นักเรียนชั้นป.5-6 ของศูนย์การเรียนประถมภูมิธรรม กำลังเรียนวิชาบูรณาการ ใน Theme ที่มีชื่อว่า "ผู้ให้ ผู้รับ ผู้สร้าง" นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมสังคม ผ่านปัญหาเรื่องโลกเดือด
สื่อการสอนรูปแบบหนึ่งที่ครูนำมาใช้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องโลกเดือด และเห็นถึงรูปแบบของนวัตกรรมเพื่อสังคมไปพร้อมกัน ก็คือสื่อที่เป็น บอร์ดเกมการเรียนรู้ ซึ่งเทอมนี้นักเรียนได้มีโอกาสเล่นการ์ดเกม Waste War ซึ่งเป็นเกมของ คุณก้อง หรือที่รู้จักกันในนาม Konggreengreen ครีเอเตอร์ไทยสายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสื่อนวัตกรรมเพื่อสังคมรูปแบบหนึ่งที่คุณก้อง พัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะด้วยวิธีการที่สนุกสนาน
การ์ดเกม Waste War เป็นเกมที่เกี่ยวกับการแยกขยะ เป้าหมายคือ เราจะต้องแยกขยะลงถังอย่างถูกต้องให้ได้มากที่สุด หากสามารถแยกขยะได้ตามประเภทอย่างถูกต้อง จะได้รับคะแนน หากไม่แยก จะต้องทิ้งลงถังขยะทั่วไป ซึ่งจะถูกลบคะแนน เพราะขยะในถังขยะทั่วไปมีปลายทางอยู่ที่บ่อขยะ ใครได้คะแนนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ
สิ่งที่เกมนี้น่าสนใจคือ ขยะบางชนิดสามารถทิ้งลงถังรีไซเคิลได้หลายประเภท เช่นฝาขวดน้ำพลาสติก สามาถทิ้งรวมกับขวด PET พลาสติกเบอร์ 1 ได้ แต่หากแยกทิ้งเป็นฝากพลาสติกโดยเฉพาะเลย ซึ่งจะจัดเป็น HDPE พลาสติกเบอร์ 2 จะได้คะแนนมากกว่า ซึ่งตรงกับการคัดแยกขยะขายรีไซเคิลจริงๆ กล่าวคือหากเราขายขวด PET พร้อมฝา เราจะได้ราคาเดียว แต่ถ้าเราแยกฝาออกมาด้วย เราจะขายขยะเพิ่มได้อีก 1 ชนิดซึ่งจะได้ราคาดีกว่า เพราะผู้รับซื้อไม่ต้องเสียเวลาไปคัดแยกอีกทีหนึ่ง หากใช้เครื่องจักรในการช่วยแยกประเภทขยะ ก็จะต้องเสียพลังงานไฟฟ้า เพิ่มอีกด้วย ดังนั้นแยกเถอะ รักษ์โลกได้มากกว่า
นักเรียนแบ่งกลุ่ม กล่มละ 3 คน ถือเป็น 1 ผู้เล่น ต้องเรียนรู้กติกาเกม และเทคนิคระหว่างเล่น นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเล่นเกมสูงมาก พยายามที่จะทำความเข้าใจ และปรึกษาหารือกับทีมของตนเองตลอดการเล่น เมื่อนักเรียนเล่นเสร็จ ครูชวนสะท้อนคิดด้วยคำถามที่ว่า
1) เล่นเกมนี้แล้ว รู้สึกอย่างไร
2) เกมนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีแค่ไหน
3) เกมนี้ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง
4) คิดว่ากลุ่มเป้าหมายของเกมนี้ คือใคร
5) เกมนี้จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ไหม
6) มีองค์ประกอบใดของเกมที่นักเรียนคิดว่าสามารถปรับปรุงได้
7) นักเรียนจะนำเกมนี้ไปขยายผล หรือต่อยอดอย่างไร
นักเรียนสามารถสะท้อนได้ว่า ความรู้ที่ได้จากการเล่น ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าต้องแยกขยะอย่างไร การเล่นเกมสนุกมาก แต่การแยกขยะในชีวิตจริงก็เป็นอีกเรื่อง การเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะ จึงต้องทำในมิติอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งไม่ง่ายเลย
นอกจากนี้ยังได้ชวนนักเรียนพิจารณาถึงรูปลักษณ์ของเกม วัสดุที่ใช้ทำกล่อง (ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกจากการรีไซเคิล) เปรียบเทียบกับราคาที่จำหน่าย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนว่า หากเป็นนักเรียน นักเรียนจะปรับปรุงในส่วนใดบ้าง ซึ่งสามารถต่อยอดเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้
เนื่องจากเกมนี้เป็นการ์ดเกม การวาง Layout ของการ์ด ยังเป็นสิ่งที่ใช้สอนนักเรียนได้อีกด้วย การ์ดที่มีขนาดกว้างยาวเท่านี้ จะสามารถพิมพ์ลงในขนาดเท่าใดจึงจะเหมาะสม และคุ้มค่าในการพิมพ์ นักเรียนสามารถเรียนรู้การทำไฟล์ดิจิตอล อย่าง .ai (Adobe Illustrator) หรือจะใช้โปรแกรมเอกสารพื้นฐานวางเลย์เอ้าท์ไปลองปริ้นท์ง่ายๆ ดูก็ยังได้ จะต่อยอดเรื่องการออกแบบไอคอนขยะแบบต่างๆ ก็ยังได้
ขอบคุณสื่อดีๆ การ์ดเกม Waste War จาก Konggreengreen ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ ครูท่านใดอยากหาซื้อไว้ ติดต่อไปได้ที่ https://www.facebook.com/greenjaishop ได้เลยครับ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!