ครูพล-อรรถพล ประภาสโนบล เขียน
ไม่กี่ปีมานี้ การเกิดขึ้นของ ChatGPT ได้สร้างความฮือฮาแก่ผู้คนทั้งโลก เพราะเจ้าบอท AI ตัวนี้ เราสามารถใช้ให้มันวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่เราพิมพ์คำถามลงไป นอกจากนั้นมันยังมีสารพัดฟังก์ชันของการใช้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การแปลภาษา การเกลาภาษา ให้ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการสรุปใจความสำคัญของบทความหนังสือก็ยังสามารถทำได้ เรียกได้ว่า จัดเต็มแบบตามสั่งได้เลย นี่ก็อาจทำให้ครูหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า เราควรสอนอย่างไร เมื่อ AI คิดแทนมนุษย์ได้ ? ในข้อเขียนนี้ก็เลยอยากพาไปสำรวจมุมมองของ UNESCO ที่พูดถึงเรื่องนี้ ว่าพวกเขามีข้อเสนอต่อการศึกษาอย่างไร*
1
ในปี 2022 ยูเนสโกได้ออกรายงาน K-12 AI curricula A mapping of government-endorsed AI curricula ได้สำรวจกลุ่มประเทศสมาชิก(ที่มีการตอบรับการสำรวจ) พบว่า รัฐบาลหลายประเทศเริ่มรับรองและผลักดันให้หลักสูตร AI เข้าไปสู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาทิ ในประเทศเกาหลีใต้ก็มีการผลักดันคณิตศาสตร์ AI ให้อยู่เนื้อหาการเรียนการสอนคณิตในระดับ ม.ปลาย กระทรวงศึกษาจีนก็นำหลักสูตร AI เข้าไปอยู่ในกลุ่มหลักสูตรวิทยาการสารสนเทศและเทคโนโลยีในทุกระดับชั้น ฝั่งยุโรปอย่างออสเตรียก็มีการจัดทำหลักสูตร Data Science and Artificial Intelligence สำหรับนักเรียน ม.ปลาย ขณะที่กระทรวงศึกษาเยอรมันนีส่งเสริมให้นักเรียนเรียนในทุก ๆ ระดับชั้นเรียนรู้ทำความเข้าใจอัลกอลึทึมของ AI
จากการสำรวจ ยูเนสโก ยังระบุอีกว่า หลักสูตร AI จากกลุ่มประเทศที่สำรวจ มักจะถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิชาที่เกี่ยวกับข้องกับเทคโนโลยีเป็นหลัก น้อยมากที่จะเห็นการนำไปใช้ข้ามศาสตร์ในหลากหลายวิชา ข้อสังเกตอีกประการ ช่วงชั้นระดับ ม.ต้น - ปลาย เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่หลายประเทศให้ความสำคัญ ทั้งนี้อาจมองว่าเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมกับการเรียนรู้
2
ในเอกสารอีกชุด ยูเนสโก ได้เสนอคู่มือสำหรับ Generative AI ในการศึกษาและวิจัย หรือ “Guidance for generative AI in education and research” จัดขึ้นทำมาในปี 2023 ที่ผ่านมานี้ ซึ่งเนื้อหาหลักเป็นการพูดถึงสถานการณ์ของ Gen AI ที่เป็นอยู่ทั้งบวกและข้อควรระวัง รวมถึงแนวทางของครูและนักการศึกษาในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หากให้สรุปนิยามสั้น ๆ ที่ยูเนสโกให้ไว้เกี่ยวกับ generative AI นั่นคือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถสร้างเนื้อหาโดยอัตโนมัติตามคำสั่งที่เขียนเอาไว้ ด้วยการการดึงข้อมูลจากเนื้อหาที่มีอยู่
ยูเนสโกยังมองอีกว่า Gen AI สร้างเนื้อหาขึ้นมาใหม่ก็จริง แต่มันไม่ได้สร้างแนวคิดหรือวิธีปัญหาใหม่ ๆ ได้ เพราะตัวมันเองไม่สามารถเข้าใจโลกของความเป็นจริงได้ มันถูกฝึกจากการทำซ้ำของรูปแบบภาษาที่ดึงมาจากที่ต่าง ๆ ตัวมันเองจึงไม่ได้สังเกตหรือสร้างวิธีการเข้าใจโลกความเป็นจริงแต่อย่างใด มากไปกว่านั้นไม่สามารถเชื่อถือได้อย่างแม่นยำอีกด้วย พวกเขาอ้างถึงผู้ให้บริการ ChatGPT ในปี 2023 ที่ระบุเองว่า “ไม่ว่าเครื่องมืออย่าง ChatGPT มักจะสามารถสร้างคำตอบที่ฟังดูสมเหตุสมผล แต่ก็ไม่สามารถเชื่อถือได้ว่าถูกต้อง” ด้วยเหตุนี้ ยูเนสโก ย้ำว่า สิ่งที่ ChatGPT แม้มันจะตอบหรือวิเคราะห์สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจ แต่ตัวมันเองไม่ได้เข้าใจข้อความที่มันสร้างขึ้น และบางครั้งก็ไม่ถูกต้องด้วย
หากใครได้ลองใช้งาน ChatGPT จะพบว่า บางครั้งมันก็สร้างข้อมูลที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา หรือข้อมูลที่ผสมปนเป จริงบ้างไม่จริงบ้าง เราอาจลองทดสอบง่าย ๆ ได้กับประวัติคนที่มีชื่อเสียงที่เรารู้จัก ข้อมูลโรงเรียนที่เราจบมาก็ได้ ก็จะเห็นว่า ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นไม่ได้ถูกต้องไปทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ ที่ผลงานของผู้สร้างถูกนำไปใช้ประโยชน์ โดยปราศจากการยินยอม ดังที่เราจะเห็นในช่วงที่ผ่านมา 1 - 2 ปี ในสังคมเริ่มมีการถกเถียงเรื่องนี้ เกี่ยวกับการ Gen ภาพโดย AI ซึ่งมีฐานมาจากคัดลอกผลงานศิลปะนักวาดต่าง ๆ รวมถึงการใช้ AI เข้ามาหลอกหลวงในทางที่ผิดกฎหมายและอาชญากรรม เช่น deepfakes การบิดเบือนข้อมูล เป็นต้น
3
ด้วยความกังวลเช่นนี้ ยูเนสโก เลยเสนอว่า การศึกษาควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาความคิดขั้นสูงให้กับผู้คน รู้จักสังเกตโลกความเป็นจริง มีการใช้กระบวนการหาคำตอบที่เป็นเหตุผล ไม่ใช่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ รู้จักที่ไตร่ตรองเสียก่อน สนับสนุนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของเนื้อหาและมุมมองที่นำเสนอออกมาอีกด้วยจาก AI รวมถึงต้องมีการเรียนรู้ประเด็นจริยธรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นหรือสังคมโดยรวม เหล่านี้ถือเป็น AI competencies ที่จำเป็นต่อโลกยุคปัจจุบัน
อีกทั้งมองว่า จำเป็นมาก ๆ ที่เราต้องปกป้อง Human agency คือง่าย ๆ ต้องทำให้มนุษย์ได้ใช้และพัฒนาความคิด ไม่ใช่พึงพา AI มากไปจนอาจเสียโอกาสในการพัฒนาความสามารถความคิดที่ตัวเองเคยมี รวมถึงต้องตระหนักว่าเสียงหรือความคิดของชนขอบที่อาจไม่ปรากฏในข้อมูลของ AI นั่นก็เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถนำเสนอทางดิจิทัลได้ อย่างที่บอกไปว่าข้อความที่ถูกสร้างขึ้น Gen AI อาศัยข้อมูลจากเว็บไซต์ออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้นข้อมูล หรือเรื่องราว/ความคิด จึงมาจากคนที่สามารถเข้าถึงดิจิทัลได้
ดังนั้นครูจึงมีบทบาทสำคัญที่ต้องสร้างบรรยากาศของการที่นักเรียนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เปิดกว้างต่อพหุความคิด เรียนรู้รับฟังเรื่องราว/ความคิดคนอื่น มากกกว่าจะอิงอยู่ความคิดที่ AI นำเสนอเพียงอย่างเดียว
4
ในส่วนนี้ อยากทิ้งท้ายเป็นแนวทางคร่าว ๆ ต่อจากยูเนสโก สำหรับคุณครูที่สนใจประเด็นนี้ ก่อนอื่นเลยเราต้องไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของครูคอมพิวเตอร์หรือครูสอนเทคโนโลยีเท่านั้น ทุกวิชาล้วนสามารถสอนให้นักเรียนมีทักษะหรือตระหนักเรื่องนี้ได้ทั้งนั้น เพราะนักเรียนเขาอยู่ในโลกที่ข้อมูลเข้าถึงได้ง่าย เพียงแค่คลิก ค้นหา และถาม AI จริง ๆ รวมถึง Google ก็ได้คำตอบแล้ว ไม่ว่าจะวิชาอะไรก็ตาม
สิ่งที่ตามมาที่สำคัญคือ ต้องส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ ถกเถียง พูดคุย ให้มาก ๆ นึกง่าย ๆ ในหลายวิชา ๆ ที่นักเรียนอาจใช้ chatGPT ตอบคำถามที่ครูให้ไว้ แทนที่ครูจะไม่ยินดีนักที่นักเรียนไม่ได้คิดเอง แต่ครูอาจนำคำตอบที่นักเรียนได้มา มาสร้างการถกเถียงในห้องอีกที เช่น คิดเห็นอย่างไรจากคำตอบของ ChatGPT เห็นด้วยหรือไม่ หรือ ChatGPT มีการใช้หลักฐานข้อมูลอะไรไหมในการสนับสนุนคำตอบ รวมถึงข้อเท็จจริงมันถูกต้องจริงไหม เราจะพิสูจน์อย่างไร เป็นต้น อีกทั้งประเด็นข่าวเกี่ยวกับจริยธรรมในการใช้ AI ก็อาจเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นหัวข้อใหม่ในการเรียนได้อีกด้วย
สุดท้ายหากใครมีแนวทางที่การสอนที่ตัวเองกำลังทำอยู่ มาแบ่งปันกันได้เลย ..
อ้างอิง
UNESCO (2023). Guidance for Generative AI in Education and Research. In F. Miao & W. Holmes (Authors). https://doi.org/10.54675/EWZM9535
UNESCO (2022). K-12 AI curricula: A mapping of government-endorsed AI curricula.
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!