้อหาสาระ และทำความเข้าใจว่าความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลต่อกระบวนการนิเทศอย่างไร

         ผู้นิเทศควรเน้นไปที่เป้าหมายในการสังเกตการสอนที่ผู้นิเทศและครูตกลงร่วมกัน และเลือกใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างการสังเกตการสอนที่เหมาะสม โดยมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างการสังเกตการสอน ดังนี้

  • การจัดประเภทพฤติกรรม มีการกำหนดแบบแผนของพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน โดยให้ความสำคัญกับครูมากกว่านักเรียน
  • การตรวจสอบรายการ ผู้นิเทศใช้รูปแบบการสังเกตการสอนที่เป็นมาตรฐาน เพื่อระบุกิจกรรมและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอยู่ หรือขาดหายไป หรือจำเป็นต้องปรับปรุง
  • การทำแผนผังชั้นเรียน ผู้นิเทศติดตามและบันทึกพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหวบางประการของครูและนักเรียนในช่วงเวลาสั้น ๆ
  • การทำแบบบันทึก ผู้นิเทศบันทึกคำพูด คำถาม หรือปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน
  • การบรรยายแบบเปิด ผู้นิเทศบันทึกแบบบันทึกการสังเกตการสอน อาจจะมีหรือไม่มีการให้ความสำคัญไปที่จุดใดจุดหนึ่ง
  • การใช้เครื่องมือที่ครูออกแบบ ครูเป็นผู้พัฒนาเครื่องมือเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการสอนหรือการเรียนรู้
  • การใช้เทปบันทึกเสียง ครูหรือผู้นิเทศสามารถบันทึกกิจกรรมในชั้นเรียนและฟังย้อนหลังได้
  • การใช้วิดีโอเทป อาจจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ครูสามารถทบทวนบทเรียนเพียงลำพัง หรือกับผู้นิเทศหรือเพื่อนร่วมงานได้

         3. ขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์และวางแผนก่อนการประชุมหลังการสังเกตการสอน เป็นขั้นตอนที่ผู้นิเทศทบทวน และเรียบเรียงเหตุการณ์ที่ได้จากการสังเกตการสอน จากนั้นผู้นิเทศวิเคราะห์ข้อมูลที่บันทึกการสังเกตการสอน เพื่อให้สื่อสารกับครูได้เข้าใจมากขึ้น

         4. ขั้นตอนที่ 4 การประชุมปรึกษาหลังการสังเกตการสอน เป็นขั้นตอนที่ครูและผู้นิเทศควรมาทบทวนข้อตกลงร่วมกันถึงเป้าหมายในการนิเทศ จากนั้นผู้นิเทศให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ครูในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายในการนิเทศ นอกจากนี้ข้อเสนอแนะที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับการประชุมปรึกษาหลังการสังเกตการสอนที่มีประสิทธิผล ดังนี้

  • การตั้งข้อสันนิษฐานและคาดการณ์เกี่ยวกับครูโดยปราศจากผลการสังเกตการสอน
  • การให้สิ่งที่มากเกินกว่าครูจะแบกรับไหวด้วยการให้รายละเอียดแล้วรายะละเอียดเล่า
  • การประเมินความน่าเชื่อถือโดยรวมของครูในฐานะครูคนหนึ่ง
  • การคาดเดาด้วยอคติของตนเองเกี่ยวกับครู
  • การตัดสินและตีตราการปฏิบัติงานว่าดี หรือไม่ดี

         5. ขั้นตอนที่ 5 การวิเคราะห์พฤติกรรมการนิเทศและการวางแผนการนิเทศต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนที่ครูร่วมกับผู้นิเทศร่วมกันทบทวนกระบวนการและพฤติกรรมการนิเทศตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 4 ตลอดวงรอบที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญสำหรับการทบทวนพฤติกรรมการนิเทศ อาทิ อะไรคือจุดเด่นและจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาในการดำเนินการนิเทศ ควรเสนอแนะให้เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง การติชมมีคุณค่าทั้งทางด้านสัญลักษณ์และทางปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่าผู้นิเทศมีส่วนในความพยายามพัฒนาเช่นเดียวกับครูผู้รับการนิเทศ

หมายเหตุ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับรายละเอียดของเทคนิคการนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์ สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ลิงค์ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/JLIT/article/view/269364/184138


แหล่งที่มา

[1] ศิรวิทย์ ปฐมชัยวาลย์ มาเรียม นิลพันธุ์ และศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย. (2567). การนิเทศการสอนวิทยาศาสตร์. วารสารนวัตกรรมการเรียนรู้และเทคโนโลยี, 4(1), 27-41. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/JLIT/article/view/269364/184138

วิทยาศาสตร์ประถมมัธยมต้นมัธยมปลายนิเทศการสอนศึกษานิเทศเติมความรู้Supervisionการพัฒนาวิชาชีพครูการนิเทศ

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

1
ได้แรงบันดาลใจ
1
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
Constructivist Teacher
Research Interests: Earth System Science Education, Pedagogical Content Knowledge (PCK), Professional Learning Communities (PLC), Curriculum Development, Instructional Supervision

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ